วันเสาร์, พฤษภาคม 3, 2025
หน้าแรกไม่มีหมวดหมู่บทเรียนไฟฟ้าดับใน "ยุโรป -สเปน"ให้อะไรเราบ้าง?

Related Posts

บทเรียนไฟฟ้าดับใน “ยุโรป -สเปน”ให้อะไรเราบ้าง?

เป็นข่าวครึกโครมในแวดวงพลังงานทั่วโลก!

กรณีความปั่นป่วนที่เกิดขึ้นในหลายประเทศในยุโรปเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังเกิดเหตุกระแสไฟฟ้าดับเป็นวงกว้างในประเทศสเปนและโปรตุเกส รวมทั้งบางส่วนของประเทศฝรั่งเศส โดยเฉพาะในหัวเมืองหลักของสเปนทั้งกรุงมาดริด บาเลนเซีย และบาร์เซโลนา

ส่งผลให้ระบบสาธารณูปโภคสาธารณูปการต่างๆ ทั้งรถไฟ รถไฟฟ้าใต้ดิน ระบบขนส่งมวลชน ระบบสื่อสารโทรคมนาคมและอินเทอร์เน็ตกลายเป็นอัมพาต รถไฟและรถไฟฟ้าใต้ดินต้องหยุดให้บริการทักขบวน สนามบินและสายการบินต่างๆ ประสบปัญหา Delay ถึงขั้นยกเลิกไฟล์ทกันสุดโกลาหล

สถานีรถไฟในบาเลนเซีย และโดยเฉพาะในกรุงมาดริดคราคร่ำไปด้วยผู้โดยสารที่ติดอยู่สถานี ไม่สามารถเดินทางไปยังจุดหมายได้ และต้องใช้เวลาข้ามคืนกว่าที่กระแสไฟฟ้าบางส่วนจะกลับคืนสู่ปกติ และใช้เวลากู้ระบบตามมาอีก 1-2 วันกว่ากระแสไฟฟ้าจะเริ่มเข้าที่

ก่อนที่บริษัท Red Eléctrica ของสเปนจะออกมากล่าวถึงสาเหตุของไฟฟ้าดับเป็นวงกว้างในครั้งนี้ มาจากกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนคือ Solar ลดลงอย่างรุนแรงจาก 18GW เหลือ 8GW ภายใน 5 นาที ทำให้ผู้ให้บริการเครือข่ายระบบสายส่ง จำเป็นต้อง Shut down ระบบลงด้วยการดับไฟเพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบ

มีการวิเคราะห์อย่างกว้างขวางถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาด้านเสถียรภาพของระบบไฟฟ้า นั่นคือ มีโรงไฟฟ้ามั่นคงเช่นโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซ นิวเคลียร์ และไฟฟ้าจากเขื่อนไม่เพียงพอ ไม่สมดุลกับโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน หรือพลังงานสะอาด ทำให้สำรองไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าหลักไม่เพียงพอจะรับมือกับพลังงานหมุนเวียนอย่าง Solar ที่หายไปจากระบบอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ผู้บริหารโครงข่ายระบบสายส่งจำเป็นต้อง Shut down อุปกรณ์ต่างๆ ออกจากระบบเพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบไว้

กรณีไฟฟ้าดับเป็นวงกว้างในยุโรปที่เกิดขึ้นดังกล่าว ช่างประจวบเหมาะในช่วงที่ประเทศไทยเรากำลังมีประเด็นเรื่องที่พรรคฝ่ายค้าน(พรรคประชาชน) และเครือข่ายพลังงานออกมาร้องแรกแหกกระเชอ เรื่องที่รัฐบาลและกระทรวงพลังงานดอดไปเซ็นสัญญารับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติม

(เป็นการรับซื้อไฟ”เก็บตก”ในโครงรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน เฟสแรก จำนวน 5,200 MW ที่ค้างมาตั้งแต่ปีก่อน 2566และยังตั้งแท่นจะจัดซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติมอีก 2,100 MW)

โดยระบุว่า สำรองไฟฟ้า Reserve Margin ของประเทศล้นทะลักเกิน 50% อยู่แล้ว จะตะบี้ตะบันซื้อไฟฟ้ามาทำไมอีก พร้อมระบุผลพวงจากการที่รัฐตั้งแท่นจัดซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติมจะทำให้ประชาชนคนไทยต้องถูกโขกสับค่าไฟฟ้าส่วนเกินไปนับทศวรรษ 20-25 ปีเลยทีเดียว

#

อย่างไรก็ตาม กรณีไฟฟ้าดับเป็นวงกว้างในยุโรปข้างต้น น่าจะเป็น”บทเรียน” ให้รัฐบาลและประชาชนคนไทยได้ตระหนัก สำรองไฟฟ้า Reserve Margin ของประเทศที่พากันถล่มโจมตีกันอยู่นั้นมีความสำคัญแค่ไหน และยังต้องสแกน Scan ลงไปดูใส่ในด้วยว่าสำรองไฟฟ้าที่ว่าเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน อย่าง Solar-Wnd ด้วยหรือไม่ หรือเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานหลัก หรือ”โรงไฟฟ้ามั่นคง”

เพราะกรณีไฟฟ้าดับเป็นวงกว้างที่เกิดขึ้นล่าสุดในยุโรปสเปน-โปรตุเกสนั้น เป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นว่า การพึ่งพิงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในเกณฑ์ที่สูงมากไม่ได้เป็นหลักประกันความมั่นคงด้านพลังงานอย่างที่ทุกฝ่ายเข้าใจ การมีโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (Renewable energy )ที่มองแต่เรื่องของ “ราคาถูก”ตามเทรนด์ของโลก ใช่จะละทิ้งโรงไฟฟ้าหลัก หรือโรงไฟฟ้ามั่นคงที่ใช้ก๊าซ และถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงไปได้

ตรงกันข้ามยิ่งประเทศมีสัดส่วนไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนมาก ก็ยิ่งต้องมีไฟฟ้าหลักที่เป็น Back up อีกฝั่ง เพื่อคอยเสริมระบบ หรือเตรียมความพร้อมรองรับความผันผวนที่อาจเกิดขึ้น

เพราะจะอย่างไร พลังงานหมุนเวียน Renewable Energy นั้น มีข้อจำกัดในเรื่องของความมั่นคงและปัจจัยที่อยู่เหนือการควบคุม อย่างพลังงานแสงอาทิตย์ Solar ที่ขึ้นอยู่กับแสงแดดในแต่ละวัน ขณะที่พลังงานลม Wind หรือพลังงานชีวมวล ก็ขึ้นอยู่กับฤดูกาลด้วยอีก ยิ่งภูมิอากาศประเทศไทยเราเป็นอย่างไรใช่ว่าทุกฝ่ายจะไม่รู้

วันดีคืนดีลมหนาวจากจีนพัดสอบเข้ามากลางเดือนมีนา และพายุฝนฟ้าคะนองเอากลางเดือนเมษา ไม่รู้ว่าช่วงเดือนพฤษภาคม-สิงหาคมหรือตุลาคมจะเจออะไรอีก!

ดังนั้น สำรองไฟฟ้าของประเทศที่มาจากพลังงานหมุนเวียน อย่างเป้าหมายของรัฐบาลและพลังงานที่กำลังลุยไฟจะปลุกปั้นพลังงานหมุนเวียน พลังงานสะอาดให้มีสัดส่วนมากกว่า 51% ในแผน PDP2024 เวอร์ชันที่เท่าไหร่ก็ไม่รู้ในปี 2580 โดยจะเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ Solarมากกว่า 30% พลังงานลม 16%หรือมากกว่า ที่เหลือเป็นพลังงานสะอาดอื่นๆ นั้น

สิ่งเหล่านี้ หาใช่จะทำให้ประเทศมีความมั่นคงด้านพลังงานอย่างที่ทุกฝ่ายเข้าใจกัน ตรงกันข้ามกลับจะทำให้ความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ “เปราะบาง”สุ่มเสี่ยงมากขึ้นเสียอีก!

ยกเว้นรัฐบาลจะสามารถผลักดันการสร้างเขื่อนหรือโรงไฟฟ้าจากเขื่อนขึ้นมาได้เท่านั้น เพราะเป็นทั้งโรงไฟฟ้าหลัก และไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนหรือ Renewable energy ขนาดใหญ่ที่ทุกฝ่ายเรียกหา ตอบโจทย์ด้านพลังงานทุกข้อเท่าที่มีในสามโลกทั้งด้านราคาและการลดก๊าซเรือนกระจก Carbon neutrallity

#

ก่อนหน้านี้ วีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู รองปลัดกระทรวงพลังงานและโฆษกกระทรวงพลังงาน เคยออกโรงยืนยัน และนั่งยันว่า ปัจจุบันกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรอง หรือ Reserve Margin ของประเทศไม่ได้สูงลิ่วเกิน 50% ตามที่เครือข่ายพลังงานพากันตีปี๊บเป็นรายวัน

แต่ Reserve Margin ที่แท้จริงของประเทศอยู่ในระดับเพียง 25% เท่านั้น เนื่องจากการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม หรือเชื้อเพลิงชีวภาพ ไม่สามารถนำมานับรวมเป็น Reserve Margin ที่แท้จริงได้

ดังนั้นยิ่งประเทศมีสัดส่วนไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนมาก ก็ยิ่งจำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าหลักที่เป็น Back up ในสัดส่วนที่สูงตามไปด้วย ซึ่งแน่นอนว่าต้องแลกมาด้วยค่าบริหารจัดการ ค่าเตรียมความพร้อม(และค่าความพร้อมจ่ายที่ทุกฝ่ายขยาดกลัว)

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ได้หมายความว่า จะทำให้”ต้นทุนรวม”ของการจัดหาไฟฟ้าต่อ 1 หน่วยจะต้องสูงขึ้นเสมอไป หากรัฐและพลังงานสร้างสมดุลการรับซื้อไฟฟ้าในสัดส่วนที่เหมาะสม ไม่เพียงจะทำให้เกิดความมั่นคงและเสถียรภาพของระบบไฟฟ้าของประเทศ ยังจะไม่เป็นการสร้างภาระแก่ประชาชนด้วย

ไม่ใช่ตะบี้ตะบันจะลุยกำถั่วไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนตามเทรนด์ของโลก จนลืมหันกลับมาดูไฟฟ้าพื้นฐานที่เป็นพลังงานมั่นคง จนลงเอยแบบที่ผู้คนในประเทศยุโรปกำลังอกสั่นขวัญแขวนอยู่เวลานี้

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts