กสม. เผยกรณีบริษัทสายการบินแห่งชาติปฏิเสธไม่รับผู้ติดเชื้อเอชไอวีเข้าทำงานโดยไม่มีเหตุผลอันจำเป็น เป็นการละเมิดสิทธิ แนะกระทรวงการคลังกำกับดูแลให้เป็นไปตามหลักสากล
วันพฤหัสบดีที่ 8 พฤษภาคม 2568 เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ และนางสาวสุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 16/2568
2.กสม. เผยกรณีบริษัทสายการบินแห่งชาติปฏิเสธไม่รับผู้ติดเชื้อเอชไอวีเข้าทำงานโดยไม่มีเหตุผลอันจำเป็น เป็นการละเมิดสิทธิ แนะกระทรวงการคลังกำกับดูแลให้เป็นไปตามหลักสากล
นางสาวสุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนเมื่อเดือนกรกฎาคม 2567 ว่า ผู้ร้องได้สมัครงานและผ่านการคัดเลือกเข้าทำงานในตำแหน่ง Senior Customer Service Agent (Level 5) ซึ่งเป็นงานให้บริการผู้โดยสารของบริษัทสายการบินแห่งชาติ (ผู้ถูกร้องที่ 1) และถูกส่งตัวไปตรวจสุขภาพก่อนเข้าทำงานที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง (ผู้ถูกร้องที่ 2) โดยไม่มีรายการตรวจหาเชื้อเอชไอวีรวมอยู่ในรายการตรวจสุขภาพก่อนเข้าทำงาน ผู้ร้องจึงแจ้งให้แพทย์ทราบว่าตนเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากทราบผลการตรวจสุขภาพ ผู้ถูกร้องที่ 1 ปฏิเสธรับผู้ร้องเข้าทำงานโดยให้เหตุผลว่าผลการตรวจสุขภาพของผู้เสียหายไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้ ผู้ร้องเห็นว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการใช้สถานะของการติดเชื้อเอชไอวีมาเป็นเหตุนำไปสู่การตีตราและการเลือกปฏิบัติในการสมัครงาน อันอาจเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
เบื้องต้น กสม. ได้ประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน โดยส่งเรื่องไปยังผู้ถูกร้องทั้งสอง โดยบริษัทสายการบินแห่งชาติ ระบุว่า รายการตรวจสุขภาพไม่ได้กำหนดให้ตรวจหาเชื้อเอชไอวีและโรงพยาบาลชี้แจงว่า ผู้เสียหายเป็นผู้ให้ข้อมูลว่ามีเชื้อเอชไอวีแก่แพทย์ในขั้นตอนการตรวจร่างกายและซักประวัติอาการเจ็บป่วยเอง ส่วนการที่บริษัทสายการบินแห่งชาติปฏิเสธไม่รับผู้เสียหายเข้าทำงานสืบเนื่องมาจากความผิดปกติของผลเลือด ซึ่งไม่เป็นไปตามคุณสมบัติที่กำหนดไว้ กล่าวคือ ผู้สมัครงานต้องมีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ เหมาะสมกับการปฏิบัติงานในตำแหน่งที่สมัคร กสม. เห็นว่า แม้ผู้เสียหายจะเป็นผู้แจ้งให้แพทย์ทราบเองว่าตนเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี แต่กรณีนี้อาจมีประเด็นเกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลด้วยเหตุแห่งสุขภาพ อันเกี่ยวเนื่องกับเสรีภาพในการประกอบอาชีพ และประเด็นเกี่ยวกับสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคล จึงมีมติให้รับไว้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน
กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า สิทธิในการทำงานมีความสำคัญต่อการบรรลุสิทธิมนุษยชนอื่น ๆ และเป็นส่วนหนึ่งอันไม่อาจแยกออกจากศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ บุคคลทุกคนจึงมีสิทธิที่จะทำงาน รวมถึงโอกาสในการเข้าถึงการจ้างงานโดยปราศจากการเลือกปฏิบัติ การที่บริษัทสายการบินแห่งชาติปฏิเสธรับผู้ร้องเข้าทำงานเพราะเหตุผลด้านสุขภาพและความเหมาะสมในการปฏิบัติหน้าที่ โดยไม่นำข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสมรรถนะการทำงานที่ผ่านมาของผู้ร้องซึ่งเคยทำงานเป็นกะมีลักษณะงานเช่นเดียวกับตำแหน่งที่สมัครและไม่เคยประสบปัญหาสุขภาพรุนแรงจากการทำงานมาพิจารณา ถือเป็นการสรุปเหมารวมว่าผู้ติดเชื้อเอชไอวีทุกรายที่ปฏิบัติงานจะมีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลงและมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อฉวยโอกาสรุนแรงมากกว่าคนที่ไม่มีเชื้อ ซึ่งในปัจจุบันพัฒนาการทางการแพทย์เกี่ยวกับการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีมีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก ข้อมูลทางวิชาการของโครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) องค์การอนามัยโลก (WHO) และกรมควบคุมโรค ระบุว่า ยาต้านไวรัสเอชไอวี สามารถควบคุมเชื้อเอชไอวี ฟื้นฟูภูมิคุ้มกัน และป้องกันโรคฉวยโอกาสได้ หากผู้ติดเชื้อได้รับยาต้านไวรัสเอชไอวีอย่างต่อเนื่องจนสามารถกดปริมาณไวรัสในเลือดจนตรวจไม่พบ จะมีสุขภาพแข็งแรงเช่นเดียวกับคนที่ไม่มีเชื้อและไม่มีความเสี่ยงในการถ่ายทอดเชื้อไวรัสไปสู่ผู้อื่น
ดังนั้น การที่บริษัทสายการบินแห่งชาติปฏิเสธไม่รับผู้ร้องเข้าทำงานเพียงเพราะนำสถานะการติดเชื้อเอชไอวีมาเป็นปัจจัยในการคาดเดาไปล่วงหน้าเองถึงความเสี่ยงที่จะเกิดโรคในอนาคต จึงกระทบต่อสิทธิในการทำงาน สิทธิของบุคคลในโอกาสที่จะหาเลี้ยงชีพโดยงานซึ่งตนเลือกหรือรับอย่างเสรี ตลอดจนสิทธิในการเข้าถึงการจ้างงานอย่างเท่าเทียมโดยปราศจากการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งสภาพทางกายและสุขภาพ ซึ่งขัดต่อหลักการไม่เลือกปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR) และพันธกรณีระหว่างประเทศอีกหลายฉบับ อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
นอกจากนี้ กสม. ยังมีข้อสังเกตว่า รายงานผลตรวจสุขภาพของผู้เข้ารับบริการที่โรงพยาบาลส่งให้บริษัทเอกชน อาจส่งผลกระทบต่อดุลพินิจของนายจ้างในการพิจารณารับบุคคลเข้าทำงาน และอาจถูกนำไปใช้เป็นเหตุปฏิเสธการจ้างงาน แม้ในกรณีที่โรคหรืออาการดังกล่าวไม่ได้มีผลโดยตรงต่อความสามารถในการปฏิบัติงาน อีกทั้งผู้เข้ารับบริการอาจมิได้ตระหนักหรือทราบถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากการเปิดเผยข้อมูลประวัติการเจ็บป่วยของตนแก่แพทย์ และเข้าใจว่าข้อมูลดังกล่าวจะถูกใช้เพียงเพื่อประเมินสมรรถนะทั่วไปสำหรับการทำงานเท่านั้น ดังนั้น โรงพยาบาลเอกชนแห่งดังกล่าวตามกรณีนี้ จึงควรพิจารณาทบทวนถึงความจำเป็นในการบันทึกข้อมูลประวัติการเจ็บป่วยในรายงานผลตรวจสุขภาพที่ส่งให้บริษัทเอกชน โดยจำกัดเฉพาะข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการตรวจร่างกายทั่วไปเท่านั้น และไม่ระบุข้อมูลที่ไม่จำเป็นสำหรับการประเมินสมรรถนะในการทำงานหรืออาจจะส่งผลกระทบต่อดุลพินิจในการรับเข้าทำงานของนายจ้าง เพื่อป้องกันการนำข้อมูลสุขภาพไปใช้ในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติและส่งผลกระทบต่อโอกาสในการทำงานของบุคคลที่มีประวัติการเจ็บป่วย
ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2568 จึงมีมติให้มีข้อเสนอแนะต่อผู้ถูกร้องและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สรุปได้ดังนี้
(1) มาตรการในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน ให้บริษัทสายการบินแห่งชาติ ผู้ถูกร้องที่ 1 ทบทวนผลการพิจารณาไม่รับผู้ร้องเข้าทำงาน และยุตินโยบายการปฏิเสธไม่รับผู้สมัครงานที่เป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวีเข้าทำงาน และให้กระทรวงการคลัง ในฐานะหน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นสูงสุดของผู้ถูกร้องที่ 1 กำกับดูแลผู้ถูกร้องที่ 1 ให้ดำเนินการตามข้อเสนอแนะข้างต้น
(2) มาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ให้ผู้ถูกร้องที่ 1 จัดทำนโยบายการป้องกันและบริหารจัดการด้านเอดส์ในสถานประกอบกิจการไว้เป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ พ.ศ. 2560 – 2573 แนวปฏิบัติเรื่องโรคเอดส์ในโลกแห่งการทำงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง แนวทางการป้องกันและบริหารจัดการด้านเอดส์และวัณโรคในสถานประกอบกิจการ ลงวันที่ 25 กรกฎาคม 2555 และเรื่อง การป้องกันและบริหารจัดการด้านเอดส์ในสถานประกอบกิจการ ลงวันที่ 5 พฤศจิกายน 2563 โดยปิดประกาศนโยบายดังกล่าวไว้ในสถานประกอบกิจการและเผยแพร่บนเว็บไซต์ของผู้ถูกร้องที่ 1 และชี้แจงทำความเข้าใจให้แก่ผู้บริหารและบุคลากรทุกระดับ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติอย่างจริงจัง และให้กระทรวงการคลัง ในฐานะหน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นสูงสุดของผู้ถูกร้องที่ 1 กำกับดูแลผู้ถูกร้องที่ 1 ให้ดำเนินธุรกิจโดยเคารพสิทธิมนุษยชนของผู้ติดเชื้อเอชไอวี
ให้โรงพยาบาลเอกชน ผู้ถูกร้องที่ 2 ทบทวนความจำเป็นและแนวปฏิบัติในการบันทึกข้อมูลประวัติการเจ็บป่วย (Past History) ของผู้เข้ารับบริการในรายงานผลตรวจสุขภาพที่ส่งให้บริษัทเอกชน โดยควรจำกัดเฉพาะข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการตรวจร่างกายทั่วไปเท่านั้น เพื่อป้องกันมิให้มีการนำข้อมูลที่ไม่จำเป็นสำหรับการประเมินสมรรถนะในการทำงาน ไปใช้เป็นเหตุปฏิเสธการจ้างงานโดยไม่เป็นธรรมแก่ผู้สมัครงาน รวมทั้งกำชับให้บุคลากรตระหนักถึงการคุ้มครองข้อมูลสุขภาพของผู้เข้ารับบริการ และแจ้งวัตถุประสงค์และรายละเอียดของการเก็บรวบรวม ใช้ และเปิดเผยข้อมูลด้านสุขภาพ ตลอดจนอธิบายข้อมูลต่าง ๆ ให้ผู้เข้ารับบริการได้รับข้อมูลที่ครบถ้วนเกี่ยวกับสิทธิของตน รวมถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการเปิดเผยข้อมูลสุขภาพ เพื่อให้สามารถตัดสินใจได้อย่างรอบคอบก่อนให้ความยินยอมในการเปิดเผยข้อมูลแก่บริษัทเอกชน
ให้กระทรวงสาธารณสุขออกประกาศกำหนดแนวปฏิบัติที่ชัดเจนเกี่ยวกับการจัดทำรายงานผลตรวจสุขภาพเพื่อประกอบการทำงานและการบันทึกข้อมูลประวัติการเจ็บป่วย (Past History) ของผู้เข้ารับบริการในรายงานผลตรวจสุขภาพดังกล่าว โดยเน้นย้ำให้สถานพยาบาลของรัฐและเอกชนให้ความสำคัญกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และหลีกเลี่ยงการบันทึกข้อมูลที่ไม่จำเป็นสำหรับการประเมินสมรรถนะในการทำงาน หรืออาจจะส่งผลเป็นการเปิดเผยข้อมูลสุขภาพของผู้รับบริการโดยไม่จำเป็น และกระทบต่อดุลพินิจในการรับเข้าทำงานของนายจ้าง
และให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ส่งเสริมให้ผู้ถูกร้องที่ 1 และบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เปิดเผยข้อมูลในรายงาน 56-1 One Report ดังนี้ (1) นโยบายด้านสิทธิมนุษยชน ในประเด็นนโยบายการจ้างงานที่ไม่เลือกปฏิบัติต่อบุคคลไม่ว่าด้วยเหตุใด โดยเฉพาะสถานะทางสุขภาพอันรวมถึงการเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี และ (2) ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดการด้านสิทธิมนุษยชน ได้แก่ มาตรการส่งเสริมความเท่าเทียมและการไม่เลือกปฏิบัติ กลไกการรับเรื่องร้องเรียน และผลการดำเนินการหรือการแก้ไขปัญหาในกรณีมีข้อพิพาทหรืออยู่ระหว่างตรวจสอบโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนและโปร่งใสบนพื้นฐานของการเคารพสิทธิมนุษยชน



