วันที่ 17 ม.ค.66 ที่ ห้องสัมมนา กรมราชทัณฑ์ จ.นนทบุรี นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เป็นประธานการประชุมคณะที่ปรึกษาและคณะทำงานโครงการบูรณาการเพื่อปรับปรุงแนวทางการดำเนินงานด้านการบำบัดและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ต้องขังติดยาเพสติด ระบบต้องโทษ กรมราชทัณฑ์ ครั้งที่ 1/2566 โดยมี นายนิยม เติมศรีสุข อดีตรองปลัดกระทรวงยุติธรรม นพ. ภัทรพล จึงสมเจตไพศาล ที่ปรึกษาระดับกระทรวง ผู้อำนวยการสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด กระทรวงสาธารณสุข นายธนากร คัยนันท์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด นพ.สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) น.ส.จุฑารัตน์ จินตกานนท์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ฝ่ายวิชาการ ตลอดจนข้าราชการและเจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทรวงยุติธรรม และกระทรวงสาธารณสุข เข้าร่วมประชุมฯ ดังกล่าว
นายอายุตม์ กล่าวว่า โดยการประชุมในครั้งนี้ ได้ร่วมกันหารือปรับปรุงแนวทางการดำเนินงานด้านการบำบัดและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ต้องขังติดยาเสพติด ระบบต้องโทษ กรมราชทัณฑ์ให้มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลยิ่งขึ้นไป โดยขั้นตอนการบำบัดและฟื้นฟูฯ เริ่มตั้งแต่กระบวนการจำแนก/คัดกรองผู้ต้องขังเข้าใหม่ทุกราย โดยใช้แบบคัดกรองเพื่อแบ่งกลุ่มผู้เคยมีประวัติใช้ยาเสพติดออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้ใช้ กลุ่มผู้เสพฯ และกลุ่มผู้ติด เพื่อให้ได้รับการบำบัดและฟื้นฟูอย่างถูกต้อง ทั้งในด้านการปรับเปลี่ยนบุคลิกภาพ ทัศนคติ ความคิด และพฤติกรรมให้มีความเข้มแข็งไม่หวนกลับไปใช้ยาเสพติดอีก และเมื่อได้รับการบำบัดฯ แล้ว จะได้รับการติดตามดูแลตามกรอบเวลา ขณะถูกควบคุมอยู่ภายในเรือนจำและทัณฑสถาน และเมื่อใกล้ครบกำหนดพ้นโทษจะได้รับการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยของผู้ต้องขังติดยาเสพติดโดยเฉพาะ ด้วยหลักสูตรการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ต้องขังติดยาเสพติดก่อนพ้นโทษ เพื่อเตรียมความพร้อมและส่งเสริมองค์ความรู้ด้านทักษะชีวิต ทักษะสังคม และการป้องกันการเสพยาซ้ำ
นายอายุตม์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โดยการร่วมหารือในครั้งนี้ มุ่งเน้นการทบทวนและปรับปรุงหลักสูตรชุมชนบำบัด CARE Model ซึ่งใช้วิธีชุมชนบำบัด (Therapeutic Community) ที่เรียกว่า “CARE Model” โดยนำรูปแบบการบำบัดและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดของกระทรวงสาธารณสุข มาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพแวดล้อม กฎ ระเบียบ ของเรือนจำ ซึ่งกรมราชทัณฑ์ได้ให้ความสำคัญและตระหนักถึงปัญหาอาชญากรรมที่เกิดขึ้นจากยาเสพติดรวมถึงความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของคนในสังคม เพื่อลดปัญหาจากการเสพสารเสพติดและลดการกระทำผิดซ้ำอีก นอกจากนี้ ยังมีการหารือเพื่อพัฒนา แนวทาง การส่งต่อข้อมูล ผู้ต้องขัง ที่ผ่านการบำบัด และ ฟื้นฟู ผู้ติดยาเสพติด ในระบบต้องโทษ ให้ศูนย์ ฟื้นฟู สภาพทางสังคม ผ่านช่องทางศูนย์ CARE เพื่อติดตาม ดูแล และ ให้ความช่วยเหลือ ผู้ผ่านการบำบัด ที่พ้นโทษต่อไป