”…วันที่ 7 กรกฎาคม 2565 เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ และนางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 25/2565 โดยมีวาระสำคัญ ดังนี้…”
[inline_related_posts title=”คุณอาจสนใจเรื่องเหล่านี้” title_align=”left” style=”list” number=”4″ align=”none” ids=”” by=”categories” orderby=”rand” order=”DESC” hide_thumb=”no” thumb_right=”no” views=”no” date=”yes” grid_columns=”2″ post_type=”” tax=””]
- กสม. ประสานอัยการสูงสุดขอให้ใช้ดุลพินิจสั่งไม่ฟ้องลูกจ้างหญิงที่ออกมาประท้วงกรณีถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรมในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
ตามที่สหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทยและเครือข่ายแรงงานเพื่อประชาชนได้ร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ระบุว่า เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2564 ลูกจ้างหญิงของบริษัทแห่งหนึ่งซึ่งทำธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตชุดชั้นในให้กับแบรนด์สินค้ามีชื่อเสียงยี่ห้อหนึ่ง จำนวน 300 คน ได้ชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาลเพื่อเรียกร้องให้หน่วยงานของรัฐช่วยเหลือกรณีนายจ้างปิดกิจการและเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยการเลิกจ้างและเงินอื่นตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานให้แก่ลูกจ้างจำนวน 1,388 คน ต่อมาสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้งได้แจ้งข้อกล่าวหากับผู้ร่วมชุมนุม จำนวน 6 คน ในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 ของพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 2548) ทั้งที่การชุมนุมดังกล่าวเป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ มีการสวมใส่หน้ากากอนามัยทุกคน ชุมนุมในสถานที่เปิดโล่ง รวมทั้งไม่ปรากฏว่ามีผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จึงขอให้ยุติการดำเนินคดีอาญาต่อผู้ร่วมชุมนุมทั้ง 6 คน
กสม. พิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีดังกล่าวเกี่ยวกับสิทธิแรงงานและสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งได้รับการรับรองและคุ้มครองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 แต่เนื่องจากเห็นว่าการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนดังกล่าวทำได้ด้วยวิธีการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงได้ส่งเรื่องไปยังกระทรวงแรงงาน กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เพื่อพิจารณาให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบตามหน้าที่และอำนาจ และแจ้งไปยังสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง เพื่อขอให้ยุติการดำเนินคดี ซึ่งต่อมาได้รับแจ้งว่าพนักงานสอบสวนได้สรุปสำนวนการสอบสวนพร้อมความเห็นไปยังพนักงานอัยการแล้วนั้น
จากการประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนได้รับทราบว่า ผลจากการเรียกร้องและให้ความช่วยเหลือโดยองค์กรด้านสิทธิแรงงานระหว่างประเทศ แบรนด์ชุดชั้นในยี่ห้อดังได้มอบเงินให้แก่บริษัทเอกชนผู้บอกเลิกจ้างแล้วเมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 โดยบริษัทเอกชนผู้บอกเลิกจ้างได้นำเงินจำนวนประมาณ 285.2 ล้านบาท ไปจ่ายเป็นค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการปิดกิจการของนายจ้างเป็นที่เรียบร้อย ประกอบกับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน หน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้อง ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบตามสมควรแก่กรณีแล้ว ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างเหมาะสม กสม. จึงเห็นชอบรายงานผลการประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม กสม. เห็นว่า กรณีการดำเนินคดีกับผู้แทนเครือข่ายสหภาพแรงงานและประชาชนที่ร่วมชุมนุมเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2564 รวม 6 คน ในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 พ.ร.ก. ฉุกเฉิน 2548 ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของพนักงานอัยการ เป็นกรณีเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายที่เป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่ง กสม. ได้เคยมีข้อเสนอแนะเมื่อเดือนมีนาคม 2564 กรณีผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ระลอกใหม่ ต่อศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และมีรายงานผลการตรวจสอบเมื่อเดือนธันวาคม 2564 โดยมีความเห็นและข้อเสนอแนะว่า การบังคับใช้กฎหมายที่เป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในสถานการณ์ดังกล่าวควรกระทำอย่างระมัดระวังเท่าที่จำเป็น และการดำเนินคดีกับแกนนำหรือผู้ชุมนุมอันสืบเนื่องมาจากการใช้สิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมและการแสดงออกทางการเมืองต้องคำนึงถึงความได้สัดส่วนและความจำเป็นตามแต่ละกรณี โดยควรหลีกเลี่ยงการตั้งข้อหาหรือฐานความผิดที่เป็นการจำกัดหรือสร้างภาระแก่ผู้ใช้สิทธิและเสรีภาพดังกล่าวเกินสมควรแก่เหตุ
ด้วยเหตุนี้ กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2565 จึงมีมติให้ประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนไปยังอัยการสูงสุดเพื่อขอให้พิจารณาใช้ดุลพินิจในการสั่งไม่ฟ้องหรือถอนฟ้องในคดีอาญากรณีผู้แทนเครือข่ายสหภาพแรงงานและประชาชนที่ร่วมชุมนุมเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2564 ข้างต้น หากเห็นว่าเป็นการฟ้องคดีที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ตามระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุด ว่าด้วยการสั่งคดีอาญาที่จะไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน หรือจะมีผลกระทบต่อความปลอดภัย หรือความมั่นคงของชาติ หรือต่อผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561
อนึ่ง ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2565 กสม. และสำนักงานอัยการสูงสุดได้จัดทำบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน ร่วมกัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประสานความร่วมมือกันในการส่งเสริม คุ้มครองสิทธิมนุษยชน และให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากความไม่เป็นธรรมและการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วย
- กสม. ตรวจสอบกรณีพนักงานขับรถพ่วงถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรมจากสภาพรถไม่พร้อมใช้งาน แนะกระทรวงแรงงานเพิ่มระเบียบให้นายจ้างรับฟังคำชี้แจงก่อนเลิกจ้าง เพื่อคุ้มครองสิทธิแรงงานตามหลักสากล
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนเมื่อเดือนมกราคม 2565 ว่า ลูกจ้างตำแหน่งพนักงานขับรถพ่วงของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม สืบเนื่องจากพนักงานขับรถพ่วงรายดังกล่าวซึ่งมีหน้าที่ในการขับรถขนส่งปูนซิเมนต์ให้ทันตามรอบเวลาที่บริษัทกำหนด ในบางรอบด้วยเหตุสุดวิสัยทำให้ไม่อาจดำเนินการได้ทันเวลา เช่น สภาพรถไม่พร้อมใช้งาน หรือผู้เกี่ยวข้องไม่ได้เติมน้ำมันให้เพียงพอต่อการใช้งาน แม้พนักงานขับรถพ่วงรายดังกล่าวจะได้แจ้งปัญหาให้กับหัวหน้างานทราบแล้ว แต่ก็ไม่ได้รับการแก้ไขปัญหา ต่อมาในการขับรถส่งงานครั้งหนึ่งได้เกิดเหตุระบบคลัตช์ของรถมีกลิ่นเหม็นไหม้ พนักงานขับรถพ่วงรายดังกล่าวจึงไม่ได้ขับรถต่อไปเนื่องจากต้องรอการตรวจสอบสภาพรถ เป็นเหตุให้ฝ่ายบุคคลของบริษัทเอกชนผู้ถูกร้องบอกเลิกจ้างด้วยเหตุผลปฏิบัติงานล่าช้า แม้พนักงานขับรถพ่วงรายดังกล่าวจะพยายามติดต่อบริษัทเพื่อชี้แจงเหตุผลแล้ว แต่ก็ไม่ได้รับโอกาสให้ชี้แจงแต่อย่างใด ทั้งนี้ได้รับแจ้งว่าการเลิกจ้างระหว่างช่วงเวลาที่มีการปฏิบัติงานไม่ถึงสามเดือนไม่เป็นความผิด จึงขอให้ตรวจสอบ
กสม. พิจารณาแล้วเห็นว่า การที่บริษัทผู้ถูกร้องเลิกจ้างพนักงานขับรถพ่วงรายดังกล่าว โดยไม่แจ้งล่วงหน้าหรือจ่ายค่าจ้างแทนการบอกเลิกจ้างล่วงหน้า โดยอ้างเหตุว่าพนักงานไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อบังคับหรือข้อสั่งการของบริษัทอันเป็นเหตุยกเว้นในการแจ้งการเลิกจ้างล่วงหน้า หรือจ่ายเงินชดเชยแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านั้น การดำเนินการเลิกจ้างดังกล่าวจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อได้มีการตักเตือนลูกจ้างเป็นหนังสือแล้ว แต่จากการตรวจสอบไม่ปรากฏว่าบริษัทเคยมีหนังสือตักเตือนพนักงานขับรถพ่วงรายดังกล่าวแต่อย่างใด แม้บริษัทระบุว่าได้มีการตักเตือนด้วยวาจาโดยหัวหน้างานแล้ว แต่ก็ไม่ปรากฎบันทึกการตักเตือนด้วยวาจาตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับระเบียบการทำงานของบริษัทแต่อย่างใด จึงเป็นการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดต่อสิทธิที่พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ได้ให้การรับรองไว้ ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
อย่างไรก็ตาม แม้ปัจจุบันประเทศไทยยังมิได้ให้สัตยาบันในอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 158 ว่าด้วยการเลิกจ้าง ค.ศ. 1982 (พ.ศ. 2525) ซึ่งได้รับรองสิทธิในการชี้แจงเหตุผลต่อข้อกล่าวอ้างอันเป็นเหตุให้ถูกเลิกจ้างด้วยจากการกระทำหรือผลการปฏิบัติงานของตน และพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ไม่พบว่ามีข้อบัญญัติมาตราใดที่กำหนดให้นายจ้างจะต้องจัดให้มีกระบวนการตรวจสอบ หรือให้ลูกจ้างได้ชี้แจงต่อการกระทำของตนอันเป็นเหตุในการถูกเลิกจ้างก่อนการพิจารณาเลิกจ้างไว้เป็นการเฉพาะ แต่การถูกเลิกจ้างโดยไม่มีการตรวจสอบ หรือไม่ได้รับฟังข้อเท็จจริง เหตุผล ข้อโต้แย้งจากลูกจ้าง ย่อมเป็นการพิจารณาตัดสินที่ไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง ซึ่งนอกจากลูกจ้างจะต้องรับสภาพการถูกเลิกจ้างดังกล่าวแล้ว ยังต้องได้รับผลกระทบด้านประวัติการทำงานและโอกาสในการถูกพิจารณาเข้ารับการว่าจ้างในที่ทำงานแห่งใหม่ และแม้สภาพการจ้างงานจะเป็นข้อตกลงระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง แต่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าสถานะของลูกจ้างย่อมมีอำนาจในการต่อรองที่ด้อยกว่านายจ้าง อันเป็นที่มาของบทบัญญัติแห่งกฎหมายเพื่อให้การคุ้มครองสิทธิของลูกจ้างจากการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม
เพื่อให้เกิดการแก้ไขและป้องกันการกระทำซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิในลักษณะเดียวกันนี้กับลูกจ้างรายอื่นอีก กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2565 จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะไปยังกระทรวงแรงงาน บริษัทผู้ถูกร้อง และสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนครศรีธรรมราช สรุปได้ดังนี้
1) มาตรการในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ให้บริษัทผู้ถูกร้องปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับแรงงานซึ่งให้การคุ้มครองสิทธิของลูกจ้าง โดยกำชับให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อบังคับเกี่ยวกับระเบียบการทำงานของบริษัทอย่างเคร่งครัด รวมทั้งแจ้งสิทธิประโยชน์ที่ลูกจ้างพึงได้รับทั้งก่อนการว่าจ้างและเมื่อสิ้นสุดการว่าจ้าง และให้สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนครศรีธรรมราชพิจารณาให้บริษัทผู้ถูกร้องดำเนินการเยียวยาพนักงานขับรถพ่วงรายดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ ให้ดำเนินการภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งรายงานผลการตรวจสอบนี้
นอกจากนี้ ให้กระทรวงแรงงานพิจารณาให้มีการเพิ่มเติมกฎ ระเบียบ หรือข้อกำหนดหน้าที่ให้นายจ้างจะต้องจัดให้มีการสอบสวน หรือต้องรับฟังคำชี้แจงของลูกจ้างต่อข้อกล่าวอ้างอันเป็นเหตุให้ถูกเลิกจ้างก่อนเพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 158 ว่าด้วยการเลิกจ้าง ค.ศ. 1982 (พ.ศ. 2525) อันเป็นไปตามที่แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (พ.ศ. 2562 – 2565) ได้กำหนดให้กระทรวงแรงงานทบทวนกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองแรงงานที่ยังมีช่องว่างระหว่างกฎหมายและทางปฏิบัติ เพื่อปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นและสอดคล้องกับมาตรฐานสากล ทั้งนี้ ให้ดำเนินการภายใน 120 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งรายงานผลการตรวจสอบนี้
2) มาตรการในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
ให้กระทรวงแรงงานกำชับให้สำนักงานส่วนภูมิภาคส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการในพื้นที่รับผิดชอบนำแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี (Good Labour Practice: GLP) ไปใช้ในการบริหารจัดการธุรกิจของตน ตามที่ระบุไว้ในแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (พ.ศ. 2562 – 2565) และให้สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนครศรีธรรมราชส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเรื่องสิทธิแรงงานแก่นายจ้างและลูกจ้างในพื้นที่ความรับผิดชอบ โดยเฉพาะสิทธิในการได้รับการคุ้มครองจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมรวมทั้งช่องทางการร้องเรียน และกำชับให้นายจ้างปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานอย่างเคร่งครัด
สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
7 กรกฎาคม 2565