“…สุดงง! 2 บริษัทสื่อสารต้นเรื่องเงียบกริ๊บ! แต่ “ลูกตู้-นอมินี” ประสานเสียงเห็นด้วยทั้งที่สวนทิศทางโทรคมนาคมโลก ถามกลับ กสทช.เปิดเวทีให้ซักฟอกหรือฟอกขาวกันแน่…”
จบไปแล้วสำหรับ “การประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในวงจำกัด” (Focus Group) ต่อกรณีการควบรวมธุรกิจระหว่าง บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด และบมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัดหรือดีแทค ครั้งที่ 1 กลุ่มภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ณ หอประชุมสายลม อาคารหอประชุม ชั้น 2 สำนักงาน กสทช. โดยมี กสทช. ฝ่ายบริหาร ผู้บริหารผู้เกี่ยวข้องทั้ง 3 บริษัท และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าร่วมราว 100 คน
บรรยากาศในห้องโฟกัส กรุ๊ป เป็นอย่างไร สื่อต่าง ๆ ที่เกาะติดพากันรายงานกันไปหมดแล้ว โดยเฉพาะเมื่อที่ประชุมให้ตัวแทนผู้บริหารที่เกี่ยวข้องหลักได้ชี้แจงบริบทของประเด็นที่กำลังเกิดขึ้น แต่กลับปรากฏว่า 2 ผู้บริหารสื่อสารทั้งจากทรู และดีแทค กลับเงียบเป็นเป่าสาก ทั้งที่ตนเองเป็นผู้ร้องขอให้มีการควบรวมกิจการ และเป็นผู้ที่ต้อง Defend ต่อเวทีนี้มากที่สุดหลังจากมีกระแสต้านกันทั่วเมือง
แต่เอาเข้าจริงกลับมีเพียงตัวแทนบมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) หรือ AIS และ NT เท่านั้นที่เสนอความเห็นต่อโฟกัส กรุ๊ป โดยระบุว่า – แม้จะมีความเห็นจากนักวิเคราะห์ในตลาดทุนว่า การควบรวมครั้งนี้ จะเป็นการลดการแข่งขันทำให้ผู้ประกอบการรายที่เหลืออยู่ในตลาดได้รับประโยชน์ แต่เนื่องจาก AIS ในฐานะเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องบริหารงานอย่างมีธรรมาภิบาล จึงไม่อาจเพิกเฉย เนื่องจากการควบรวมครั้งนี้จะส่งผลต่อการแข่งขันและอาจก่อให้เกิดการผูกขาด ลดทางเลือกของผู้ใช้บริการ ซึ่ง AIS ไม่อยากให้ตัวเองถูกบันทึกหรือจดจำในหน้าประวัติศาสตร์ของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของประเทศ ว่าเป็นผู้มีส่วนร่วมที่ทำให้เกิดการผูกขาด เป็นจุดด่างพร้อยในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของประเทศไทย
เอไอเอสยกประเด็นคลื่นความถี่ Spectrum cap
นอกจากนี้ การประมูลคลื่นความถี่ในแต่ละครั้ง กสทช. ได้มีการกำหนด Spectrum cap ว่าผู้รับใบอนุญาตแต่ละรายสามารถเข้าประมูลคลื่นความถี่ได้ไม่เกินกี่ชุดที่ และผู้เข้าประมูลแต่ละรายต้องไม่มีความเกี่ยงโยงกัน เช่น บริษัทแม่ลูกกันหรืออยู่ในเครือเดียวกัน เพื่อมิให้คลื่นความถี่ถูกถือครองโดยคนกลุ่มเดียวกัน (หรือถูกกินรวบ)
แต่เมื่อทั้ง 2 ราย ควบรวมกันก็จะเป็นการถือครองคลื่นความถี่ที่เกินกว่าหลักเกณฑ์กำหนดไว้ของรายอื่นได้ โดยไม่ต้องเข้าประมูลด้วยตนเอง ซึ่งหาก กสทช. ยินยอมให้ทั้ง 2 รายควบรวมกัน กสทช. ก็ควรมีการเยียวยาความเสียหายให้แก่ AIS ด้วยเพราะเมื่อทั้ง 2 รายต่างคนต่างประมูลแล้วมารวมกันทีหลัง ทำให้เกิดการรวมคลื่นอยู่ในมือของคนกลุ่มคนเดียวกัน กฎ กติกาของการประมูลที่ตั้งไว้ จึงไม่มีผลใช้บังคับได้จริง และทำให้ AIS เสียโอกาสจากการแสวงหาคลื่นความถี่ ซึ่งมุ่งมั่นดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใสและสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการจัดสรรคลื่นความถี่ ทั้งยังเห็นความสำคัญที่ต้องรีบการจัดหาคลื่นความถี่มาให้บริการให้ได้มากที่สุด เพื่อพัฒนานวัตกรรมดิจิทัลของประเทศ ภายใต้กฎและกติกาที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ในเวลานี้
การแสดงความเห็นของ AIS ในครั้งนี้ไม่ใช่การคัดค้านการควบรวม แต่เนื่องจากการควบรวมครั้งนี้ จะก่อให้เกิดผลกระทบไม่ใช่แค่ AIS แต่จะกระทบทั้งอุตสาหกรรมโทรคมนาคม บริษัทจึงต้องการความชัดเจนของกระบวนการทำงานของ กสทช.ในการพิจารณาการควบรวมอย่างโปร่งใส เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและข้อกฎหมายที่กำกับดูแล
โทรคมฯ ไทยจ่อผูกขาด Duopoly อย่างถาวร
ผู้บริหาร AIS ยังมีความเห็นว่า กสทช. ในฐานะผู้กำกับดูแล ควรส่งเสริมให้มีการแข่งขันกันในตลาด ไม่ควรดำเนินการใดๆ ที่จะเป็นการลดการแข่งขัน ซึ่งที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ การลดจำนวนผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดจาก 3 รายเหลืออยู่เพียง 2 ราย ก่อให้เกิดสภาวะตลาดผูกขาดแบบ Duopoly ที่มีรายใหญ่ที่มีอำนาจเหนือตลาดเหลืออยู่เพียงสองรายอย่างถาวร แม้ กสทช. จะออกมาตรการเฉพาะใดๆ มาก็ตาม แต่ไม่สามารถเยียวยาหรือแก้ไขกลับคืนให้สภาวะตลาดกลับมามีสภาพการแข่งขันเหมือนดังเช่นปัจจุบันได้
สุดเหลือเชื่อ “นอมินี”โผล่แจมหน้าสลอน?
ในส่วนของผู้บริหาร TRUE-DTAC แม้ว่าจะเดินทางมายังสำนักงานกสทช.แต่เป็นที่น่าแปลกใจที่กลับไม่มีการแสดงความเห็นใดๆ แม้จะอยู่ในบทบาทของผู้มีส่วนได้-เสียโดยตรง มีเพียงกลุ่มผู้อยู่ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องที่แสดงความเห็นในลักษณะที่กล่าวได้ว่า แทบจะ “อ่านโพยในไลน์กลุ่ม” และบางคนอ่านโน้ตที่มีการเขียนสคริปมาให้
โดยสรุปใจความผู้แสดงความเห็นกว่า 10 คนต่างระบุไปในทิศทางเดียวกันว่า การควบรวมที่เกิดขึ้นย่อมส่งผลดีอย่างมากต่ออุตสาหกรรม เพราะทำให้สัญญาณดีขึ้น เนื่องจากบางพื้นที่สัญญาณดีแทคไม่ได้ใช้ได้สัญญาณของทรูมูฟ ดังนั้นจึงดีมากกว่าที่รวมบริษัท อีกทั้งยัง ช่วยให้ผู้ประกอบการประหยัดในการสต๊อกของไม่ต้องเลือกซื้อของค่ายไหนมาขาย
ประหลาดไหม! ผู้ที่มาแสดงความเห็นสนับสนุนการควบรวมนั้น บางรายแทบไม่รู้ชะตากรรมอุตสาหกรรมตัวเองว่าสจะได้รับผลกระทบจากการควบรวมกิจการสื่อสารในครั้งนี้อย่างไร แต่กลับสามารถแสดงความเห็นสนับสนุนการควบรวมได้ “ล้ำหน้า” ผู้ที่มีส่วนได้-ส่วนเสียจากการควบรวมโดยตรงรายนี้เสียอีก!
น่าแปลก! ที่สำนักงาน กสทช.จัดงานรับฟังความเห็นแต่กลับมีคนที่เป็นผู้แทนของค่ายมือถืออย่าง “โจ่งแจ้ง” เข้ามาให้ความเห็น ไร้ซึ่งการให้ความเห็นที่เป็นบวกต่ออุตสาหกรรมอย่างแท้จริง แถมยังมีการสรุปผลการเปิดรับฟังความคิดเห็นที่ดูจะสอดรับกับเกมควบรวมกิจการที่กำลังจะมีขึ้น อย่างที่ภาษากฎหมายใช้คำว่า “เจือสม”อีกด้วย!
สิ่งที่น่าจับตามองต่อไปคือโฟกัส กรุ๊ปอีก 2 ครั้งที่เหลือ คือในภาคเศรษฐศาสตร์ และคุ้มครองผู้บริโภคจะได้ฟังความเห็นจากภาคอุตสาหกรรมที่แท้จริงหรือไม่ หรือจะเป็นเพียงแค่การ “จัดตั้ง” คณะป่าหี่ในลักษณะนี้เกณฑ์เข้ามาร่วมแสดงความเห็นกันอีก เพราะถ้าหากเป็นอย่างนั้น บอร์ดกสทช.ชุดใหม่ที่สังคมพากันตั้งความหวังกันเอาไว้ก่อนหน้า และตัวบอร์ดเองก็ยืนยัน ก่อนเข้ามารับตำแหน่งเต็มตัวก่อนหน้าว่า พร้อมรับฟังความเห็นของทุกฝ่ายก็ไม่ต่างจากมวยล้มต้มคนดูเหมือนอย่างที่หลายคนคาดการณ์ไว้
เอวัง!! อนุกรรมการศึกษาควบรวม โผล่หนุนเต็มพิกัด
ขณะที่ดร.เจษฎา ศิวรักษ์ หัวหน้างานฝ่ายรัฐกิจและธุรกิจสัมพันธ์ บริษัท อีริคสัน (ประเทศไทย) รู้กันในวงการว่า เป็นคู่ค้ากับทรูและดีแทค ซึ่งปัจจุบันเป็น อนุกรรมการศึกษาพิจารณาดีลควบรวมที่กสทช. เพิ่งแต่งตั้งไปเมื่อไม่กี่วันก่อน ก็ออกหน้ามาสนับสนุนควบรวม ซึ่งวิสัยของอนุกรรมการที่ควรจะเป็นกลางในการเก็บข้อมูลเพื่อไปศึกษาร่วมกันกับอนุกรรมการ หาใช่ออกมา สนับสนุนควบรวมเต็มพิกัด
โดย ดร.เจษฎา ชี้ประเด็น เอไอเอสมีกำไรมาก ทิ้งห่างเบอร์ 2 และ 3 ทำให้เอไอเอสมีกำไรมาขยายเครือข่ายมากกว่าอีก 2 ราย ทำให้อีก 2 ราย ไม่มีงบลงุทนขยายเครือข่าย สู้ไม่ได้ จนต้องควบรวมกันเพื่อแข่งขัน ผู้ที่ได้ฟังก็ต่างไม่เห็นด้วย และงุนงงกับความเห็นของอนุกรรมการท่านนี้ ว่าไฉน โลกนี้มันกลับตาลปัตรไปแล้วหรือ บริษัทที่ไม่มีความสามารถในการทำธุรกิจและกำไร หมดหนทางสู้อย่างมืออาชีพ จนต้องใช้ทางลัด ควบรวมกินรวบแทน กลับต้องได้รับความเห็นใจหรือ ในขณะที่ บริษัทที่ทำธุรกิจอย่างโปร่งใส บาลานซ์ทุก stake holder และเติบโตตามหลักธรรมาภิบาล กลับถูกมองเป็นรายใหญ่ที่รังแกรายเล็กซะอย่างงั้น แต่คนที่พยายามจะผูกขาดให้เหลือเพียง 2 ราย อย่างทรูและดีแทค ควรได้รับความชอบธรรมและเป็นข้ออ้างให้ควบรวมได้แล้วหรือ
7 สมาคมฯโทรคมตบเท้าเลือกข้าง- หันหลังผู้บริโภค
น่าแปลกใจอย่างยิ่ง ที่ผู้หลักผู้ใหญ่ในสมาคมฯ หลายสมาคม อาทิ สมาคมอุตสาหกรรมซอฟท์แวร์ไทย,สมาคมการค้าผู้ประกอบการเทคโนโลยีดิจิทัล, สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฯ (ที่มีคุณศุภชัย เจียรวนนท์ นั่งเป็นประธานสภา), สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยฯ (ซึ่งมีนายวิเชาวน์ รักพงษ์ไพโรจน์ ประธานคณะผู้บริหารด้านกิจการองค์กร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ นั่งเป็นประธานสมาคม) มองภาพบวก ว่า การควบรวมจะเป็นผลดีต่อที่ ECOSYSTEM ลากไปจนถึงธุรกิจสตาร์ทอัพ ที่ทรูเคยยาหอม ว่าจะจัดตั้งกองทุนสตาร์ทอัพ 100-200 ล้านเหรียญสหรัฐ จะช่วยสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ ด้วยเทคโนโลยีของฝั่งยุโรป (เทเลนอร์) และ local strength (CP)
เมื่อได้ฟังแล้ว สิ้นหวังแทนผู้บริโภคอย่างยิ่ง ไม่มีใครที่จะยกผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นธงใหญ่เลย ท่านห่วงแต่ผลประโยชน์ของกลุ่มทุนกันทั้งสิ้น เรื่องกองทุนสตาร์ทอัพหลักร้อยล้านเหรียญสหรัฐ ยิ่งดูเป็นนโยบายที่เลื่อนลอย เพราะขนาดทุกวันนี้ผลประกอบการของทรูเองยังขาดทุนอยู่ทุกไตรมาส
บทพิสูจน์การทำหน้าที่ กสทช.
แม้ว่าบอร์ด.กสทช.ชุดรักษาการณ์ก่อนหน้าจะพยายามบ่ายเบี่ยงมาตลอดว่า ตัวเองไม่มีอำนาจคัดค้านการควบรวมเพราะเป็นเรื่องของบริษัทแม่คือ เทเลนอร์ กรุ๊ป และ เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) แต่หากพิจารณาในอำนาจของกสทช.กลับพบว่า กสทช. มีอำนาจและหน้าที่ในการพิจารณาสั่ง “อนุญาต” หรือ “ไม่อนุญาต” ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯพ.ศ. 2553 มาตรา 27 (11)
และพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 มาตรา 21 ที่บัญญัติไว้ว่า การประกอบกิจการโทรคมนาคม นอกจากต้องอยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้าแล้ว ให้คณะกรรมการกำหนดมาตรการเฉพาะตามลักษณะการประกอบกิจการโทรคมนาคมมิให้ผู้รับใบอนุญาตกระทำการอย่างใดอันเป็นการผูกขาด หรือลด หรือจํากัดการแข่งขันในการให้บริการกิจการโทรคมนาคม ได้แก่ (2) การถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน
ค่าดัชนี HHI ชี้วัดตลาดผูกขาดดีดพุ่ง
การควบรวมกิจการระหว่าง TRUE และ DTAC จะทำให้ค่าดัชนี HHI ดีดตัวขึ้นสูงขึ้นจากเดิมในระดับอันตรายมาก ซึ่ง ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ปี 2564 ที่ ตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่มีค่าดัชนี HHI อยู่ที่ 3,575 จุด โดยเมื่อเทียบกับ ค่า HHI ที่ กสทช. ได้กำหนดไว้ในประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการควบรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2561 (“ประกาศควบรวมธุรกิจ 2561”) เกี่ยวกับค่าดัชนี HHI สำหรับการแข่งขันมาตรฐานให้อยู่ที่ 2,500 จุด
จึงจัดอยู่ในตลาดที่มีผู้เล่นผูกขาดและกระจุกตัวกันอยู่เพียงไม่กี่เจ้าอันแสดงว่าให้เห็นว่า แม้ยังไม่มีการควบรวมใด ๆ เกิดขึ้น สภาพตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของประเทศไทยในปัจจุบันมีการกระจุกตัวสูงมาก ซึ่งหมายความว่า ประสิทธิภาพในการแข่งขันนั้น ต่ำกว่าค่ามาตราฐานอยู่แล้ว แต่เมื่อการควบรวมกิจการระหว่าง TRUE และ DTAC สำเร็จแล้วจะทำให้ค่าดัชนี HHI ดีดตัวขึ้นสูงถึง 4,706 จุด ซึ่งจัดอยู่ในตลาดที่มีผู้เล่นผูกขาดและกระจุกตัวในระดับอันตรายมาก ดังนั้นหาก กสทช. อนุญาตให้มีการควบรวมธุรกิจจะส่งผลให้ค่าดัชนี HHI หลังการควบรวม เท่ากับ 4,706 จุด ซึ่งสูงขึ้นกว่าเดิมถึง 1,131 จุด ทำให้กลุ่มบริษัทใหม่จะเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่อย่างสมบูรณ์
ผลกระทบมหาศาลต่อเศรษฐกิจ
อีกทั้ง เมื่อผู้ให้บริการรายใหญ่เหลือเพียง 2 ราย ธรรมชาติของตลาดที่มีผู้เล่นน้อยราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดโทรคมนาคมซึ่งเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานครอบคลุมประชากรทั้งประเทศไปแล้วในขณะนี้ การแข่งขันย่อมน้อยลง ย่อมมีแนวโน้มที่อัตราหรือจำนวนค่าใช้บริการอาจเพิ่มขึ้นหรือคงเดิม ไม่ลดลงหรือหลากหลายเหมือนกับในช่วงระยะเวลาที่มี 3 รายแข่งกัน
จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า เรื่องนี้มีผลกระทบอย่างมากต่อ Ecosystem ในภารวมของอุตสาหกรรม ไม่เพียงต่อผู้ใช้บริการ แต่ยังมีผลไปถึงผู้ประกอบการรายย่อย ที่เป็นฟันเฟืองเล็กๆ เช่น ผู้แทนจำหน่าย ผู้รับจ้างติดตั้งอุปกรณ์ ซ่อมบำรุง ช่องทางการจัดจำหน่าย (ลูกตู้) ผู้ให้บริการเสริม content provider และอื่นๆ อีกมากมาย
เพราะจำนวนงานจะลดลง จากที่เหลือผู้ประกอบการเพียง 2 ราย ซึ่งหากไม่มีอำนาจต่อรองหรือสายป่านไม่ยาวพอ ก็เชื่อว่าจะต้องล้มหายตายจากไป ส่งผลให้เกิดการหดตัวของอุตสาหกรรมทันที