วันเสาร์, เมษายน 19, 2025
หน้าแรกท้องถิ่นกสม. หารือหน่วยงานด้านการบริหารจัดการน้ำและภัยพิบัติ ถอดบทเรียนการแก้ไขปัญหา

Related Posts

กสม. หารือหน่วยงานด้านการบริหารจัดการน้ำและภัยพิบัติ ถอดบทเรียนการแก้ไขปัญหา

2.กสม. หารือหน่วยงานด้านการบริหารจัดการน้ำและภัยพิบัติ ถอดบทเรียนการแก้ไขปัญหา เตรียมลงพื้นที่รับฟังความเห็นประชาชนและหน่วยงานในพื้นที่ 5 จังหวัด จัดทำข้อเสนอแนะเชิงระบบ

นายจุมพล ขุนอ่อน ที่ปรึกษาสำนักงาน กสม. เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 19 – 20 กุมภาพันธ์ 2568 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้ทรงคุณวุฒิของสำนักงาน กสม. และคณะทำงานขับเคลื่อนประเด็นสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2568 ประเด็นสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดี ได้เข้าพบและประชุมร่วมกับผู้แทนหน่วยงานที่มีภารกิจหน้าที่เกี่ยวข้องกับการจัดการทรัพยากรน้ำและภัยพิบัติ ประกอบด้วย กรมชลประทาน สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) กรมพัฒนาที่ดิน สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กรมอุตุนิยมวิทยา คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อหารือเรื่องการบริหารจัดการน้ำและภัยพิบัติท่ามกลางวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

การหารือร่วมกับหน่วยงานหลายภาคส่วนนี้ สืบเนื่องจาก กสม. ได้ติดตามสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือภาวะโลกเดือดในปัจจุบันมาอย่างต่อเนื่อง โดยปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และดินถล่มในปีที่ผ่านที่ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนในหลายภูมิภาคถือเป็นผลกระทบจากวิกฤติสิ่งแวดล้อมดังกล่าว ซึ่ง กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนมาเป็นระยะเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่อาจยังไม่ครอบคลุม ทั่วถึง หรือเป็นธรรม และระบบการเตือนภัยยังขาดการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานอย่างเป็นเอกภาพ ดังนั้น กสม. จึงเห็นความจำเป็นของการเข้าหารือกับหน่วยงานต่าง ๆ โดยได้รับฟังปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงาน สรุปว่า แม้ปัจจุบันหน่วยงานของรัฐจะมีฐานข้อมูลจากฐานข้อมูลคลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ เทคโนโลยีภาพถ่ายจากดาวเทียม รวมถึงเทคโนโลยีที่สนับสนุนข้อมูลที่คาดการณ์การเกิดภัยพิบัติล่วงหน้าได้แต่ยังมีข้อจำกัดและความทับซ้อนในการดำเนินงานของแต่ละหน่วยงานเพื่อแจ้งเตือนภัยต่อประชาชน ประชาชนจึงเข้าถึงข้อมูลจากหลากหลายแหล่งซึ่งทำให้เกิดความสับสน ทั้งยังมีปรากฏการณ์ข่าวลวง (Fake News) ในโลกออนไลน์ที่เข้ามาเป็นอุปสรรค ขณะที่การบริหารทรัพยากรน้ำเมื่อเกิดภัยพิบัติยังมีข้อจำกัดและช่องว่างของกฎหมายในการบังคับบัญชาสั่งการแต่ละพื้นที่ อีกทั้งการแก้ไขปัญหาภัยพิบัติในบางกรณียังส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชุมชนจากการกักเก็บหรือระบายน้ำไปยังพื้นที่รับน้ำในที่ทำกินของชาวบ้าน เช่น กรณีโครงการบางระกำโมเดล นอกจากนี้ ยังมีปัญหาอื่น ๆ เช่น การจัดทำผังเมืองที่ไม่สอดคล้องกับผังของแหล่งน้ำสาขารายย่อยในพื้นที่ชุมชนด้วย

หลังจากรับฟังข้อมูลจากหน่วยงานของรัฐส่วนกลางในครั้งนี้แล้ว ระหว่างเดือนมีนาคม – กรกฎาคม 2568 กสม. มีแผนงานลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติน้ำ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในภูมิภาครวมทั้งสิ้น 5 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย นราธิวาส พิษณุโลก อุบลราชธานี และนครศรีธรรมราช เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล มุมมอง และวิธีการจัดการปัญหาภัยพิบัติด้านน้ำในพื้นที่ ซึ่งจะนำไปสู่การจัดทำข้อเสนอแนะในการบริหารจัดการน้ำและภัยพิบัติ ท่ามกลางวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศบนฐานสิทธิมนุษยชนอย่างครอบคลุมและเป็นระบบโดยกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน และจะนำเสนอต่อรัฐบาลต่อไปในเวทีสมัชชาสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2568 ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นในเดือนธันวาคมปีนี้

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts