วันจันทร์, พฤศจิกายน 25, 2024
หน้าแรกสืบเศรษฐกิจการเงินก.ล.ต. “เกาไม่ถูกที่คัน”

Related Posts

ก.ล.ต. “เกาไม่ถูกที่คัน”

ผิดว่าไปตามผิด คำนี้มีจริงหรือไม่ ก.ล.ต.  ต้องพิสูจน์ ได้เวลายุติงานโชว์ตัว หันมาติดตามเงิน 2,000 ล้านคืนนักลงทุนจะดีกว่าไหม ประชาชนรอตรวจสอบพวกท่าน ว่าทำงานคุ้มเงินเดือน หรือ เป็นเพียงแค่ “เสือมีเส้น นอนกิน”

มัวแต่เดินสายโชว์ตัว อย่าหลงผิดคิดว่างาน ควบคุมกฎ ส่งเสริมนักลงทุน เป็นเวทีนางงาม จนหลงลืมตามงาน Zipmex Ziplock Zipup+ จากกรณีความเสียหาย 2,000 ล้านบาท ไหนๆ ก็ไปสิงคโปร์กลับมาประเทศไทย อย่าลืมตามงาน Zipmex กรณีเสริมสภาพคล่องว่าจริงหรือเท็จประการใด อย่าให้เกิดกรณีขายฝันแล้วฟันทิ้ง  เพราะนี่เป็นครั้งที่ 2 แล้ว ที่มีกระแสว่า Zipmex  จะมีนักลงทุนเครือ “มหากิจศิริ” ซึ่งสวนทางนักวิเคราะห์”

ถึงเวลา ก.ล.ต.  ยุติงานที่ไม่ใช่ภาระหน้าที่ หันมาติดตามภาระหน้าที่ให้ดีเสียก่อน ประชาชนรอตรวจสอบพวกท่าน ว่าทำงานคุ้มเงินเดือน หรือ เป็นเพียงแค่ “เสือมีเส้น นอนกิน”

ก.ล.ต. เข้าร่วมงานสัมมนาและนิทรรศการ Singapore FinTech Festival 2022 (SFF 2022) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 ระหว่างวันที่ 2 – 4 พฤศจิกายน 2565 ณ Singapore EXPO สาธารณรัฐสิงคโปร์ เพื่อประชาสัมพันธ์บทบาทหน้าที่ของ ก.ล.ต. และความคืบหน้าในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในตลาดทุนไทย รวมทั้งติดตามพัฒนาการของเทคโนโลยีทางการเงินเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดนโยบายและการยกระดับการพัฒนาและกำกับดูแลตลาดทุนไทยสู่ “ตลาดทุนดิจิทัล”

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ความคืบหน้าในดำเนินโครงการต่าง ๆ ในช่วงที่ผ่านมา เช่น โครงการ Digital Infrastructure ในตลาดทุนไทย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) ภาพรวมและการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล การระดมทุนและการประกอบธุรกิจโดยใช้เทคโนโลยีทางการเงิน   รวมถึงติดตามพัฒนาการของเทคโนโลยีทางการเงินของโลก ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีทางการเงิน สามารถนำข้อมูลและมุมมองที่หลากหลายจากทั้งหน่วยงานภาครัฐ ผู้ประกอบธุรกิจ และผู้ลงทุนจากหลายประเทศทั่วโลก มาปรับใช้ในการยกระดับการพัฒนาและกำกับดูแลตลาดทุนไทยสู่ตลาดทุนดิจิทัลให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและสามารถส่งเสริมศักยภาพเศรษฐกิจของประเทศได้ ทั้งนี้ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา บูธ ก.ล.ต. ได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมงานจำนวนมาก ทั้งผู้ลงทุน ประชาชน และผู้ประกอบธุรกิจ

การเดินทางไปสิงคโปร์ ก.ล.ต. น่าจะได้เปิดโลกกว้างมากขึ้น ซึ่งนอกจากการไปโชว์ตัวและ PR แล้ว ก.ล.ต. อย่าลืมนำผลงานของเอกชนทั้งวงการตลาดทุน และวงการคริปโตเคอร์เรนซี่ของเอกชนไปโฆษณาด้วยก็แล้วกัน แม้จะส่อว่าเป็นการเคลมผลงานก็เถอะ  ชี้แจงต่อสาธารณะไปด้วยความภาคภูมิใจไปเลยว่า สภาพแวดล้อมการลงทุนไทยพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว แม้กระทั่งบัญชีเทรดคริปโตเคอร์เรนซี่ยังสามารถเติบโตได้ 3 ล้านบัญชีในเวลาเพียง 2-3 ปีเท่านั้นเทียบเท่าการทำงานด้านตลาดหุ้นของ ก.ล.ต. ที่ใช้เวลาถึง 40 ปี ถึงจะเท่าทันเอกชน

แผ่นดินสิงคโปร์อาจไม่ทำให้ เลขา ก.ล.ต. ตะขิดตะขวงใจสักเท่าไหร่ เพราะขนาดอยู่ในประเทศไทย ก.ล.ต. ก็อาจจะหลงลืมไปด้วยซ้ำว่า ยังมีผู้เสียหายจากการระดมเงินเข้า  Zipmex Ziplock Zipup+ ถอนเงินออกจากแพลตฟอร์ตไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ จากกรณีความเสียหาย 2,000 ล้านบาท โดยกรณีดังกล่าวเมื่อ ก.ล.ต. จะไปเหยียบเวทีนานาชาติ บนแผ่นดินประเทศใดก็ตาม คำว่า “ก.ล.ต.ไม่เคยปรึกษาหารือมาก่อน” ยังดังก้องในหูในหมู่นักลงทุนอยู่ นั่นแสดงให้เห็นถึงการไร้ความสามารถหรือไม่ ในการควบคุมจัดการความเสี่ยง โดยรู้ไม่เท่าทันกลเกมส์กระดานเทรดเอกชนรายดังกล่าว เท่านั้นยังไม่พอถึงวันนี้ก็ยังไม่มีมาตรการใดๆ ที่เป็นรูปธรรม ในการจัดการปรับเงินในจำนวนที่ใกล้เคียงความเสียหายนับพันล้านบาท ส่วนมาตรการลงโทษทางอื่นๆ ก.ล.ต. ส่อว่า ทำได้เพียงอ้อนวอนเรียกเอกสารชี้แจง โดยไม่คำนึงถึงคำตอบว่าอีกฝ่ายจะให้ความร่วมมือแบบ “ไปไหนมา-สามวาสองศอก” หรือไม่

ไม่อยากจะคิดว่า หากกรณีนี้เกิดขึ้นกับเอกชนค่ายอื่น ก.ล.ต. จะฟาดฟันโดยใช้ทุกยุทธวิธีเล่นใหญ่เพียงไร เผลอๆ DSI และตำรวจไซเบอร์ต้องทำสำนวน รื้อค้น ตรวจยึดเอกสาร หลักฐาน ทั้งที่จำเป็นและไม่จำเป็น มีภาพข่าวให้เสียหายปรากฎแพร่ขยายทั้งวงการ อาจถึงขั้นธุรกิจเจ๊งระนาวไม่เป็นท่า

จากที่ดำเนินการไปแล้วนอกจากการปรับเงินในข้อหาเบาๆ เล็กน้อย  เพียง 1.92 ล้านบาท ผู้เสียหายแทบเป็นลม  ค่าปรับที่ลงดาบเล็กน้อย คล้ายกับยอมจำนนหรือไม่ ส่อยอมรับสภาพว่าตนเองไม่มีอำนาจ รอเพียงศาลสิงคโปร์ ไปจนถึงวันที่ 2 ธันวาคม 2565 เพื่อให้  Zipmex หาผู้ร่วมหุ้นนำเงินมาลงทุนเสริมสภาพคล่อง

ที่ผ่านมากรณี Zipmex Ziplock Zipup+  เมื่อ ก.ล.ต. เข้าให้ข้อมูล DSI และตำรวจไซเบอร์ สิ่งที่ได้ยินจนชินหูคือ “ต้องพิจารณาว่ามีการกระทำผิดตามกฎหมายอื่นๆ หรือไม่อย่างไร นอกเหนือจากความผิดภายใต้พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ) ที่ ก.ล.ต. มีอำนาจดำเนินการในฐานะผู้กำกับดูแล และยังบอกว่าการเข้าไปหารือกับดีเอสไอ เนื่องจากเป็นห่วงนักลงทุน จึงจะจับมือกับดีเอสไอ ที่จะบูรณาการ การทำงานร่วมกับหน่วยงานในการบังคับใช้กฎหมาย”

เพราะการบูรณาการเสียจนเนิ่นนาน หรืองอมืองอเท้ารอ…. ตามศาลสิงคโปร์ที่ให้ Zipmex พักชำระหนี้ ครอบคลุมระยะเวลาจนถึงวันที่ 2 ธันวาคม 2022 ส่งผลให้บริษัททั้ง 5 ของ Zipmex ได้รับการคุ้มครองไม่ให้เจ้าหนี้รายใดก็ตามที่อยู่ภายใต้เขตอำนาจของศาลสิงคโปร์สามารถยื่นฟ้องหรือการดำเนินการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายในระยะเวลาดังกล่าวเป็นการชั่วคราว ซึ่งอีกไม่กี่วันก็จะครบวันที่ 2 ธันวาคม 2565 แล้ว ไม่แน่ใจว่าบริษัทเอกชนที่มาเปิดในประเทศไทย กระทบเจ้าหนี้คนไทยโดยตรง อยู่ภายใต้เขตอำนาจศาลสิงคโปร์ด้วยหรือไม่ จนไม่สามารถดำเนินการฟ้องร้องแทนนักลงทุนได้

สำหรับกระแสข่าวที่มาเป็นระยะ แต่ก็ไม่มีใคร หรือแม้แต่ ก.ล.ต. เรียกกระดานเทรดดังกล่าวไปชี้แจงข้อเท็จจริง เพราะเป็นข่าวเชิงบวกสร้างความหวังให้เจ้าหนี้ แต่ถ้าสุดท้ายปลายทางเป็นเพียงเรื่องขัดตาทับ ก็ตัวใครตัวมัน

นี่เป็นครั้งที่ 2 แล้ว ที่มีกระแสว่า Zipmex  จะมีนักลงทุนเครือ “ประยุทธ มหากิจศิริ” มาร่วมลงทุน ต่อมามีรายงานจากสำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า บริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด (Zipmex) ได้ตอบกลับอีเมลกับทางสำนักข่าวว่า บริษัทเตรียมที่จะขายหุ้นส่วนใหญ่ให้กับบริษัทแห่งหนึ่งในสัปดาห์นี้ โดยไม่ได้ระบุว่าเป็นบริษัทอะไร

แหล่งข่าวที่ไม่ระบุตัวตน ให้ข้อมูลว่า Zipmex อยู่ระหว่างเจรจากับ “วี เวนเจอร์ส” ซึ่งเป็น Ventures Capital ที่อยู่ในเครือของกลุ่ม TTA แต่ค้านกับสายตาเหยี่ยวข่าวจากการวิเคราะห์ของสื่อ  ที่มองว่าหาก Zipmex ไม่สามารถกู้คืนความเชื่อมั่น โดยการจ่ายเงินคืนให้กับลูกค้า ก็น่าจะเป็นการยากที่จะเห็นเงินลงทุนที่ “วี เวนเจอร์ส” ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ TTA กลับคืนมาได้ นี่ยังไม่นับรวมไปถึงความเชื่อมั่นในตลาดคริปโตฯ และความเชื่อมั่นใน Zipmex ที่หายไป ทำให้มีลูกค้าปิดบัญชีเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้อนาคตของ Zipmex ดูไม่ดีเท่าที่ควร  ก็อย่างว่า…เมื่อลูกค้าขาดความเชื่อมั่น ประกอบกับเป็นจังหวะตลาดคริปโตฯ กลายเป็นขาลงเช่นนี้ ทำให้ใครก็ตามที่เข้าไปเกี่ยวข้อง ต่างก็ได้รับผลกระทบตามมาด้วยเท่านั่นเอง

แต่งานนี้ยากที่จะบอกปัด ว่า ไม่ได้อยู่ในอำนาจหน้าที่ นอกเหนือ พรก. สินทรัพย์ดิจิทัล อย่างน้อย ต่อมความห่วงใยนักลงทุนไทยก็ควรทำงานอยู่บ้าง… ตัวอย่างบางกรณีมองเห็นอยู่ไม่มีอำนาจแต่ยังทำงานได้ เช่นว่า เอกชนผู้ออกแบบบล็อกเชนเหรียญต่างๆ แม้ ก.ล.ต. ไม่ได้มีอำนาจหน้าที่ ก.ล.ต. ยังฝากกระดานเทรดไปชี้แจงให้ปรับปรุงเงื่อนไขเหรียญแบบอีรุงตุงนัง ก็มีมาให้เห็นแล้ว

อีกงานที่นอกอำนาจไม่ใช่หน้าที่ ก.ล.ต. ยังแสดงออกชัดเจนว่าห่วงใย เฉกเช่นเรื่อง ที่ ก.ล.ต. ออกประกาศฉบับที่ 197 / 2565 ขอให้ประชาชนใช้ความระมัดระวังและพิจารณาอย่างรอบคอบ หากถูกชักชวนให้ลงทุนในเหมืองขุดคริปโตเคอร์เรนซี (cryptocurrency mining) เนื่องจากมีความเสี่ยงหลายด้านและไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานกำกับดูแลของไทย

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ขอแจ้งว่า การลงทุนในเหมืองขุดคริปโตเคอร์เรนซีมีความเสี่ยงหลายด้านที่ต้องพิจารณาให้รอบคอบ ทั้งในด้านความผันผวนของราคาคริปโตเคอร์เรนซี ความเสี่ยงจากสภาพการแข่งขันของตลาด การเสื่อมค่าของอุปกรณ์ ค่าไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้น อาจมีความเสี่ยงด้านความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลและทรัพย์สินของผู้ทำธุรกรรม รวมทั้งอาจมีบางกรณีที่ผู้มีเจตนาไม่ดีอาศัยเป็นช่องทางในการหลอกลวง (scam) โดยไม่มีการลงทุนจริงอีกด้วย

นอกจากนี้ ธุรกิจเหมืองขุดคริปโตเคอร์เรนซี ไม่ได้เป็นธุรกิจที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลตามพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 (พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ) และหน่วยงานกำกับดูแลของไทย อย่างไรก็ดี หากผู้ประกอบธุรกิจดังกล่าวมีการออกเสนอขายโทเคนดิจิทัล หรือให้บริการเกี่ยวกับการซื้อขาย หรือแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลตามที่กำหนดประกอบด้วย ต้องได้รับอนุญาตตาม พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ ก่อนดำเนินการ หากฝ่าฝืนจะมีโทษตามที่กฎหมายกำหนด

ดังนั้น ประชาชนที่ได้รับการชักชวนให้ร่วมลงทุนและผู้ที่สนใจลงทุนหรือทำธุรกรรมเกี่ยวกับเหมืองขุดคริปโตเคอร์เรนซีจึงควรใช้ความระมัดระวังในการทำธุรกรรม โดยศึกษาและพิจารณาข้อมูลเกี่ยวกับการขุดคริปโตเคอร์เรนซีและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งพิจารณาความน่าเชื่อถือของผู้ประกอบการที่เสนอสินค้าหรือบริการดังกล่าว

ทั้งนี้ ในปัจจุบัน ก.ล.ต. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างร่วมกันพิจารณาทบทวนแนวทางการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อให้มีการคุ้มครองผู้ลงทุนอย่างเหมาะสม

ชัดเจนแล้วนะว่า บางเรื่องก็นอกเหนือ พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัล ก.ล.ต. ยังแอคชั่นได้เต็มที่  แล้วเหตุไฉนประเด็นคาบเกี่ยวอำนาจหน้าที่ ไม่แอคชั่น จัดการให้เด็ดขาด ก่อนจะตั้งหน้าตั้งตา PR ผลงานเอกชนไทย ก่อนจะเดินสายดูไบ และต่อด้วย Singapore EXPO สาธารณรัฐสิงคโปร์ อย่าเผลอลืม…. ติดตามความคืบหน้าความเสียหายคนไทย 2,000 ล้านบาท หรืออย่างน้อยก็ตั้งโต๊ะชี้แจงว่าจะจัดการกับบริษัทลูกในไทย ตอบชัดเจนกันไปว่าอำนาจการฟันฉับในไทย อยู่ในหรือนอกอำนาจศาลสิงคโปร์

สัปดาห์หน้าถ้าหากการเสริมสภาพคล่อง Zipmex โดยนักลงทุนตัวจริงไม่มีความคืบหน้า ค้านสายตาประชาชน ตามกระแส ก.ล.ต. ก็ควรดิ้นทำอะไรสักอย่างเพื่อคนไทย นักลงทุนไทย แต่ถ้าถือตัว เล่นบทเงียบฉี่อีก ประเดี๋ยวเสียงประชาชนจะตรวจสอบพวกท่าน ถามหาว่าทำงานคุ้มเงินเดือน

หรือเป็นเพียงแค่ “เสือ มีเส้น นอนกิน”

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts