กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดย กองกำกับการ 7 กองบังคับการตำรวจทางหลวง ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. ได้สั่งการให้ พล.ต.ต.คงกฤช เลิชสิทธิกุล ผบก.ทล.,พ.ต.อ.บุญลือ ผดุงถิ่น รอง ผบก.ป. ปรท.รอง ผบก.ทล.เจ้าหน้าที่ชุดจับกุม นำโดย พ.ต.อ.ชนกฤติ พงษ์ศิริ ผกก.7 บก.ทล.,พ.ต.ท.ธรรมศักดิ์ พลเดช รอง ผกก.7 บก.ทล.,พ.ต.ท.ฐิติวัสส์ แซมเขียว รอง ผกก.7 บก.ทล.,พ.ต.ท.จตุพร ติกแก้ว สว.ส.ทล.1 กก.7 บก.ทล.,พ.ต.ท.วิชัย โมฆรัตน์ สว.ส.ทล.2 กก.7 บก.ทล.,พ.ต.ท.กรภพ กิจภูริพัฒน์ สว.ส.ทล.3 กก.7 บก.ทล.,พ.ต.ท.ปิยบุตร มีแป้น สว.ส.ทล.4 กก.7 บก.ทล.,พ.ต.ท.มนัสวี กะดะแซ สว.ส.ทล.5 กก.7 บก.ทล.ด้วย กองกำกับการ 7 กองบังคับการตำรวจทางหลวง มีพื้นที่รับผิดชอบทั้งหมด 11 จังหวัดทางภาคใต้ตอนล่างของไทย
ตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราช กระบี่ พังงา ภูเก็ต ตรัง พัทลุง สงขลา สตูล ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ซึ่งในห้วงที่ผ่านมาในหลาย สถานีตำรวจทางหลวงทั้ง 5 สถานี ในพื้นที่ 11 จังหวัดทางภาคใต้ของกองกำกับการ 7 กองบังคับการตำรวจทางหลวง ได้รับการแจ้งจากผู้เสียหายหลายรายเกี่ยวกับรถยนต์ของตนเองได้รับใบสั่งความผิดจราจรโดยที่มีรถยนต์คันอื่นที่มีลักษณะรถคล้ายกัน ใช้ป้ายทะเบียนเหมือนกับตัวผู้เสียหายเอง (รถแฝด) ทำให้ผู้เสียหายหลายรายได้รับความเดือดร้อนและเกรงว่ารถยนต์ที่สวมป้ายทะเบียนของตนจะไปใช้ก่อเหตุอื่นใด อาจทำให้ตนเดือดร้อน และตลอดห้วงระยะเวลาที่ผ่านมา สถานีตำรวจทางหลวงทั้ง 5 สถานีในพื้นที่ของกองกำกับการ 7 กองบังคับการตำรวจทางหลวง ได้มีการจับกุมเกี่ยวกับการขนย้ายแรงงานต่างด้าวและพกพาอาวุธปืนหลายราย ซึ่งส่วนใหญ่ในคดีที่จับกุมได้ตรวจพบว่ามีการใช้ยานพาหนะที่มีการติดแผ่นป้ายทะเบียนปลอมเพื่อหลบเลี่ยงการตรวจพบการกระทำความผิด และบางส่วนมีการหลบเลี่ยงใช้ป้ายทะเบียนปลอมมาติดกับรถที่กรมการขนส่งทางบกระงับการใช้รถแล้ว เนื่องจากขาดต่อภาษีเกินเวลา 3 ปี แล้วไม่ยอมนำแผ่นป้ายทะเบียนคืนต่อนายทะเบียน แต่ยังนำรถที่ติดแผ่นป้ายดังกล่าวที่ยังไม่ได้คืนนายทะเบียนมาวิ่งบนท้องถนน เพื่อหลบเลี่ยงการตรวจสอบจากการที่จะกระทำความผิดอีกเช่นกัน
ดังนั้น กองกำกับการ 7 กองบังคับการตำรวจทางหลวง โดยสถานีตำรวจทางหลวงทั้ง 5 สถานี จึงได้เปิดปฏิบัติการกวาดล้างยานพาหนะรถยนต์ที่ใช้ป้ายทะเบียนปลอมทั้งหมดในพื้นที่รับผิดชอบ 11 จังหวัดทางภาคใต้ตอนล่าง ในห้วงตั้งแต่เดือน ตุลาคม 2567 จนถึงปัจจุบัน โดยใช้ฐานข้อมูลจาก ระบบ Big Data ของกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง มาวิเคราะห์เพื่อหาดำเนินการจับกุมเกี่ยวกับกลุ่มยานพาหนะที่ใช้ป้ายทะเบียนปลอมและป้ายทะเบียนที่ผิดกฎหมายทุกประเภททั้งหมดบนท้องถนนในพื้นที่ 11 จังหวัดทางภาคใต้ที่รับผิดชอบ อันเป็นต้นเหตุของอาชญากรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการลักลอบขนแรงงานต่างด้าว พกพาอาวุธในรถ และอาชญากรรมต่างๆ และได้ขยายผลนำหมายศาลทำการตรวจค้นบ้านที่มีการลักลอบใช้รถติดแผ่นป้ายทะเบียนปลอมหรือป้ายทะเบียนผิดกฎหมายด้วย
ได้ผลการปฏิบัติพร้อมด้วยของกลาง ดังนี้
1.บุคคลต่างด้าว 116 ราย
2.อาวุธปืน 10 กระบอก
2.1 ปืนยาว 2 กระบอก
2.2 ปืนสั้น 8 กระบอก
3.กระสุนปืน 76 นัด
4.ลักลอบนำเข้าน้ำมัน 3,880 ลิตร
5.บุหรี่หนีภาษี 803 ซอง
6.ความผิดเกี่ยวกับการปลอมแผ่นป้ายทะเบียน 11 คัน
7.ความผิดอื่นเกี่ยวกับรถ (ใช้รถไม่เสียภาษีประจำปี,ใช้รถที่ระงับการใช้รถแล้ว,ปิดบังแผ่นป้ายทะเบียน) 10 คัน
โดยที่ผ่านมาพบรูปแบบการปลอมแผ่นป้ายทะเบียน 2 รูปแบบ คือ
1.ปลอมแปลงเป็นลักษณะแผ่นโลหะคล้ายทะเบียนที่กรมการขนส่งออกให้
2. ปลอมแปลงโดยพิมพ์เป็นแผ่นสติกเกอร์ คล้ายป้ายทะเบียน
ข้อกฎหมาย
การสวมทะเบียนรถปลอมมีความผิดดังนี้
1.ความผิดฐานปลอมเอกสาร ใช้เอกสารปลอม
ตามมาตรา 265 ผู้ใดปลอมเอกสารสิทธิ หรือเอกสารราชการ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 5 ปี และปรับตั้งแต่ 1,000 – 10,000 บาท
2.ความผิดตาม พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ. 2522 หากเป็นป้ายที่ทางราชการออกให้จริง มีความผิด มาตรา 67 ฐานเอาป้ายทะเบียนรถคันอื่นมาติด และอาจจะมีฐานความผิดอื่นตามพฤติการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยสำหรับผู้เช่าซื้อหรือเจ้าของรถ หากขายให้แก่บุคคลอื่น นำรถไปจำนำ หรือนำรถออกให้เช่าต่อ โดยเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่แท้จริงหรือบริษัทไฟแนนซ์ไม่ได้ยินยอม โดยตนเองขาดการผ่อนชำระกับกับบริษัทที่ออกไฟแนนซ์ให้ กรณีแบบนี้อาจจะตกเป็นผู้ต้องหาคดียักยอกทรัพย์
3.การนำรถมาใช้โดยไม่จดทะเบียนตามระยะเวลาที่กำหนด ถือว่ามีความผิดตามตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 6 (1) มีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท
เตือนภัยแนวทางแก้ปัญหาเมื่อรถตัวเองถูกนำทะเบียนไปใช้ซ้ำเป็นรถแฝด
โดยหลักการรถที่จดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกในระบบทะเบียนจะมีรถที่ถูกต้องเพียงคันเดียวเท่านั้นต่อหนึ่งป้ายทะเบียน จึงขอให้เจ้าของรถคันที่ถูกสวมของตนเอง เข้ายืนยันความถูกต้องที่มาของรถตนเองว่าจดทะเบียนมาถูกต้อง พร้อมสมุดคู่มือรถ โดยการเข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนเพื่อลงประจำวันไว้เป็นหลักฐานว่ารถของตนเองมีการถูกใช้ซ้ำซ้อน และระหว่างรอให้ทางพนักงานสอบสวนตรวจสอบตามกฎหมายต่อไป ถ้ารถของตนได้รับใบสั่งจากรถที่สวมหมายเลขทะเบียนของตนเอง เบื้องต้นสามารถนำบันทึกประจำวันที่ได้รับมาจากการแจ้งความกับพนักงานสอบสวนไว้แล้ว มาแจ้งกับสถานีตำรวจที่ออกใบสั่งให้ แจ้งว่ารถตนเองถูกสวม พร้อมทั้งนำข้อมูลสมุดคู่มือรถว่ารถตนเองจดทะเบียนถูกต้อง การครอบครองรถมายืนยันว่าตนเองเป็นเจ้าของที่แท้จริงจดทะเบียนไปยืนยันได้ระหว่างรอพนักงานสอบสวนรับแจ้ง