กำลังเป็นประเด็น “ทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์” ที่ทำเอาหน่วยงานของรัฐที่เป็นอิสระ กสทช.แตกโพล๊ะ!
“…เมื่อประธาน กสทช.”หักดิบ” รวบอำนาจตั้งเลขาธิการ กสทช. อ้างต้องทำงานเข้าขา- ก็ต้องหา “ผู้รู้ใจ” แม้ กสทช.กว่าครึ่งจะรวมหัวกันทักท้วง ชี้ขัดระเบียบข้อบังคับ -ขัดกม.จัดตั้ง กสทช.ที่ต้องเป็นอำนาจบอร์ดทั้งชุด แต่ประธาน กสทช.ยังคงยืนกราน “จะเอาอย่างงี้” (ทำเอา “อีแจ๋ว-คนขับรถ” ในบ้านยิ้มหน้าบานกันเป็นแถว…..เพราะดูแววแล้ว มีสิทธิ์ “คั่ว” ตำแหน่งบิ๊กบึ้มเอาได้ทุกเมื่อ…”
กับกรณีที่ ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช.”ทุบโต๊ะ” รวบอำนาจเบ็ดเสร็จในการดำเนินการคัดสรรและแต่งตั้งเลขาธิการ กสทช. ” แต่เพียงผู้เดียว” ปรับเปลี่ยนกระบวนการสรรหามาเป็นกระบวนการคัดเลือกและแต่งตั้งเอง โดยคำสั่งและความเห็นชอบของประธาน กสทช.แบบ “ม้วนเดียวจบ”
กสทช.ทั้งคณะเป็นได้แค่ “ไม้ประดับแจกัน” เท่านั้น (อย่าสะเออะ)มาตั้งคำถามว่าตนเองมีอำนาจหรือไม่? พร้อมเปิดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนไปวันวาน ยืนยัน และนั่งยัน (หรือจะให้ตีลังกายันก็ยังได้) ว่า การสรรหาเลขาธิการ กสทช.นั้นมีกฎหมายเฉพาะตามมาตรา 60,61 ระบุว่า ประธานมีอำนาจแต่งตั้งและปลดเลขาธิการ กสทช.ได้
การเลือกเลขาฯ กสทช.ทำได้ 2 วิธีคือ คือ เลือกเอง หรือ ให้บอร์ดเลือก ดังนั้นเมื่อเลขาฯมีหน้าที่ทำงานใกล้ชิดประธาน และประธานต้องดูแลสำนักงาน กสทช. ขณะที่บอร์ดที่เหลือไม่ใช่ จึงจำเป็นต้องเลือกคนที่ทำงานกับตนเองได้ “ผมไม่ได้แปลผลตามกฎหมายเอง ถ้าอ่านตามตัวหนังสือ ตอนที่อยู่กันกับบอร์ด 5 คน เราก็ส่งให้อนุกรรมการกฎหมายดูแล้วว่าเหมาะสม ซึ่งอนุฯบอกว่าประธานจะใช้กระบวนการอย่างไรก็ได้ ทั้งเปิดรับสมัคร หรือ เชื้อเชิญ หรือ เลือกใครที่มีคุณสมบัติก็ได้ และให้กรรมการเห็นชอบ ผมไม่ได้กินเอง ชงเอง”
เป็นอันว่า ไม่ว่าจะมีข้อทักท้วงหรือโต้แย้งจาก กสทช.อย่างไร ท่านประธาน กสทช.ของเราก็ยืนยัน และนั่งยัน (หรือจะให้ตีลังกายันก็ได้) ว่าจะไม่มีการทบทวนใด ๆ โดยจะเดินหน้าเปิดรับสมัครเร็วที่สุด ใช้กระบวนการเปิดรับสมัคร 14 วัน โดยจะเลือกเองเหลือ 1 คน เสนอบอร์ดให้ความเห็นชอบ (หรือรับเบอร์ แสตมป์”เท่านั้น ซึ่งคาดว่าจะได้ตัวเลขาฯภายในเดือน เม.ย.นี้
ทำเอากระจิบกระจอกข่าวที่นั่งสดัปรับฟังอยู่ด้วยต่างก็เงียบงัน ไม่กล้าถามว่า เกิดหากบอร์ด กสทช. ”ไม่เห็นชอบ” ล่ะ?เพราะกลัวท่านจะสวสนกลับมาว่า “ก็คงจะตั้งอยู่ดี” ว่างั้นเหแอเ เพราะเป็นเลขาธิการ(ส่วนตัว)ของประธานว่างั้นเหอะ !
มิน่าหล่ะ! ถึงมีกระแสข่าวสะพัดก่อนหน้า แม้แต่ “อีแจ๋ว” หรือคนขับรถของท่านประธาน ยัง “วี้ดว้ายกระตู้วู้” ยิ้มกริ่มดีใจจนเนื้อเต้นไปตามๆ กัน ก็ในเมื่อท่านประธานประกาศยืนยันมีอำนาจ “ชงเอง-ตั้งเอง” เบ็ดเสร็จขนาดนี้ แถมยังยืนยันว่าที่เลขาธิการคนใหม่ต้องเป็นคนที่รู้ใจ ไว้ใจถึงจะทำงานร่วมกันได้แบบนี้ ก็มีแต่ “อีแจ๋ว-คนรับใช้ในบ้าน” ของท่านประธานเท่านั้นแหละที่ก็สิทธิ์ จริงไม่จริง!
ขณะที่ 3 กสทช.ที่ประกอบด้วย ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต , รศ.ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย และ พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ ร่วมกันทำหนังสือทักท้วงไปยังประธาน กสทช.ยืนยันไม่รับทราบและไม่เห็นชอบกับมติที่ประชุม กสทช.นัดพิเศษในครั้งนี้ พร้อมร่ายยาว เป็นมติที่ “ไม่ชอบด้วยระเบียบ กสทช. และ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553”
โดยยืนยันว่า ตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553 มาตรา 63 (7) บัญญัติให้เลขาธิการ กสทช. พ้นจากตำแหน่งเมื่อ กสทช. มีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนกรรมการทั้งหมดให้ออกจากตำแหน่ง เพราะบกพร่องต่อหน้าที่ มีความประพฤติเสื่อมเสีย หย่อนความสามารถ หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้
ดังนั้น อำนาจของ ประธาน กสทช. ในการเป็นผู้แต่งตั้งและถอดถอนเลขาธิการ กสทช. ตามมาตรา 61 จึงเป็นเพียงกระบวนการทางธุรการเท่านั้น ไม่ใช่อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดของประธาน กสทช. ที่จะเป็นผู้เสนอชื่อ แต่งตั้ง และถอดถอนเลขาธิการ กสทช.ได้เอง แต่เป็นอำนาจของ กสทช. “ทั้งคณะ” ประธาน กสทช. เป็นผู้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งหรือถอดถอนเท่านั้น
ก็ให้น่าแปลก! ที่กับกรณีการควบรวมธุรกิจระหว่าง “ทรูและดีแทค” ที่มีปัญหาข้อกฎหมายทำได้หรือไม่ได้อย่างไรนั้น ท่านประธานและ กสทช.กลับอัญเชิญกรณีดังกล่าวแห่แหนไปรอบเมือง ทั้งตั้งอนุกรรมการศึกษาไม่รู้กี่ชุดต่อกี่ชุด จัดเวทีประชาพิจารณาโฟกัส กรุ๊ป ไม่รู้จักกี่ครั้งยังไม่รวมเวทีคู่ขนานของภาคประชาชนและนักวิชาการมหาวิทยาลัย ว่าจ้างที่ปรึกษาทั้งไทยและต่างประเทศหมดเงินไปไม่รู้กี่สิบกี่น้อยล้าน
แม้ถนนทุกสายจะยืนยัน นั่งยันว่า กสทช.มีอำนาจตามตัวบทกฎหมายในการพิจารณาอนุมัติ-ไม่อนุมัติดีลควบรวมกิจการที่ว่านี้ แต่ท่านประธานก็ยังอุตส่าห์สั่งสำนักงาน กสทช.ไปควานหา ”จุดโหว่” ที่ไม่อยู่ในกฎหมาย ทำเรื่องไปถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ร่วมกันควานหาจุดพลังอำนาจ จนออกมาเป็นมติบอร์ดสุด “พิลึกกึกกือ”
“รับทราบ” รายงานการควบรวมธุรกิจ เพราะไม่ถือเป็นการเข้าซื้อหุ้นในบริการประเภทเดียวกันที่เข้าข่ายจะต้องดำเนินการตามประกาศ กสทช.ปี 2549 กสทช.นั้นทำได้เพียงการนำมาตรการเฉพะตามประกาศ กสทช.ปี 2561 มาบังคับใช้เท่านั้น จนก่อให้เกิดข้อวิพากษ์ ที่เรียกแขกให้งานเข้า กสทช.เป็นรายวันจนกระทั่งวันนี้
แต่กับกรณีสรรหาเลขาธิการ กสทช. ที่ถือเป็นตำแหน่งสำคัญขององค์กรนี้ เพราะไม่เพียงจะทำหน้าที่เป็น “แม่บ้าน” ให้บอร์ด กสทช.แล้ว ยังถือเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของสำนักงาน กสทช.อีกด้วย นอกจากนี้ เลขาธิการ กสทช.ยังเป็นกรรมการและเลขานุการกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะหรือ “กองทุน กทปส. “ซึ่งต้องรับผิดชอบงบประมาณเงินกองทุนปีละนับหมื่นล้านด้วยอีก
ดังนั้น ตัวเลขาธิการ กสทช. จึงถือเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญในสามโลกก็ว่าได้ คนที่จะเข้ามารับหน้าที่นี้จึงต้องเป็นบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ ประสานสิบทิศได้อย่างแท้จริง
การที่ประธาน กสทช.และ กสทช.มีข้อถกเถียงในเรื่องระเบียบข้อบังคับการประชุม รวมไปถึงตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการสรรหาและแต่งตั้ง กสทช.คือ พรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯปี 2553 (และที่แก้ไขเพิ่มเติม)ได้มอบอำนาจเบ็ดเสร็จในการคัดเลือกและแต่งตั้งให้แก่ประธาน กสทช.หรือ จะต้องเปิดดำเนินการสรรหาเป็นการทั่วไปนั้น
ก็แล้วทำไมกรณีนี้ท่านประธานจึงไม่คิดจะหารือหรือถามไถ่หน่วยงานใดให้เกิดความกระจ่าง ข้างกายก็ใช่จะไม่มีใครยังมีอนุกรรมการที่ปรึกษากฎหมายของ กสทช.ที่ล้วนกอปรด้วยมือกฎหมายชั้นบรมครูอยู่เต็มลำเรืออยู่ไม่ใช่หรือ หรือหากจะค้ำถ่อถามไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาก็ไม่เสียหายแน่ ใช่ว่าท่านประธานจะไม่เคยทำ
ดีกว่ากำถั่วลุยไฟ “ชงเอง-ตั้งเอง” จนสุดท้ายได้ตัวว่าที่เลขาธิการ กสทช.มาแล้วแต่กลับต้องถูกฟ้องกระบวนการคัดเลือกและสรรหาจนขึ้คนโรงขึ้นศาล มันถูกต้องแล้วหรือ? ยิ่งตำแหน่งเลขาธิการ กสทช.นั้นเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญที่สูงมากอย่างที่ กสทช.พิรงรองออกมาทักท้วงก่อนหน้านั้น กระบวนการสรรหาหรือคัดเลือกจึงยิ่งควรจะสะท้อนความโปร่งใส และเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถเข้าร่วมการคัดเลือกด้วยแล้ว
เกิดว่าที่ “เลขาธิการ” กสทช.ที่ท่านประธานเสนอมากลายเป็น “เลขาพิการ” ขึ้นมาจะทำงานได้อย่างไร? จริงไม่จริงท่านประธานที่เคาพ!!!
#สืบจากข่าว : รายงาน