วันพุธ, พฤษภาคม 8, 2024
หน้าแรกสืบเศรษฐกิจการเงินร้อง “นายกฯ” แก้ปัญหา “ซิปเม็กซ์” สะเทือนเก้าอี้ เลขา ก.ล.ต. (คนใหม่)

Related Posts

ร้อง “นายกฯ” แก้ปัญหา “ซิปเม็กซ์” สะเทือนเก้าอี้ เลขา ก.ล.ต. (คนใหม่)

“…กลุ่มผู้เสียหายกล่าวว่า ได้มีการร้องเรียนเรื่องดังกล่าวไปทาง ก.ล.ต.ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.2565 จากวันนั้นจนถึงบัดนี้ยังไม่มีความคืบหน้าทางคดี เนื่องจากทาง ก.ล.ต.ไม่ร้องทุกข์กล่าวโทษบริษัทซิปเม็กซ์ในความผิดตาม พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัล ในการนำสินทรัพย์ของนักลงทุนไปแสวงหาผลประโยชน์ในผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้รับใบอนุญาต เหนืออื่นใด ข้อครหาครั้งนี้ พุ่งตรงไปยังเลขาธิการ ก.ล.ต. นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล ซึ่งกลุ่มผู้เสียหายสงสัยว่า ทำไม? ไม่ยอมกล่าวโทษในประเด็นนี้ ทั้งที่เป็นประเด็นแรกๆ ที่พูดถึง พร้อมแสดงความกังวลว่า ถ้าท่านกลับมาดำรงตำแหน่งต่อ และดำเนินการด้วยความล่าช้าเหมือนเดิม ผู้เสียหายก็จะตกที่นั่งลำบาก ถ้าเปลี่ยนเป็นคนอื่น เรื่องความเสียหายของเราจะล่าช้าอีกหรือเปล่า…”

เมื่อวันที่ 29 มี.ค.2566 ที่ผ่านมา ตัวแทนกลุ่มผู้เสียหาย 10 คน จาก 300 กว่าราย (ที่ได้เข้าแจ้งความไว้แล้ว) เดินทางไปยังศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี โดยมีนายสาธิต สุทธิเสริม หัวหน้าฝ่ายประสานงานมวลชน (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ) เจ้าหน้าที่สายด่วนรับเรื่องร้องเรียน 1111 เป็นผู้รับแทน

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล

เท้าความโดยสังเขป กรณีดังกล่าวเกิดจาก บริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด เจ้าของแพลตฟอร์ม ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (EXCHANGE) “Zipmex” ซึ่งมีบริษัทแม่ในสิงคโปร์ นำผลิตภัณฑ์ “Zipup+” ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ลูกค้าไทยฝากสินทรัพย์ไว้ที่ Zipmex global สิงคโปร์ ไปลงทุนในแฟลตฟอร์มสินเชื่อคริปโตฯ ของ บาเบลล์ไฟแนนซ์ (Babel Finance) และ เซลเซียส (Celsius ) ซึ่งทั้งสองแห่งต่างประสบปัญหาจากการล่มสลายของเหรียญ LUNA จนทั้งสองบริษัทต้องประกาศระงับการถอนเงิน ทำให้สินทรัพย์ดิจิทัลที่อยู่ใน Zipup+ โดยเฉพาะ บิทคอยน์(BTC), อีเธอเรียม (ETH), USDT และ USDC เป็นต้น ไม่สามารถทำธุรกรรมได้ ส่งผลให้ Zipmex ประเทศไทย ประกาศระงับการเพิกถอนเงินบาทและคริปโตเคอร์เรนซีเป็นการชั่วคราว เมื่อวันที่ 20 ก.ค.2565 ซึ่งกระทบต่อความเชื่อมั่นของตลาดคริปโตฯ และลูกค้านักลงทุนเป็นวงกว้าง เบื้องต้นมีความเสียหายเกิดขึ้นราว 2,000 ล้านบาท จากผู้เสียหาย 3,800 ราย ขณะที่ผู้ลงทุนเหรียญขาดทุนกว่า 88% ซึ่งตามกฎหมาย พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ.2561 ในการทำหน้าที่ของธุรกิจศูนย์ซื้อขายฯ หากมีการรับฝากทรัพย์สินของลูกค้า มีกฎเกณฑ์กำหนดไว้ชัดเจนว่า

“บริษัทห้ามนำทรัพย์สินของลูกค้าไปหาดอกผล และต้องเก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้าไว้อย่างปลอดภัย”

กลุ่มผู้เสียหายกล่าวว่า ได้มีการร้องเรียนเรื่องดังกล่าวไปทาง ก.ล.ต.ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.2565 จากวันนั้นจนถึงบัดนี้ยังไม่มีความคืบหน้าทางคดี เนื่องจากทาง ก.ล.ต.ไม่ร้องทุกข์กล่าวโทษบริษัทซิปเม็กซ์ในความผิดตาม พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัล ในการนำสินทรัพย์ของนักลงทุนไปแสวงหาผลประโยชน์ในผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้รับใบอนุญาต

เมื่อผู้เสียผู้เสียหายเดินทางไปร้องเอาผิดทางอาญากับซิปเม็กซ์ กลับได้รับคำตอบว่าบริษัทไม่มีความผิดในผลิตภัณฑ์ Zipup มีแค่เรื่องร้องเรียนผลิตภัณฑ์ Zipup+ ทำให้ผู้เสียหายตกไปอยู่ในข้อตกลงของสัญญาไม่เป็นธรรม

ขณะที่ทาง ก.ล.ต. ส่งตัวแทน ฝ่ายกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล (ทีมเดิม) เป็นพยานไปให้ปากคำกับทางศาลอาญา โดยให้ข้อมูลว่าไม่เคยได้รับเรื่องร้องเรียนผลิตภัณฑ์ Zipup

การที่ ก.ล.ต. ให้ข้อมูลกับศาลว่าว่า ไม่เคยได้รับเรื่องร้องเรียนผลิตภัณฑ์ Zipup นั้น เคยถูกสังคมตั้งคำถามว่า ก.ล.ต. ไม่ทราบ ไม่รู้เรื่องเลยหรือว่า ZipUp+ ทำให้นักลงทุนเสียหายหลักพันล้านบาท ตั้งแต่เริ่มเกิดเรื่อง ก.ล.ต.อ้ำอึ้ง แจ้งว่าไม่ทราบ ไม่รู้เรื่องว่าเอกชนนำเงินลูกค้าไทยไปลงทุนต่ออีกทอดหนึ่งที่บริษัทต่างชาติ ทั้งๆ ที่ zipmex โฆษณาอยู่ทุกวัน ประชาชนก็ลงทุนไปเพราะอุ่นใจที่นำเงินไปลงทุนกับผู้ประกอบการที่อยู่ภายใต้หน่วยงานกำกับดูแลของไทย ซึ่งกลุ่มผู้เสียกล่าวว่า “ความเสียหายที่เกิดจากบริการ Zipup+ ก็สืบเนื่องมาจาก Zipup นั่นเอง”

เหนืออื่นใด ข้อครหาครั้งนี้ พุ่งตรงไปยังเลขาธิการ ก.ล.ต. นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล ซึ่งกลุ่มผู้เสียหายสงสัยว่า ทำไม? ไม่ยอมกล่าวโทษในประเด็นนี้ ทั้งที่เป็นประเด็นแรกๆ ที่พูดถึง แต่ ก.ล.ต.อ้างว่า Zipup เป็นการฝากออมธรรมดา ไม่มีการให้ผลประโยชน์ เป็นการโฆษณาส่งเสริมการขาย แต่แท้จริงแล้วความเสียหายที่เกิดจากบริการ Zipup ส่งผลต่อเนื่องมาเป็น Zipup+
รื่นวดี สุวรรณมงคล” ยุคใหม่กรมบังคับคดี ใช้ Big Data  เพิ่มช่องทางขายทรัพย์สิน - ไกล่เกลี่ยหนี้กลุ่มเปราะบาง พร้อมสร้างหลักสูตร  "อาชีพนักบังคับคดี" - ThaiPublica
รื่นวดี สุวรรณมงคล

“ตั้งแต่ 1 ส.ค. จนถึงบัดนี้ คำกล่าวโทษในเรื่องใบอนุญาต Zipup , Zipup+ และ Ziplock ยังไม่มีออกมาเลย เราไม่รู้ว่าจะต้องรอไปถึงไหน ท่านเลขา ก.ล.ต.จะหมดวาระ 30 เม.ย.นี้แล้ว” หนึ่งในผู้เสียหายสะท้อนความเห็น พร้อมแสดงความกังวลว่า ถ้าท่านกลับมาดำรงตำแหน่งต่อ และดำเนินการด้วยความล่าช้าเหมือนเดิม ผู้เสียหายก็จะตกที่นั่งลำบาก ถ้าเปลี่ยนเป็นคนอื่น เรื่องความเสียหายของเราจะล่าช้าอีกหรือเปล่า

เรื่องดังกล่าว นำไปสู่การมีข่าวหลุดออกมาจากสำนักงาน ก.ล.ต. ถึงการสรรหาเลขาฯ ก.ล.ต.คนใหม่ว่า เริ่มมีความเคลื่อนไหวจากผู้ที่ถูกคาดหมายว่าจะเข้ามาทำหน้าที่แทนกันแล้ว โดยมีชื่อของซีอีโอแบงก์รัฐอย่างน้อย 2 คนที่ถูกหยิบยกมาพูดถึง คนแรกเป็นซีอีโอหนุ่มไฟแรงที่แม้ว่าจะเข้ามารับตำแหน่งยังไม่ครบวาระ แต่มองเป้าหมายชีวิตการทำงานที่จะก้าวต่อยอดขึ้นไปในหน่วยงานภาครัฐ และอีกคนเป็นซีอีโอแบงก์รัฐที่กำลังจะหมดวาระในตำแหน่งปีนี้และอยู่ระหว่างลุ้นการต่อวาระการทำงาน ซึ่งมีคอนเน็คชั่นแนบแน่นกับผู้ใหญ่ในรัฐบาล ส่วนอีกคนเป็นผู้บริหารคนใน ก.ล.ต.ระดับรองเลขาฯ ที่อาจได้รับการทาบทามให้ยื่นสมัครเข้ารับการสรรหาในครั้งนี้ด้วย รวมถึงการเปิดโอกาสให้ น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล สามารถกลับมาลงสมัครคัดเลือกได้ หากมั่นใจในความสามารถว่าไม่ได้สร้างความเสียหายใดๆ ระหว่างปฏิบัติหน้าที่ต่อวงการตลาดทุน และ คริปโตเคอร์เรนซี่ เพื่อให้ได้บุคคลที่มีความสามารถเข้าร่วมแข่งขันภายใต้กระบวนการที่โปร่งใส และ เป็นธรรม

อย่างไรก็ตาม เสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการภาคเอกชนและนักลงทุนมองว่า ในวันที่ 1 พ.ค. 2566 ที่จะถึงนี้ ก.ล.ต. ควรสรรหาเลขาฯ คนใหม่ที่มาจาก ’คนใน’ แทนที่จะดึง “คนนอก” เข้ามา เพราะอาจจะขาดความรู้ความเข้าใจในงานด้านนี้  ขณะที่ตลาดเงิน ตลาดคริปโตฯ มีปัญหามากมายต้องเข้ามากอบกู้ ถ้าได้เลขาฯ ที่ไม่เข้าใจระบบ ไม่เข้าใจโครงสร้าง ก็อาจจะต้องเผชิญทั้งศึกนอก ศึกใน จะบริหารจัดการตลาดทุนให้ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างไร ถ้าคนในองค์กรที่มีความรู้ ความสามารถ หรือที่เรียกว่ากลุ่ม talent ต้องลาออกอย่างต่อเนื่อง จนองค์กรขาดพนักงานที่มีทักษะสูงในการทำงาน จะส่งผลเสียต่อการกำกับควบคุมตลาดทุน ตลาดคริปโตฯ อย่างไร

ถึงเวลาแล้วหรือไม่ที่จะให้ “คนใน” ของ ก.ล.ต. เข้ามาช่วยกู้วิกฤต แก้ปัญหา เก็บกวาดกองซากปรักหักพัง แล้วก่อร่างสร้างระบบขึ้นมาให้สอดคล้องกับเป้าหมายแนวทางที่ควรจะเป็น เลือกคนในองค์กรที่รู้เรื่องดี ไม่ต้องอึดอัดใจทั้งตัวผู้บริหารและคนทำงาน เลขาฯ ก.ล.ต.ควรเป็นคนกลาง ประสานงานทั้งภายในและภายนอก ผสานโลกปัจจุบันกับทิศทางอนาคตไปด้วยกัน พัฒนาตลาดทุนและตลาดคริปโตฯ ให้ก้าวเดินอย่างสง่าผ่าเผย ไร้แรงกดดัน ไม่ใช่เข้ามาเพื่อ “ประสานงา” จนซวนเซไปทั้งระบบ

ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

ท้ายที่สุด ต้องถามบอร์ด   ก.ล.ต. หรือต้องถาม “รัฐมนตรี” หรืออาจต้องถาม “นายกรัฐมนตรี” ว่าโอเคกับความขัดแย้งแบบนี้ไหม โอเคกับความเสียหายที่เกิดขึ้นไหม ถ้าเลือก “คำตอบสุดท้าย” ย้อนแย้งกับสังคม  สวนทางกับความคิดเห็นของคนตัวเล็กตัวน้อย ในโลกยุคดิจิทัลที่การสื่อสารแพร่ลามเร็วกว่าไฟป่า จะรับมือกับ “ผลลัพธ์” ในอนาคตไหวไหม

#สืบจากข่าว : รายงาน

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts