วันศุกร์, กันยายน 20, 2024
หน้าแรกไม่มีหมวดหมู่ศรีฯ ยื่น กกต.สอบสื่อฯ ลำเอียงนำพรรคการเมืองมาจัดดีเบตซ้ำๆ ขัดต่อ กม.หรือไม่ ?

Related Posts

ศรีฯ ยื่น กกต.สอบสื่อฯ ลำเอียงนำพรรคการเมืองมาจัดดีเบตซ้ำๆ ขัดต่อ กม.หรือไม่ ?

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 10 พ.ค.ที่ สำนักงาน กกต. อาคารบี ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้เดินทางมายื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เพื่อขอให้ตรวจสอบ ไต่สวน สอบสวน สื่อมวลชนหลายสำนัก โดยเฉพาะสื่อทีวีมีการเสนอข่าวลักษณะลำเอียง โดยไม่คํานึงถึงความเท่าเทียม ความเสมอภาค และความเที่ยงธรรมของผู้สมัคร และพรรคการเมืองที่ลงชิงชัย 70 พรรค ตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่

ทั้งนี้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ปรากฎว่าสื่อมวลชนส่วนใหญ่ มีการนำเสนอข่าวมุ่งเน้นเฉพาะผู้สมัครและพรรคการเมืองขนาดใหญ่ประมาณ 10 พรรคการเมืองเท่านั้น เช่น พรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรคไทยสร้างไทย พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคภูมิใจไทย พรรคก้าวไกล พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนากล้า พรรคประชาชาติ และพรรคไทยภักดี ทั้งๆที่มีพรรคการเมืองส่งผู้สมัครลงชิงชัย ส.ส.แบบแบ่งเขตในครั้งนี้มีถึง 70 พรรคการเมือง ส่วนแบบบัญชีรายชื่อมีถึง 67 พรรค แต่ปรากฏว่าสื่อบางสาขา เช่น สื่อฯ ทีวี มักนำเสนอกิจกรรมการหาเสียงของพรรคการเมืองต่าง ๆ ข้างต้นเป็นหลักและซ้ำๆกันในทุกวันเท่านั้น ทำให้อีก 60 พรรคการเมืองขาดโอกาสที่จะสื่อสารนโยบายและวิสัยทัศน์ผ่านสื่อดังกล่าวถึงผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 52,239,354 คนได้

นอกจากนั้นการจัดดีเบตของทีวีหลายช่องก็มักจะเชิญตัวแทนของพรรคการเมืองข้างต้นไม่เกิน 10 พรรคมาดีเบตกัน ไม่ว่าจะเป็นเวทีใด ก็มักจะเชิญพรรคเดิมๆอยู่เสมอ ไม่กระจายไปยังพรรคอื่น ๆ ที่มีอยู่จำนวนมาก ชี้ให้เห็นว่าสื่อดังกล่าวชี้นำการเลือกตั้ง โดยไม่คํานึงถึงความเท่าเทียม ความเสมอภาค และความเที่ยงธรรมของผู้สมัคร และพรรคการเมืองตามที่กฎหมายกำหนด

การกระทำดังกล่าวของสื่อ อาจเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืน ม.69 ม.70 ม.71 ม.73 และม.81 แห่ง พรป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง 2561 ประกอบ ม.156 และม.159 และยังขัดต่อข้อ 18(1) ของระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2561 ที่กำหนดไว้ชัดเจนว่า “ห้ามผู้ประกอบอาชีพหรือเป็นเจ้าของกิจการเกี่ยวกับรายการทางวิทยุกระจาย นักแสดง นักร้อง นักดนตรี พิธีกร สื่อมวลชน เป็นต้น ใช้ความสามารถ หรือวิชาชีพดังกล่าว เพื่อเอื้อประโยชน์ในการหาเสียงเลือกตั้งแก่ผู้สมัคร หรือพรรคการเมือง” โดยเฉพาะการห้ามผู้สมัคร พรรคการเมือง หรือผู้ใดโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งทางวิทยุกระจายเสียง หรือวิทยุโทรทัศน์ เว้นแต่เป็นการดําเนินการตามระเบียบที่ กกต.กำหนด นั่นเอง

ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่และอำนาจของ กกต.ตาม ม.70 วรรคสาม ของ พรบ.เลือกตั้ง ส.ส.2561 ที่จะต้องบังคับให้สื่อทีวีดังกล่าวปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย หากสื่อใดชี้นำหรือลำเอียงจนน่าเกลียดเกินไป จะต้องมีบทลงโทษตามกฎหมายที่เด็ดขาด ไม่เกี๊ยะเซียะกัน เพราะอาจนำไปสู่การยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเป็นการจัดการเลือกตั้งที่ไม่สุจริตและเที่ยงธรรม อาจเป็น “โมฆะ”ได้ ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts