วันพฤหัสบดี, มีนาคม 28, 2024
หน้าแรกข่าวประชาสัมพันธ์กสม. แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 12/2566

Related Posts

กสม. แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 12/2566

กสม. ชี้ นโยบาย สตช. ให้จัดเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอผู้พ้นโทษ ขัดหลัก ป.วิ.อาญา และเป็นการเลือกปฏิบัติ แนะยกเลิกนโยบาย – กสม. ประชุม GANHRI 2023 ร่วมกับสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติทั่วโลก ชูข้อท้าทายการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในวงกว้างที่นำไปสู่การแก้ปัญหาเชิงระบบ

วันที่ 23 มีนาคม 2566 เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และ นายพิทักษ์พล บุณยมาลิก เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 12/2566 โดยมีวาระสำคัญดังนี้

  1. กสม. ชี้ นโยบาย สตช. ให้จัดเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอผู้พ้นโทษเพื่อป้องปรามอาชญากรรม ขัดหลัก ป.วิ.อาญา และเป็นการเลือกปฏิบัติ เสนอให้ยกเลิกด่วน

นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนเมื่อเดือนกรกฎาคม 2565 จากผู้ร้องสองรายซึ่งเป็นประชาชนในพื้นที่ตำบลห้วยแย้ อำเภอหนองบัวระเหว จังหวัดชัยภูมิ ระบุว่า เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2565 เจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรวังตะเฆ่ จังหวัดชัยภูมิ จำนวน 4 นาย ได้เดินทางไปยังบ้านของผู้ร้องรายหนึ่งเพื่อขอความร่วมมือในการเก็บตัวอย่างสารพันธุกรรม (ดีเอ็นเอ) โดยให้เหตุผลว่าเพราะผู้ร้องเคยต้องโทษจำคุกเป็นเวลา 8 เดือน ในความผิดตามกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ แต่ผู้ร้องไม่ยินยอมให้ตรวจเก็บ ทั้งนี้ ผู้ร้องอีกรายระบุว่ามีผู้เพิ่งพ้นโทษซึ่งอาศัยอยู่ที่หมู่บ้านใกล้เคียงกันถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอด้วย อย่างไรก็ดี ผู้ร้องทั้งสองไม่ทราบว่าการดำเนินการดังกล่าวของเจ้าหน้าที่มีวัตถุประสงค์ใด เป็นไปตามกฎหมายใด และเห็นว่าการขอเก็บตัวอย่างดีเอ็นเออาจเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน จึงขอให้ตรวจสอบ

กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า กรณีนี้มีประเด็นที่ต้องพิจารณาแยกเป็น 2 ประเด็น ดังนี้

ประเด็นที่หนึ่ง เจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรวังตะเฆ่ จังหวัดชัยภูมิ ผู้ถูกร้อง ได้กระทำการอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากการตรวจเก็บตัวอย่างสารพันธุกรรมจากผู้ร้องที่ 2 หรือไม่ เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 28 และมาตรา 32 ได้บัญญัติรับรองและคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย และสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลไว้ การกระทำที่เป็นการกระทบหรือละเมิดต่อสิทธิดังกล่าวจะกระทำมิได้ เว้นแต่อาศัยอำนาจตามกฎหมายเท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ อย่างไรก็ดี ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 131 และมาตรา 131/1 ได้บัญญัติหลักเกณฑ์การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ของรัฐในการตรวจเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอไว้สรุปว่า ในกรณีที่จำเป็นต้องใช้พยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความผิดที่ถูกกล่าวหา ให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจตรวจพิสูจน์บุคคล วัตถุ หรือเอกสารใด ๆ โดยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ได้ และต้องได้รับความยินยอมจากผู้ที่ถูกตรวจเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอ

จากการตรวจสอบ ปรากฏข้อเท็จจริงว่า การดำเนินการของเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรวังตะเฆ่ จังหวัดชัยภูมิ ในกรณีดังกล่าวได้มีการแจ้งเหตุผลความจำเป็นในการขอเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอให้ผู้ร้องทราบ และมีเอกสารการยินยอมให้ตรวจเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอเพื่อให้ผู้ร้องลงลายมือชื่อเป็นลายลักษณ์อักษร แต่เมื่อผู้ร้องแสดงเจตนาไม่ยินยอมให้ดำเนินการ เจ้าหน้าที่จึงลงบันทึกไว้เป็นหลักฐานในเอกสารและไม่ได้ข่มขู่หรือบังคับให้ผู้ร้องยินยอมให้เก็บตัวอย่างดีเอ็นเอ จึงเห็นว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่ฯ ยังไม่อาจรับฟังได้ว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อผู้ร้อง

ประเด็นที่สอง พิจารณาว่า นโยบาย คำสั่ง หรือข้อสั่งการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เรื่อง การตรวจเก็บตัวอย่างสารพันธุกรรมของบุคคลพ้นโทษ เป็นนโยบาย คำสั่ง หรือข้อสั่งการที่สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน หรือไม่ เห็นว่า บุคคลแม้จะพ้นโทษจากการถูกควบคุมตัวในเรือนจำหรือทัณฑสถานมาแล้ว ย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย และสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัวเช่นเดียวกันกับบุคคลทั่วไปตามที่ได้รับการรับรองและคุ้มครองไว้ในรัฐธรรมนูญและหนังสือสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีที่จะต้องปฏิบัติตาม ประกอบกับประเทศไทยไม่มีกฎหมายที่บัญญัติให้หน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐจัดเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอของบุคคลพ้นโทษ แม้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาจะกำหนดให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจสั่งให้จัดเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอของบุคคลได้ แต่ต้องเป็นการดำเนินการในขั้นตอนก่อนการพิจารณาคดีเพื่อรวบรวมพยานหลักฐานในการใช้พิสูจน์ความผิดของบุคคลซึ่งเป็นผู้ต้องหาเท่านั้น และต้องได้รับความยินยอมจากบุคคลนั้นด้วย โดยมิได้บัญญัติให้เจ้าหน้าที่ของรัฐจัดเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอของบุคคลพ้นโทษแต่อย่างใด

จากการตรวจสอบปรากฏข้อเท็จจริงว่า สตช. ได้กำหนดนโยบายหรือข้อสั่งการในการป้องกันปราบปรามอาชญากรรม ให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินมาตรการเฝ้าระวังการกระทำผิดซ้ำของบุคคลพ้นโทษ โดยใช้วิธีการเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอซึ่งเป็นข้อมูลส่วนบุคคลไว้ในระบบฐานข้อมูลของรัฐ โดยกล่าวอ้างว่า เป็นการดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 131/1 แต่ กสม. เห็นว่า นโยบายของ สตช. ที่ให้เก็บตัวอย่างดีเอ็นเอของบุคคลที่พ้นโทษไม่ใช่การดำเนินการเพื่อพิสูจน์ความผิดหรือความบริสุทธิ์ของบุคคลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 131/1 อีกทั้งนโยบายหรือข้อสั่งการนี้เป็นการเก็บตัวอย่างสารพันธุกรรมบุคคลพ้นโทษทุกประเภทความผิด โดยมิได้จำแนกประเภทความผิด หรือแสดงให้เห็นถึงเหตุผลความจำเป็นของบุคคลที่จะถูกตรวจเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอว่ามีอัตราการกระทำผิดซ้ำ หรือมีแนวโน้มจะก่อความเสียหายหรือเป็นภัยต่อสังคมอย่างร้ายแรงแต่อย่างใด

“เมื่อพิจารณาประกอบหลักความเสมอภาคและการห้ามเลือกปฏิบัติที่กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ได้วางหลักไว้ว่า บุคคลทั้งปวงย่อมเสมอกันตามกฎหมาย และมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองเท่าเทียมกันตามกฎหมายแล้ว จึงเห็นว่า การเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอของบุคคลที่พ้นโทษ แม้จะอ้างเหตุผลเกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะประกอบกับอาศัยความยินยอมของผู้ที่จะถูกตรวจเก็บแล้ว แต่นโยบายหรือข้อสั่งการดังกล่าว มีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของบุคคล และสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว ซึ่งจำเป็นต้องกระทำภายใต้บทบัญญัติของกฎหมาย และไม่เพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุด้วย เมื่อ สตช. มีนโยบายให้เจ้าหน้าที่ดำเนินมาตรการเฝ้าระวังการกระทำผิดซ้ำของบุคคลพ้นโทษ โดยใช้วิธีการเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอ ซึ่งนโยบายดังกล่าวมิได้มีบทบัญญัติของกฎหมายให้อำนาจไว้ จึงเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่กรณี ทั้งยังเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลด้วยเหตุแห่งสถานะที่เคยเป็นบุคคลต้องโทษ อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน” นายวสันต์กล่าว

ด้วยเหตุผลดังกล่าว กสม.ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2566 จึงมีข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาเชิงระบบให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ยกเลิกนโยบายหรือข้อสั่งการเกี่ยวกับการเก็บตัวอย่างสารพันธุกรรม (ดีเอ็นเอ) บุคคลพ้นโทษ และให้แจ้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอของบุคคลเฉพาะกรณีที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาบัญญัติไว้เท่านั้น ทั้งนี้ ให้ดำเนินการภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งรายงานผลการตรวจสอบนี้

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

Latest Posts