ปตท.สผ.จ่อซื้อหุ้น 59%
แหล่งก๊าซของเมียนมา
หลัง ตต.ถอนตัวประท้วง รบ.เผด็จการ
PTTEP ปตท.สผ. เล็งซื้อหุ้น 59% ในแหล่งก๊าซยาดานา ของเมียนมา หลัง โททัลเอนเนอร์จีส์ และเชฟรอน ถอนทุน เพื่อประท้วงรัฐบาลทหารที่ใช้ความรุนแรงกับประชาชนเมียนมา
สำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานว่า บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) กำลังประมูลเพื่อเข้าควบคุมแหล้งก๊าซยาดานาของเมียนมา หลังจาก TotalEnergies และ Chevron จะถอนทุนออกจากประเทศ เพื่อประท้วงรัฐบาลทหารที่ยังคงใช้ความรุนแรงต่อพลเรือนนับตั้งแต่รัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564
ซอ มิน ทุน โฆษกสภาบริหารแห่งรัฐ เปิดเผยว่า บริษัท PTT Ex[loration and Production Pcl ซึ่งเป็นบริษัทย่อย PTTEP ได้เสนอซื้อหุ้นรวมกัน 59.5% ที่ TotalEnergies และ Chevron ถือครองอยู่
ขณะเดียวกัน บริษัทท้องถิ่นหลายแห่งก็กระตือรือร้นที่จะเป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้ และการเจรจาได้เริ่มต้นขึ้นระหว่างรัฐบาล PTTEP และผู้ซื้อรายอื่น ๆ ที่สนใจ
“PTTEP เสนอเข้าซื้อหุ้น TotalEnergies และ Chevron ทั้งหมด แต่เราไม่แน่ใจว่าเราควรอนุญาตให้ซื้อหุ้นทั้งหมดเหล่านี้หรือไม่” ซอ มิน ทุน กล่าว
บลูมเบิร์ก ชี้ว่า บริษัทไทยกำลังจะกลายเป็นหนึ่งในผู้รับผลประโยชน์จากการที่บริษัทตะวันตกจะถอนตัวออกจากอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ ท่ามกลางความกังวลเรื่องการคว่ำบาตรครั้งใหม่ ในขณะที่สหรัฐฯ ได้ลงโทษการคว่ำบาตรครั้งใหม่ของหน่วยงานและบุคคลที่เชื่อมโยงกับรัฐบาลเผด็จการเมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยมองว่าอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซเป็นแหล่งจัดหาทรัพยากรทางเศรษฐกิจให้กับระบอบทหาร
โครงการผลิตก๊าซธรรมชาติยาดานา และ MGTC ประกอบด้วยผู้ร่วมทุน ได้แก่ บริษัท TotalEnergies EP Myanmarถือสัดส่วน 31.2375% และเป็นผู้ดำเนินการบริษัท Unocal Myanmar Offshore Company Limited (UMOCL) สัดส่วน 28.2625%บริษัท PTTEPI สัดส่วน 25.5% และ Myanmar Oil and Gas Enterprise (MOGE) สัดส่วน 15%
“PTTEP อยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางการบริหารจัดการในเรื่องนี้ โดยจะคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดด้านความมั่นคงทางพลังงานของประเทศไทยและเมียนมาเป็นสำคัญ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้พลังงานของประชาชนทั้งสองประเทศ” PTTEP กล่าวในแถลงการณ์
โครงการยาดานา มีอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติในปี 2021 ประมาณ 770 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยส่งก๊าซธรรมชาติให้กับประเทศไทย ประมาณ 570 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เพื่อใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าให้กับพื้นที่ภาคตะวันตกของไทย โดยปริมาณดังกล่าวคิดเป็น 10-15% ของความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในไทย ขณะที่อีกประมาณ 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ใช้สำหรับผลิตกระแสไฟฟ้าในเมียนมา และคิดเป็นประมาณ 50% ของความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในเมียนมา
“เราคาดว่าจะมีการตัดสินใจที่เป็นรูปธรรมภายในเดือนนี้” ซอ มิน ทุน กล่าว พร้อมเสริมว่า ผู้บริหาร PTTEP อยู่ในเมียนมาแล้ว เพื่อหารือเกี่ยวกับข้อเสนอกับเจ้าหน้าที่กระทรวงไฟฟ้าและพลังงาน
สำหรับปี 2021 PTTEP มีรายได้รวม 7,314 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 234,631 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 37% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 1,211 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 38,864 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 68% ด้วยกัน