อีลอน มัสก์ ซีอีโอของเทสลา เดินทางเยือนกรุงปักกิ่งด้วยเครื่องบินเจ็ตส่วนตัว ท่ามกลางความร้อนแรงทางการเมืองระหว่างจีนกับสหรัฐฯ นับเป็นการเยือนจีนครั้งแรกในรอบ 3 ปีของมัสก์ เนื่องจากมาตรการคุมเข้มโควิด-19 โดยได้เข้าพบ “ฉิน กัง” รัฐมนตรีต่างประเทศของจีน
จีนถือเป็นตลาดรถยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของเทสลา เพราะนอกจากจะเป็นฐานการผลิตขนาดใหญ่แล้ว จีนยังถือเป็นตลาดยานยนต์ไฟฟ้าใหญ่อันดับ 2 ของเทสลาด้วย
มัสก์ เปรียบเทียบเศรษฐกิจจีนว่า มีขนาดใหญ่เทียบเท่าสหรัฐฯ เปรียบเสมือนฝาแฝดที่มีตัวติดกัน และเขาพร้อมขยายการทำธุรกิจในจีนอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา เทสลาเคยประกาศว่ามีแผนจะสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าขนาดใหญ่แห่งที่ 2 ในนครเซี่ยงไฮ้ อีกด้วย
ขณะที่ ฉิน กัง รมว.ต่างประเทศของจีน กล่าวว่า จีนจะเดินหน้าเปิดกว้างตลาดในระดับสูง และสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ยึดหลักกฎหมาย และเป็นไปตามกลไกตลาดสำหรับเทสลาและบริษัทต่างชาติอื่นๆ นอกจากนี้ เขายังเปรียบเทียบการขับขี่รถยนต์กับความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐฯด้วยว่า “เราต้องเหยียบเบรกให้ทันเวลา หลีกเลี่ยงการขับขี่ที่อันตราย และมีความชำนาญในการใช้คันเร่งเพื่อส่งเสริมความร่วมมือที่เอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน”
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้าการเดินทางเยือนจีนของมัสก์ นักธุรกิจชั้นนำระดับโลกอย่าง ทิม คุก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารแอปเปิล และ อัลเบิร์ต บัวร์ลา ซีอีโอบริษัทยาไฟเซอร์ ก็ได้เดินทางเยือนปักกิ่งเช่นเดียวกัน ท่ามกลางความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ หลังจากที่จีนตัดความสัมพันธ์ทางทหารและความร่วมมือด้านสภาพอากาศกับสหรัฐฯ เมื่อเดือน ส.ค. ปีที่แล้ว เพื่อตอบโต้พฤติกรรมแทรกแซงกิจการไต้หวัน โดยให้เหตุผลว่า “ฝ่ายสหรัฐฯ ควรที่จะเคารพอธิปไตย ความมั่นคง และผลประโยชน์ของจีนอย่างจริงใจ และแก้ไขการกระทำที่ไม่ถูกต้องเสีย”
การพัฒนาความทันสมัยของจีนได้สร้างแนวโน้มการเติบโตและความต้องการของตลาดอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน พร้อมกันนี้จีนก็พยายามเรียงร้อยโลกใบนี้ให้อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ด้วยการใช้ยุทธศาสตร์แบบ “วินวิน” ท่ามกลางการเมืองระหว่างประเทศกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อย่างไม่เคยเห็นมาก่อนในรอบหนึ่งศตวรรษ โลกไม่ได้เป็นขั้วเดียวภายใต้อำนาจของสหรัฐฯอีกต่อไป การพัฒนาของจีนได้นำพาโลกไปสู่การดำรงอยู่แบบหลายขั้ว เปิดกว้างให้ทุกประเทศได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียมกัน ด้วยความที่จีนเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่และเป็นเศรษฐกิจที่มีพลวัตมากที่สุดในโลก เมื่อใช้ยุทธวิธีการพัฒนาอย่างสันติ จึงได้รับการสนับสนุนจากทุกประเทศในโลก ข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ของจีนช่วยให้การเชื่อมโยงโลกบรรลุการพัฒนาที่มีคุณภาพสูง นำพาการค้าโลกเข้าสู่ยุคใหม่
จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไม นักธุรกิจระดับโลกจากขั้วตะวันตกจึงต้องให้ความสำคัญกับจีนอย่างมาก