การปราบปรามขบวนการแก๊งคอลเซ็นเตอร์ แก๊งสแกมเมอร์ ที่คุกคามความปลอดภัยชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ถ้าไม่ได้มือปราบตงฉินอย่าง “หลิว จงอี” ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงความมั่นคงสาธารณะแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เข้ามาช่วยกวาดล้าง คงยากจะสำเร็จ
การปราบปรามอาชญากรรมเหล่านี้ เป็นเครื่องพิสูจน์ถึงการดำเนินการตามหลักปรัชญา ยึดถือประชาชนเป็นศูนย์กลางของจีน และการคุ้มครองผลประโยชน์ลุ่มน้ำโขง ที่เกี่ยวพันกับ 6 ประเทศคือ ไทย เมียนมา กัมพูชา ลาว เวียดนาม และจีน ให้อยู่ร่วมกันฉันท์พี่น้อง ช่วยเหลือเกื้อกูล ยึดโยงความผาสุกของประชนร่วมภูมิภาค
นโยบายดังกล่าว แตกต่างจากภูมิภาคอื่น ซึ่งไม่ได้ใช้ความร่วมมือแบบนี้ เช่นกรณีสหรัฐประกาศขึ้นภาษีกับเม็กซิโก 25% หากเม็กซิโกไม่หยุด “อาชญากรและยาเสพติด” เข้าสู่อเมริกา จนประธานาธิบดี คลอเดีย เชนบอม ของเม็กซิโก ต้องออกมาตอบโต้ว่า “การขู่คุกคามหรือการขึ้นภาษีศุลกากร ไม่สามารถแก้ไขปัญหาการอพยพเข้าเมืองผิดกฎหมาย หรือการใช้ยาเสพติดในสหรัฐได้ จำเป็นต้องมีความร่วมมือและความเข้าใจร่วมกัน เพื่อรับมือกับความท้าทายที่สำคัญเหล่านี้”
ย้อนกลับไปในปี 2540 ช่วงที่ไทยเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง จีนก็เป็นประเทศแรกที่อาสาช่วยเหลือแบบฉับพลันทันที ประกาศไม่ลดค่าเงินหยวน เนื่องจากจะเป็นซ้ำเติมสถานการณ์วิกฤตค่าเงินบาทให้ย่ำแย่ลงไปอีก รวมทั้งยังสนับสนุนให้บริษัทไทยเชื้อสายจีน ช่วยลงทุนต่อ แม้จะได้รับผลกระทบหนักจากวิกฤตเศรษฐกิจ แม้ด้านหนึ่งคือผลประโยชน์ของจีน หากในอีกด้าน ก็เป็นการแสดงน้ำใจของมิตรยามยาก ที่ไม่ใช้วิธีการตั้งเงื่อนไขบีบรัดซ้ำเติมผ่าน IMF แล้วส่งนักลงทุนเข้ามากว้านซื้อสินทรัพย์ การเงินการธนาคารที่ล้มละลายของไทย ในราคาถูก
เมื่อไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาด จีนยังเป็นประเทศแรกที่ส่งวัคซีน 2 แสนโดสมาให้ไทย เป็นวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชนิดแรกที่ประเทศไทยนำเข้าผ่านช่องทางพาณิชย์ และนำไปใช้อย่างทั่วถึง เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงการปฏิบัติตามคำมั่นสัญญา ของประธานาธิบดี สีจิ้นผิง ที่จะให้วัคซีนโควิด-19 เป็นสินค้าสาธารณะทั่วโลก สร้างประชาคมสาธารณสุขของมวลมนุษยชาติ และประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันของภูมิภาค
ขอบคุณภาพประกอบจากซินหัว