วันเสาร์, เมษายน 5, 2025
หน้าแรกต่างประเทศจีนภาษี “ทรัมป์” ก้าวใหม่ที่ยิ่งใหญ่ หรือ จุดเริ่มต้นการถดถอย

Related Posts

ภาษี “ทรัมป์” ก้าวใหม่ที่ยิ่งใหญ่ หรือ จุดเริ่มต้นการถดถอย

การประกาศขึ้นภาษี 10 เปอร์เซ็นต์กับทุกประเทศทั่วโลก ที่ส่งสินค้าเข้าไปขายในอเมริกา  และขึ้นภาษีตอบโต้ตั้งแต่ 25 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป กับประเทศนับร้อย กำลังกลายเป็นคำถามว่า นั่นคือการก้าวไปสู่ความยิ่งใหญ่ยุคใหม่ หรือ เป็นจุดเริ่มต้นความถดถอยของอเมริกา

ในงานแถลงข่าวที่ โรส การ์เดน ของทำเนียบขาว ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวว่า “นี่คือวันปลดแอก” 

ทรัมป์ ย้ำว่า ในช่วงที่ผ่านมา สหรัฐ ถูกปล้น ถูกช่วงชิง และ ถูกขโมย โดยประเทศต่างๆ ทั้งใกล้และไกล ทั้งมิตรและศัตรู วันนี้จะเป็นวันที่ได้รับการจดจำตลอดไป ในฐานะวันที่อุตสาหกรรมอเมริกันได้เกิดใหม่อีกครั้ง วันที่โชคชะตาของอเมริกาถูกนำกลับคืนมา นี่คือการเริ่มต้น “ยุคทอง” ของอเมริกา เพื่อก้าวไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง

มองในมุมหนึ่ง การกระทำของทรัมป์ อาจไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะที่ผ่านมา อเมริกาสวมบทบาท “เจ้าบุญทุ่ม” นำเข้าสินค้าจากประเทศต่างๆ ด้วยภาษีที่น้อยกว่าสหรัฐส่งเข้าไปขายในประเทศนั้นๆ และถ้าประเทศไหนมีจีดีพีต่ำ หรืออยู่ในช่วงกำลังพัฒนา ก็มีโควตาสินค้านำเข้าสหรัฐ โดยไม่ต้องเสียภาษี เพื่อแสดงให้โลกเห็นว่า อเมริการ่ำรวย แข็งแกร่ง และเป็นที่พึ่งพาของประเทศทั่วโลก

เมื่อ “อเมริกา” เปลี่ยนนโยบาย หันมาเก็บภาษีแบบ “จัดหนัก” ทั่วโลกจึงตั้งคำถามว่า อเมริกาต้องการความเป็นธรรม หรือกำลังเผชิญกับความถดถอยทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่

ต้องยอมรับว่า ค่าเงินดอลลาร์เริ่มเสื่อมความนิยม จากขั้วโลกใหม่ ที่หันไปค้าขายด้วยเงินสกุลท้องถิ่น หรือเงินดิจิทัล แม้ทรัมป์จะประกาศด้วยความมั่นอกมั่นใจว่า ไม่มีเงินสกุลไหนขึ้นมาแทนเงินดอลลาร์ได้ แต่อีกด้านกลับข่มขู่ว่า จะเพิ่มอัตราภาษีหนักขึ้นไปอีก หากประเทศไหนหันไปใช้เงินสกุลอื่นแทนดอลลาร์ นั่นคือสัญญาณความ “หวั่นไหว” หรือเปล่า

ที่สำคัญคือนโยบายปรับขึ้นภาษีแบบ “สุดโหด” อาจผลักมิตรให้กลายเป็นศัตรู และเปิดช่องให้ “จีน” เข้ามามีบทบาทแทนที่อเมริกา..หรือเปล่า

เพราะปัจจุบัน จีนมีมาตรการนำเข้าภาษีแบบปลอดภาษีร้อยเปอร์เซ็นต์ สำหรับประเทศยากจน ซึ่งสวนทางกับโยบายขึ้นภาษีของสหรัฐแบบ “คนละขั้ว”

ขณะที่สัมพันธ์จาก “ยุโรป” เริ่มร้าวหนัก หลังจากรัฐบาลทรัมป์แสดงท่าทีเมินเฉย ไม่แยแสยุโรป  ส่งผลให้อารมณ์ความรู้สึกของชาวยุโรป หันมาคว่ำบาตรสินค้าอเมริกัน เพื่อแสดงออกถึงความไม่พอใจ

สำนักข่าวซินหัว รายงานว่า มีการประท้วงหน้าร้านตัวแทนจำหน่ายของเทสลา ในมิลานและลอนดอน เช่นเดียวกับชาวเยอรมนี ทยอยขายต่อรถยนต์เทสลา ด้วยเหตุผลทางการเมือง ที่ “อีลอน มัสก์” ซีอีโอเทสลา สนับสนุนพรรคการเมืองฝ่ายขวาจัดในยุโรป ประกอบกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ออกมาสนับสนุนการผนวกกรีนแลนด์ และคิด “ภาษีศุลกากรตอบโต้” กับยุโรป ทำให้สายสัมพันธ์สหรัฐฯ-ยุโรปยิ่งตึงเครียดกว่าเดิม

โรเบิร์ต แฟรงค์ นักวิเคราะห์การเมืองชาวโครเอเชีย มองว่านโยบาย “อเมริกาต้องมาก่อน” (America First) และ “การกระทำเพียงฝ่ายเดียว” (Unilateralism) ในกิจการต่างประเทศ จะนำสู่ความบาดหมางรุนแรงกับยุโรป

แฟรงค์เสริมว่า ยิ่งกว่านั้นทรัมป์ยังขู่จะถอนสหรัฐ ออกจากองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ หรือ นาโต ส่งผลให้ยุโรปมองว่าสหรัฐ ไม่ได้มีความมุ่งมั่นจะรับประกันความมั่นคงของยุโรปอย่างจริงจัง เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว

มาตรการขึ้นภาษีของ “ทรัมป์” ครั้งนี้ คือ “ก้าวใหม่ที่ยิ่งใหญ่” หรือ “จุดเริ่มต้นการถดถอย” ไม่นานคงรู้กัน!

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts