“…แอลกอฮอล์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ “เบียร์” คิดเป็น 43.39% “ภาคเหนือ” มีนักดื่มมากที่สุด คิดเป็น 33.1% เผยค่าใช้จ่ายในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พบมูลค่าสูญเสียทางเศรษฐกิจคิดเป็น 171,313 ล้านบาท ความเสียหายทางอ้อม เช่น ขาดงาน หรือเสียชีวิตก่อนวัยอันควร..”
สสส. – ศวส.- ม.อ. พบ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สร้างความเสียหายในชีวิต – ประเทศชาติ เพิ่มภาระครัวเรือน 170 ล้านบาท/ปี กระทบค่าใช้จ่ายทางการแพทย์มหาศาล เผยผลสำรวจ 10 ปีที่ผ่านมา รณรงค์ลด ละ เลิกเหล้า พบ “นักดื่มลดลง”
เมื่อวันที่ 26 เมษายน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดเสวนาวิชาการออนไลน์หัวข้อปัญหาจากการดื่มสุราและมาตรการของประเทศไทยที่มีการบังคับใช้ พร้อมเผยสถานการณ์การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสังคมไทย พ.ศ. 2564 มีเป้าหมายถอดบทเรียนและผลักดันให้เกิดสังคมปลอดภัยไร้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 100% เพื่อสุขภาวะที่ดี
นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สิน เพราะผู้ดื่มขาดสติยั้งคิดทำให้เกิดเหตุแห่งความสูญเสียและสร้างปัญหามากมายในชีวิต ได้แก่
- ด้านสุขภาพ โดยภาวะโรคที่เป็นสาเหตุจากการเจ็บป่วยสูงสุดทั้งเพศชายและหญิง ได้แก่ โรคตับจากแอลกอฮอล์ (Alcoholic liver disease), โรคตับ (Unspecified liver disease), โรคหัวใจขาดเลือด (lschemic heart disease), ภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษเฉียบพลัน (Alcohol acute intoxication)
- ด้านสังคมและวัฒนธรรม เช่น เกิดความรุนแรงในครอบครัว, ทะเลาะวิวาท, อุบัติเหตุทางถนน และ
- ด้านเศรษฐกิจและพัฒนาประเทศ เช่น สูญเสียค่ารักษาพยาบาลทางการแพทย์มหาศาล, หน้าที่การงานมีปัญหา, ทรัพย์สินเสียหายจากอุบัติเหตุ, ประเทศขาดโอกาสเติบโตทางเศรษฐกิจ สะท้อนให้เห็นปัญหาด้านลบต่อประเทศชัดเจน
นพ.ไพโรจน์ กล่าวต่อว่า ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) เผยการสำรวจพฤติกรรมสุขภาพของประชาชน พ.ศ.2564 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไป พบเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ “เบียร์” คิดเป็น 43.39% ส่วนอัตราการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พบ “ภาคเหนือ” มีนักดื่มมากที่สุด คิดเป็น 33.1% ขณะที่ประเภทของนักดื่มแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.นักดื่มหนักในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา มีจำนวน 15.96 ล้านคน 2.นักดื่มประจำ มีจำนวน 6.99 ล้านคน และ 3.นักดื่มเป็นครั้งคราว 8.97 ล้านคน
และเมื่อนำมา เปรียบเทียบกับ 10 ปีที่ผ่านมา พบคนไทยมีแนวโน้มดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลงเหลือ 28% ขณะที่กองบัญชีประชาชาติ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เผยค่าใช้จ่ายในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พบมูลค่าสูญเสียทางเศรษฐกิจคิดเป็น 171,313 ล้านบาท เป็นความเสียหายทางอ้อม เช่น ขาดงาน หรือเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ทำให้ สสส. และภาคีเครือข่าย ยืนยันเดินหน้าส่งเสริมให้ประชาชนลด ละ เลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และอบายมุขทุกชนิด เพื่อสุขภาวะที่ดีของตัวเองและประเทศชาติต่อไป
ดร.นพ.พลเทพ วิจิตรคุณากร รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา กล่าวว่า เมื่อจำแนกสถานการณ์รายจังหวัด พบว่า การใช้คะแนนความเสี่ยงซึ่งครอบคลุมหลายปัจจัยจึงมีประโยชน์ เนื่องจากการดื่มสุราเป็นปัญหาที่ซับซ้อน โดยประเทศไทยมีการใช้ดัชนีที่มีชื่อว่า “ดัชนีคะแนนความเสี่ยงต่อปัญหาแอลกอฮอล์ของจังหวัด (Provincial Alcohol Problem Index; PAPI)” เป็นตัวชี้วัดที่ประกอบไปด้วยตัวชี้วัด 5 ข้อที่สำคัญ ได้แก่ (1) ความชุกของผู้บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมาในประชากรผู้ใหญ่ (นักดื่มปัจจุบัน) (2) สัดส่วนของผู้บริโภคประจำต่อผู้บริโภคทั้งหมดในนักดื่มปัจจุบัน (3) สัดส่วนของผู้บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมาก/บริโภคหนักในนักดื่มปัจจุบัน (4) สัดส่วนของการดื่มแล้วขับขี่ยานพาหนะในนักดื่มปัจจุบัน และ (5) ความชุกของผู้บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมาในประชากรวัยรุ่น โดยจังหวัดที่มีค่าเฉลี่ยดัชนีความเสี่ยงต่อปัญหาแอลกอฮอล์ในระดับสูง (0.60 คะแนนขึ้นไป) ส่วนใหญ่อยู่ในภาคเหนือและบางส่วนกระจายตัวอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออก โดย 5 อันดับสูงสุด ได้แก่ น่าน (0.723 คะแนน) เชียงราย (0.722 คะแนน) แพร่ (0.704 คะแนน) มุกดาหาร (0.696 คะแนน) และพะเยา (0.688 คะแนน) โดยส่วนใหญ่ขึ้นมาจากลำดับในปี พ.ศ. 2560 ยกเว้นเชียงรายที่ได้ลำดับ 2 เช่นเดิม ส่วนกลุ่มจังหวัดที่มีดัชนีคะแนนความเสี่ยงฯ ต่ำ (น้อยกว่า 0.4 คะแนน) ส่วนใหญ่อยู่ในภาคใต้ โดย 5 ลำดับต่ำสุดเป็นกลุ่มเดิมกับเมื่อปี พ.ศ. 2560 ได้แก่ ยะลา (0.123 คะแนน) ปัตตานี (0.148 คะแนน) นราธิวาส (0.172 คะแนน) พังงา (0.277 คะแนน) และสิงห์บุรี (0.284 คะแนน) สำหรับจังหวัดอื่น ๆ สามารถดูค่าสถิติได้จาก Dashboard ต่อไปนี้ shorturl.at/syN46
ดร.จิราลักษณ์ นนทารักษ์ อาจารย์คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ความชุกของนักดื่มปัจจุบันมีแนวโน้มคงที่ สาเหตุหนึ่ง คือ ประชากรไทย “ส่วนใหญ่ไม่ใช่นักดื่ม” และจำนวนคนดื่มมีแนวโน้ม “หยุดดื่มเพิ่มขึ้น” ส่งผลให้ความชุกของนักดื่มปัจจุบันไม่เพิ่มทั้งที่แนวโน้มของนักดื่มหน้าใหม่เพิ่มขึ้น เนื่องจากสถานการณ์การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เปลี่ยนแปลงไปตามโครงสร้างลักษณะทางประชากรและสังคมร่วมกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิค-19 (COVID-19) ส่งผลต่อพฤติกรรมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสังคมไทย นอกจากนี้ แนวโน้มนักดื่มหน้าใหม่ในผู้หญิงเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่าเมื่อเทียบจากปี พ.ศ.2560 และสัดส่วนนักดื่มวัยรุ่น/เยาวชนแนวโน้มหน้าใหม่เพิ่มขึ้น ซึ่งสวนทางกับต่างประเทศที่แนวโน้มลดลง ข้อมูลนี้อาจจะสะท้อนให้เห็นถึง อิทธิพลของโฆษณาหรือการตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่พยายามทำให้เกิดนักดื่มหน้าใหม่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะนักดื่มเยาวชนและนักดื่มหญิง เมื่อพิจารณาปริมาณการบริโภคเอทานอลบริสุทธิ์ต่อหัวประชากรต่อปี (ลิตร) เพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยปริมาณการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ลดลงต่ำสุดเท่ากับ 5.95 ลิตร/คน/ปี ใน พ.ศ. 2561 แล้วเพิ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2562–2563 เป็น 7.67 ลิตร/คน/ปี โดยเครื่องดื่มที่นิยมสูงสุด คือ เบียร์ คิดเป็นร้อยละ 53.2 ในผู้ชาย และ ร้อยละ 69.9 ในผู้หญิง สำหรับค่าใช้จ่ายในการดื่มแอลกอฮอล์ พบว่ามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยเพิ่มขึ้นจาก 775 บาท/คน/เดือน ในปี พ.ศ. 2554 เป็น 1,677 บาท/คน/เดือน ในปี พ.ศ. 2564 ทั้งนี้ค่าใช้จ่ายในการดื่มของผู้มีรายได้น้อย (≤ 2,500 บาท/เดือน) เทียบกับสัดส่วนต่อรายได้ต่อเดือน “มากกว่า” ของผู้มีรายได้สูง (> 13,500 บาท/เดือน) ดังนั้น การมีค่าใช้จ่ายจากการดื่มยิ่งมากอาจทำให้ครอบครัวจนลงเพิ่มขึ้น
ดร.นพ.มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ อาจารย์คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า ภายหลังการหดตัวของการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ในช่วงปี พ.ศ. 2563-2564 ที่ผ่านมา ทำให้ปริมาณการบริโภคและรายได้ของอุตสาหกรรมแอลกอฮอล์ลดลงในช่วงเวลาดังกล่าว สำหรับปี พ.ศ. 2565-2567 คาดว่ารายได้ของผู้ผลิตทั้งเบียร์และสุราจะค่อยๆ ฟื้นตัวตามทิศทางตลาดในประเทศที่กระเตื้องขึ้นและปัญหาการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่มีแนวโน้มคลี่คลาย ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคม การพบปะสังสรรค์สามารถดำเนินได้บ้าง ส่งผลให้ตลาดในประเทศมีแนวโน้มกลับมาและกระตุ้นตลาดเพื่อดึงดูดผู้บริโภค เช่น การออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และความหลากหลายของขนาดบรรจุภัณฑ์เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงสินค้า โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์ขนาดเล็กเพื่อตอบสนองกลุ่มลูกค้าเป้าหมายซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้บริโภคฐานรากที่มีกำลังซื้อไม่มากนัก โดยการรักษากลุ่มนักดื่มเดิมของอุตสาหกรรมแอลกอฮอล์ จากการใช้กลยุทธ์การตลาดแบบ Sport Sponsorship การสนับสนุนงานบุญวัฒนธรรมประเพณี และการตลาดแบบ Surrogate marketing ซึ่งใช้ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ แต่ให้ปรากฎสัญลักษณ์ของแอลกอฮอล์ อย่างเช่น โซดา หรือ น้ำดื่ม เป็นกลยุทธ์ที่ยังคงมีการใช้ในวงกว้างของอุตสาหกรรม นอกจากนี้กลยุทธ์การตลาดใหม่ที่เกิดขึ้นหลังยุคเฟื่องฟูของ social media ที่เปลี่ยนจากการโพสต์รูป (Facebook, Instagram, Twitter) มาเป็นเนื้อหาในรูปวิดีโอขนาดสั้น (TikTok, IG Stories, FB Stories, REEL FB) ทำให้รูปแบบการผลิตการตลาดแฝงเปลี่ยนไปในรูปของการแนะนำการดื่ม/โฆษณาแฝง รวมไปถึงการมุ่งเน้นไปยังกลุ่มเป้าหมายใหม่ เช่น การจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มมอลต์ปราศจากแอลกอฮอล์ แต่ใช้บรรจุภัณฑ์ที่คล้ายคลึงกับเบียร์ เจาะไปยังตลาดนักดื่มรักสุขภาพ และนักดื่มหน้าใหม่ที่ยังไม่กล้าดื่มแอลกอฮอล์เป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก หรือผลิตภัณฑ์ที่เคยทำการตลาดในกลุ่มนักดื่มชายหลายผลิตภัณฑ์เริ่มสนใจตลาดนักดื่มหญิงมากขึ้น เป็นต้น
“ความท้าทายของการป้องกันการตลาดออนไลน์ยังคงเป็นประเด็นสำคัญในการรับมือกับการตลาดของอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งเปลี่ยนจากยุคที่มีสื่อจำกัดเพียงไม่กี่สื่อ มาเป็นยุคที่มี Micro Influencer มากมาย ทำให้การบังคับใช้กฎหมายและควบคุมพฤติการณ์ที่มีแนวโน้มส่งเสริมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นเรื่องยาก” ดร.นพ.มูฮัมมัดฟาห์มี กล่าว