วันศุกร์, มีนาคม 29, 2024

Related Posts

พิรุธ! กสทช.

พิรุธ! กสทช.รวบรัดประชาพิจารณ์ควบรวมอื้อฉาว
วงการสื่อสารสุดมึน! เวทีโฟกัส กรุ๊ป นักวิชาการ-ผู้บริโภค
หวั่นได้ข้อมูล “ทิพย์” ชี้ขาดดีลควบรวมหลงทิศ

“…วงการสื่อสารสุดกังขา กสทช.เร่งสปีดเวที “โฟกัส กรุ๊ป” รับฟังความเห็นดีลควบรวม ”ทรู-ดีแทค” จากนักวิชาการ แถมยังปิดลับราวกับเรื่องสำคัญของโลก ทั้งที่เปิดเวทีครั้งก่อนยังทำสังคมคาใจไม่หาย หลังตัวแทนภาคธุรกิจ-อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องตบเท้าให้ความเห็นราวถอดพิมพ์เขียวเดียวกัน ด้าน “วัชระ” ร้อง ปปช.สอบกราวรูด!…”

แหล่งข่าวในวงการสื่อสารและโทรคมนาคม เปิดเผยว่า จากควันหลงจากการที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในวงจำกัด หรือ Focus Group กรณีการควบรวมธุรกิจระหว่าง บมจ. ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด และ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด หรือดีแทค ครั้งที่ 1 ในกลุ่มภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องที่ยังคงทำให้หลายภาคส่วนตั้งข้อกังขาต่อผลสรุปความคิดเห็นที่ได้ ที่ส่วนใหญ่เห็นพ้องกับดีลควบรวมราวกับถอดพิมพ์เขียวเดียวกัน

[inline_related_posts title=”เรื่องเหล่านี่คุณอาจจะสนใจ” title_align=”left” style=”list” number=”4″ align=”none” ids=”” by=”categories” orderby=”rand” order=”DESC” hide_thumb=”no” thumb_right=”no” views=”no” date=”yes” grid_columns=”2″ post_type=”” tax=””]

แม้แต่ที่ประชุมบอร์ด กสทช.ยังตั้งข้อสังเกตุความคิดเห็นโฟกัส กรุ๊ปที่ได้ว่า มีความครอบคลุมเพียงพอหรือไม่ ด้วยข้อมูลที่ได้แตกต่างและสวนทางกับรายงานผลศึกษาของสถาบันวิจัยจุฬาฯที่ปรึกษาอิสระที่สำนักงาน กสทช.ดำเนินการว่าจ้างฯซึ่งระบุอย่างชัดเจนว่า หากดีลควบรวมกิจการสำเร็จลุล่วงไปได้ จะทำให้ค่าบริการในระยะยาวเพิ่มขึ้น 20-30% จนถึงขั้นที่ กสทช.เตรียมทบทวนแนวทางการจัดเวทีประชาพิจารณ์ใหม่

ล่าสุดแวดวงสื่อสารโทรคมนาคมต้องอึ้งกิมกี่หนักเข้าไปอีก เมื่อมีกระแสข่าวว่า สำนักงาน กสทช.เตรียมกำหนดจัดเวทีโฟกัสกรุ๊ป ครั้งที่ 2 ความเห็นจากนักวิชาการอีกครั้งเร็วๆนี้ และกำหนดจัดครั้งที่ 3 ผลกระทบต่อผู้บริโภคทั่วไปต่อเนื่องกันไป โดยเตรียมเชิญนักวิชาการที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งองค์กรในภาคส่วนประชาสังคม และเครือข่ายคุ้มครองผู้บรโภคเข้าร่วม แต่กลับดำเนินการจัดเตรียมเวทีโฟกัสกรุ๊ปครั้งนี้อย่างเงียบกริบ ไม่ยอมแพร่งพรายให้เจ้าหน้าที่ กสทช.เองรับทราบกำหนดการ เมื่อผู้สื่อข่าวพยายามสอบถามไปยังผู้เกี่ยวข้อง ก็บ่ายเบี่ยงที่จะตอบคำถามในเรื่องนี้

แม้กระทั่งรายชื่อนักวิชาการที่ได้รับเชิญเข้าร่วมก็ยังปกปิดไม่ยอมแพร่งพรายให้รับทราบว่า มีใครบ้าง ทำเอาทุกฝ่ายพากันเคลือบแคลงสงสัย กสทช.กำลังทำอะไรกันแน่?

“ไม่เข้าใจว่า เหตุใด กสทช.ถึงรวบรัดจัดเวทีโฟสกัส กรุ๊ป ครั้งนี้อย่างเร่งรีบและกระทำราวกับเป็นเรื่องลับที่ไม่สามารถให้ผู้คนในสังคมได้รับรู้ ทั้งที่การจัดเวที่ครั้งก่อนยังคงมีปัญหาในเรื่องของข้อมูลที่ได้รับที่ยังขาดความครอบคลุม และเกรงว่า กสทช.จะเลือกเชิญแต่นักวิชาการที่ให้การสนับสนุนดีลควบรวมเป็นหลักเท่านั้น เพราะจากการสอบถามนักวิชาการหลายคนที่เคยออกโรงแสดงความเห็นคัดค้าน กล่าวว่า ยังไม่ทราบกำหนดการณ์ในครั้งนี้”

“วัชระ” ร้อง ปปช. สอบกราวรูด

ที่รัฐสภา นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.พรรประชาธิปัตย์ ได้เปิดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน หลังเข้ายื่นหนังสือถึง ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช) เพื่อให้ดำเนินคดีกับ กสทช.และพนักงานที่เกี่ยวข้องในการทำหน้าที่เกี่ยวกับการควบรวมกิจการระหว่าง ทรู และ ดีแทค เนื่องจากมีส่วนร่วมหรือสนับสนุนการกระทำอันผิดกฎหมายและมีการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ส่งผลให้ประชาชนและผู้บริโภค ถูกลิดรอนสิทธิ์ในการเลือกใช้บริการโทรคมนาคมพื้นฐาน 

โดยนายวัชระกล่าวว่า กรณีการควบรวมทรูและดีแทคที่ทั้งสองบริษัท มีบริษัทลูกที่ประกอบกิจการโทรคมนาคมอยู่หลายบริษัท ซึ่งจะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงกับประชาชนผู้บริโภคเนื่องจากตามข้อมูลของ กสทช.ในปัจจุบัน มีผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จำนวน 141 ล้านเลขหมาย ผ่านผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3 รายใหญ่ (ไอไอเอส ทรู และดีแทค) 132 ล้านเลขหมาย คิดเป็นส่วนแบ่งการตลาดรวมกันสูงถึงร้อยละ 93 และทั้ง 3 รายล้วนเป็นผู้มีอิทธิพลเหนือตลาดทั้งสิ้น

หากมีการควบรวมกิจการระหว่างกลุ่มทรูและกลุ่มดีแทคแล้ว จะเป็นรายที่มีส่วนแบ่งการตลาดสูงถึงร้อยละ 54 ซึ่งถือว่าจะเป็นผู้มีอิทธิพลเหนือตลาดเป็นอย่างยิ่งและเคยมีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ชัดเจนว่า ในอดีตเมื่อมีผู้ให้บริการโทรคมนาคมเพียง 2 ราย จะทำให้ประชาชาชนผู้บริโภคเสียเปรียบอย่างยิ่ง อาทิ การลดหรือจำกัดการแข่งขันในตลาด ลดหรือจำกัดการเกิดผู้แข่งขันรายใหม่และจำกัดการเติบโตของผู้แข่งขันรายเล็กในตลาด มีอแนวโน้มที่่ราคาของการให้บริการจะเพิ่มขึ้น เป็นต้น

ด้วยข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น การควบรวมของ ทรูและดีแทค ส่งผลในหลากหลายด้าน แต่ กสทช.หน่วยงานที่กำกับดูแล กลับไม่โต้แย้งหรือคัดค้านและยังมีพฤติกรรมที่ส่อได้ว่าจะละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้เกิดการควบรวม ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ กฎหมายและประกาศ กสทช.หลายมาตรา 

โดยเฉพาะ การที่ ประกาศ กสทช.ฯ 2561 ยกเลิกประกาศฉบับเดิมปี 2553 ที่มีการระบุถึงหลักเกณฑ์และวิธีการถือหุ้น การถือหุ้นไขว้ การควบรวมกิจการ แต่ประกาศฉบับใหม่นี้กลับมีเจตนาให้ไม่มีเนื้อหารายละเอียด หลักเกณฑ์และวิธีการและที่จำเป็น รวมทั้งตัดทอนอำนาจพิจารณาการอนุมัติการกระทำที่ส่งผลด้านลบต่อการแข่งขันอันถือว่าเป็นการครอบงำตลาดที่เกี่ยวข้อง เหลือเพียงแค่การกำกับโดยมาตรการเฉพาะภายหลังการควบรวมเท่านั้น จึงเป็นการกระทำที่มีเจตนาที่ให้เกิดการดำเนินการที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรฯ 2553 และ พ.ร.บ.โทรคมนาคมฯ 2544 และประกาศ กทช.ฯ 2553 ที่ยังบังคับใช้อยู่ ดังนั้น กสทช. จึงไม่อาจกล่าวอ้างประกาศ กสทช.ฯ 2561และกรอบเวลาตามประกาศดังกล่าวเพื่อใช้เป็นข้ออ้างในการเร่งรัดดำเนินการสอดรับกับการดำเนินการของผู้ยื่นขออนุญาตควบรวมได้

ด้วยเหตุนี้ จึงขอให้ ปปช.ดำเนินการไต่สวนและวินิจฉัยเรื่องนี้ โดยขอให้ดำเนินคดีกับ กสทช.ชุดเก่าที่ออกประกาศฯ 2561 ที่ขัดกับกฎหมายและดำเนินการตามขั้นตอนที่ไม่ถูกต้องในการออกประกาศดังกล่าว พร้อมทั้งดำเนินคดีกับ กสทช.ชุดเก่าและชุดปัจจุบันที่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ปล่อยให้มีการรวมธุรกิจ ทรูและดีแทค ที่ส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจของประเทศ

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

Latest Posts