เมื่อวันที่ 15 ก.ค.68 น.ส.พิมพ์พจี สงวนนามสกุล อายุ 44 ปี ผู้เสียหาย ซึ่งประกอบธุรกิจด้านเอกสารแรงงานต่างด้าว พร้อมทนายความ เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวน บก.ปคบ. เพื่อปรึกษาข้อกฎหมาย ร้องทุกข์ดำเนินคดีกับโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ในจังหวัดสระแก้ว หลังพยาบาลฉีดยาผิดพลาด ทำเนื้อตาย-แผลติดเชื้อ ส่วนด้าน รพ.เพิกเฉย
น.ส.พิมพ์พจี เปิดเผยว่า ตนได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนชื่อดังในจังหวัดสระแก้ว โดยมีพยาบาลเข้ามาฉีดยา แต่ไม่สามารถหาเส้นได้ จึงตัดสินใจฉีดที่บริเวณหัวไหล่ ซึ่งผู้เสียหายได้ร้องบอกว่ารู้สึกเจ็บมากขณะฉีด แต่พยาบาลยังยืนยันจะฉีดต่อ หลังฉีดเสร็จทันที ปรากฏว่าผิวหนังบริเวณที่ฉีดเกิดอาการไหม้ ปวดแสบปวดร้อน ทางโรงพยาบาลให้เฝ้าดูอาการ
เมื่อกลับไปรักษาตัวที่บ้านและรอนัดตรวจแผล พบว่ามีอาการบวมที่ใบหน้าและลำตัว เปิดแผลออกจึงพบว่าเป็นเนื้อตาย ทางโรงพยาบาลจึงให้แอดมิทและเข้ารับการผ่าตัดในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ซึ่งค่าใช้จ่ายส่วนนี้โรงพยาบาลกลับขอให้ใช้สิทธิ์ประกัน ทั้งที่เป็นผลจากการรักษาผิดพลาดของทางโรงพยาบาลเอง หลังผ่าตัด ผู้เสียหายต้องนอนโรงพยาบาลเพื่อเฝ้าดูอาการและใช้วัสดุทดแทนเนื้อเยื่อ ซึ่งโรงพยาบาลเสนอให้เลาะเนื้อจากต้นขาของตน แต่ปฏิเสธเนื่องจากกังวลเรื่องแผลเพิ่มและความเจ็บปวด
น.ส.พิมพ์พจี กล่าวต่อว่า ต่อมาโรงพยาบาลได้วางบิลเป็นยอดเงินสูงถึง 613,593 บาท และขอให้เบิกจากประกัน 2 กรมธรรม์ ซึ่งภายหลังประกันได้อนุมัติบางส่วน ก่อนจะประกาศระงับความคุ้มครองทั้งสองฉบับ ส่งผลให้ผู้เสียหายไม่สามารถรักษาโรงพยาบาลใดได้อีก เนื่องจากไม่มีสิทธิ์เบิกประกัน ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด
ผู้เสียหายยังบอกอีกว่า ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงสำคัญในการเปิดขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว ซึ่งตามปกติจะมีรายได้จากลูกค้าไม่น้อยกว่า 1,500 รายต่อรอบปี แต่กลับต้องนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลเป็นเวลา 1 เดือน สูญเสียรายได้จำนวนหลายล้านบาท จนสุดท้ายต้องปิดบริษัทที่ทำมากว่า 3 ปี
แม้ทางโรงพยาบาลจะยอมทำแผลฟรี แต่ค่าเดินทางไปรับการรักษาทุกวันในระยะทางไป-กลับถึง 120 กิโลเมตร ต้องออกค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด และไม่ได้รับการเยียวยาหรือสอบถามถึงความลำบากใด ๆ
ภายหลัง แผลที่รักษากลับไม่ติดตามวัตถุประสงค์ เกิดการติดเชื้อ มีกลิ่นเหม็น มีหนอง และเริ่มปวดแขน แต่เมื่อร้องขอให้ทางโรงพยาบาลตรวจอาการ กลับถูกเพิกเฉย บอกว่า “ไม่เป็นอะไร” และให้ไปพบแพทย์อีกแห่งที่อยู่นอกพื้นที่ โดยค่าใช้จ่ายทั้งหมดผู้เสียหายต้องรับผิดชอบเอง
ผู้เสียหายยังระบุว่า หลังเกิดเหตุ ทางโรงพยาบาลปฏิบัติต่อตนอย่างไม่เต็มใจรักษา แม้มีอาการแพ้อาหาร แน่นหน้าอก และอาเจียนก็ไม่ได้รับการดูแล จนต้องเดินทางกว่า 100 กิโลเมตรไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลเอกชนอีกแห่งด้วยเงินส่วนตัว
อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ทั้งหมดทำให้ผู้เสียหายรู้สึกว่าไม่ได้รับความยุติธรรม ไม่เพียงแต่เสียโอกาสทางธุรกิจ รายได้ และเวลา แต่ยังได้รับผลกระทบด้านจิตใจและสุขภาพอย่างต่อเนื่อง



