นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธาน กมธ.แก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา ยื่นจดหมายถึงนายกฯ ตั้ง’กองทุน SIF COVID -19’ ฟื้นเศรษฐกิจแต่ความยากจน คาด 3 ปีประชาชนและชุมชนท้องถิ่น ที่ได้รับผลกระทบจากวิฤติโควิด-19 ได้ประโยชน์ไม่ต่ำกว่า 30 ล้านคน
นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธาน กมธ.แก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา เปิดเผยว่า ‘ วันนี้ (29 กค 2564) ตนได้ยื่นหนังสือ เสนอ ตั้ง ‘โครงการกองทุนเพื่อการฟื้นฟูสังคมและเศรษฐกิจฐานรากจากวิกฤติ COVID-19” เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ แก้ไขปัญหาความยากจน ซึ่งสอดคล้องกับแผนปฏิรูปประเทศด้านสังคม
‘เราขอให้นำบทเรียนรู้จากโครงการกองทุนเพื่อการลงทุนทางสังคม (SIF – Social Investment Fund) ที่เคยใช้ได้ผลในยุควิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง มาปรับใช้ในการฟื้นฟูสังคมในยุคโควิด’
‘รัฐบาลยุคนั้นได้ตั้งกองทุนเพื่อการลงทุนทางสังคม (Social Investment Fund)ขึ้น ใช้เงินกู้จาก IMF ภายใต้คำแนะนำอย่างใกล้ชิดของธนาคารโลก โดยมอบธนาคารออมสิน หน่วยงานที่ไม่ใช่ราชการแต่เป็นรัฐวิสาหกิจ(กึ่งรัฐกึ่งธุรกิจ) ให้เป็นหน่วยดูแลรับผิดชอบ
สนับสนุนเงินให้แก่โครงการที่ตอบสนองความต้องการชุมชนและเพื่อชุมชน โดยองค์กรท้องถิ่นและชุมชนเป็นผู้ริเริ่มเสนอโครงการโดยตรง กองทุน SIF ได้สนับสนุนโครงการแก่องค์กรชุมชนต่างๆ รวม 7,874 โครงการ ในวงเงิน 4,401 ล้านบาท ประชาชนได้รับประโยชน์จากโครงการรวมทั้งสิ้น 13.0 ล้านคน ในระยะ 49 เดือนระหว่างพฤศจิกายน 2541 – มกราคม 2546
“วิกฤตต้มยำกุ้ง” อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยปี 2541 ติดลบ 7.6% ส่วนผลกระทบจากสถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิด-19 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่าจีดีพีปี 2563 หดตัว -8.1% และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์อยู่ที่ติดลบ -7.7% น่าจะ “รุนแรงกว่าวิกฤตต้มยำกุ้ง” เพราะเศรษฐกิจไทยพึ่งพาภาคการส่งออกและท่องเที่ยวในสัดส่วนสูง’
นายสังศิต กล่าวอีกว่า ‘ธนาคารโลก โควิด-19 จะทำให้คนไทยเข้าสู่ภาวะยากจนเพิ่มขึ้นในปี 2563 เป็น 5,200,000 คน หรือ เพิ่มขึ้น 1,500,000 คน หากเทียบกับปี 2562 ที่มีคนยากจนอยู่ที่ 3,700,000 คน ผลกระทบนี้ทำให้ประชาชนเดือดร้อนจากปัญหาเศรษฐกิจก็จะมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของตนเองและคนในครอบครัวตามมา โดยเฉพาะกลุ่มคนยากจน-กลุ่มเปราะบาง ซึ่งจะยิ่งทำให้สังคมไทยเกิดปัญหาช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางสังคมตามมาด้วย’
จึงเสนอ นายกรัฐมนตรีให้จัดตั้ง “โครงการกองทุนเพื่อการฟื้นฟูสังคมและเศรษฐกิจฐานรากจากวิกฤติ COVID-19” เพื่อขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมจากพลังทางสังคมและชุมชนท้องถิ่นทั่วประเทศ แก้วิกฤติครั้งนี้’
ลักษณะจะเป็นโครงการพิเศษเฉพาะกิจของรัฐบาล ระยะเวลาดำเนินการ ๓ ปี ไม่เกิน ๔๐ เดือน กรอบงบประมาณไม่เกิน ๑๗,๐๐๐ ล้านบาท ประมาณร้อยละ ๑๐ ของแผนงานฟื้นฟูฯ (ตาม พรก.กู้เงินโควิดรอบสอง) เมื่อเสร็จภารกิจหรือหมดเวลาตามกำหนดแล้วให้ยุบตัวลง
นายสังศิต เสนอให้สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และกระทรวงการคลังกำกับดูแลโครงการนี้ โดยมีสำนักงานบูรณาการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและแก้ความยากจน ที่รัฐบาลตั้งขึ้นมาแล้วโดยระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี (๒๕๖๓) เป็นกลไกดำเนินการ และมีองค์กรภาคี “ร่วมปฏิบัติการ” ที่หลากหลาย ทั้งภาครัฐ องค์การมหาชน ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม เช่น
- สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) ศูนย์คุณธรรม(องค์การมหาชน)
- กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงวัฒนธรรม
- มูลนิธิพัฒนาไท มูลนิธิพัฒนาประชาสังคม สมาคมองค์กรสาธารณประโยชน์ มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา บริษัทประชารัฐรักสามัคคี(วิสาหกิจเพื่อสังคม) เครือข่ายสภาประชาสังคมไทย เครือข่ายประชาสังคมจังหวัด เครือข่ายสภาองค์กรชุมชน เครือข่ายชุมชนคุณธรรม เครือข่ายสภาวัฒนธรรม เครือข่ายธนาคารคลังสมอง
‘คาดว่าจะมีโครงการขององค์กรชุมชน ท้องถิ่นและภาคประชาสังคมที่ได้รับการสนับสนุนประมาณ 30,000 โครงการ มีประชาชนและชุมชนท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากวิฤติโควิด-19 ได้รับประโยชน์ไม่ต่ำกว่า 30 ล้านคน’
‘ในระยะยะยาวจะเป็นการเพิ่มศักยภาพในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและสังคม(Resilience) และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน อันเป็นเป้าหมายสำคัญในยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศในหลายด้าน’ นายสังศิต กล่าวในที่สุด