เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 20 มิ.ย.ที่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.สมพงษ์ ชิงดวง ที่ปรึกษาพิเศษ ตร. กล่าวว่าในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา (10 มิ.ย.-17 มิ.ย.2566) มีสถิติการรับแจ้งความคดีออนไลน์มากที่สุดยังเป็นคดีเดิมๆ 5 อันดับ ได้แก่
1.)คดีหลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ
2.)คดีหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อทำงานหารายได้พิเศษ
3.)คดีหลอกลวงให้กู้เงิน
4.)คดีข่มขู่ทางทางโทรศัพท์ให้เกิดความกลัวแล้วหลอกให้โอนเงิน (Call Center)
5.)คดีหลอกลวงให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์
สำหรับคดีออนไลน์ที่คนร้ายนำมาหลอกลวงซ้ำเติมประชาชนในช่วงนี้ คือ การหลอกลวงให้โอนเงินทำภารกิจเพิ่มเรทติ้งเกี่ยวกับเว็บไซต์ 18+ และหลอกลวงให้โอนเงินทำภารกิจกดหัวใจใน TikTok เพื่อรับเงินค่าคอมมิชชัน ซึ่งถือเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนต้องย้ำเตือนให้ประชาชนได้รับทราบ
พล.ต.ต.ชูศักดิ์ ขนาดนิด ผบก.ตอท.บช.สอท. กล่าวถึงรายละเอียดภัยออนไลน์ที่คนร้ายหลอกลวงให้ประชาชนโอนเงินทำภารกิจเพื่อรับค่าคอมมิชชันเกี่ยวกับเว็บไซต์ 18+ ดังนี้
- “เข้าดูเว็บโป๊ สูญเงิน 3 ล้าน” คนร้ายโพส Facebook โฆษณาหาเหยื่อโดยใช้รูปแบบเว็บไซต์ 18+ เหยื่อหลงเชื่อกดลิงก์เพิ่มเพื่อนไลน์ คนร้ายเสนอเงื่อนไขให้ดูฟรีและมีเงินค่าคอมมิชชันจากการโอนเงินทำภารกิจเพิ่มเรทติ้ง โดยดึงเข้ากลุ่มหน้าม้า 5 คน(รวมเหยื่อและคนร้ายคนที่ 2 ด้วย) จากนั้นคนร้ายให้กดเข้าลิงก์เว็บไซต์ v-verve club ปลอมเพื่อโอนเงินทำภารกิจ เมื่อเหยื่อลงทะเบียนแล้ว ในช่วงแรกให้โอนเงินทำภารกิจจำนวนไม่มาก และเหยื่อได้เงินค่าคอมมิชชัน จากนั้นให้โอนเงินทำภารกิจจำนวนมากขึ้น คนร้ายจะอ้างว่าไม่เขียนบันทึกช่วยจำ เขียนผิด เขียนไม่ครบ เว้นวรรคไม่ถูกฯลฯ เพื่อให้โอนเงินเพิ่ม ต่อมาเมื่อคนร้ายให้เหยื่อถอนเงินได้ แต่ต้องจ่าย ค่าภาษี 37% ค่ายืนยันบัญชี 50% และค่าอื่นๆ ทุกครั้งจะให้โอนเพิ่มและอ้างเหมือนเดิมว่า ไม่เขียนบันทึกช่วยจำ เขียนผิด เขียนไม่ครบ เว้นวรรคไม่ถูกฯลฯ ในช่วงที่ให้เหยื่อโอนเงินเพิ่มนั้น คนร้ายจะแจ้งย้ำตลอดว่าสุดท้ายจะได้เงินคืนทั้งหมด ส่วนเหยื่อเห็นยอดเงินการลงทุนทำภารกิจขึ้นในระบบของเว็บไซต์ปลอม จึงเชื่อว่าจะได้เงินคืนทั้งหมดเช่นกัน สุดท้ายสูญเงินไป 3 ล้านกว่าบาท
จุดสังเกต
1)การโอนเงินทำการกิจใดๆ ที่ใช้เงินน้อย รายได้ดี มีค่าคอมมิชชันสูง ไม่มีอยู่จริง หากเงินปันผลหรือค่าคอมมิชชันสูงมากขนาดนี้ คนร้ายคงโอนเงินทำภารกิจด้วยตนเอง
2)ในการทำภารกิจ คนร้ายให้เหยื่อกดลิงก์เข้าเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันปลอมที่คนร้ายสร้างขึ้นมาให้เหมือนของจริง และเมื่อเหยื่อโอนเงินทำภารกิจ ในระบบจะขึ้นยอดเงินแสดงให้เหยื่อหลงเชื่อว่าเป็นยอดเงินจริง ซึ่งความจริงแล้วเป็นเพียงตัวเลขในอากาศที่คนร้ายนำมาหลอกให้เหยื่อหลงเชื่อเท่านั้น
วิธีป้องกัน
1)คนร้ายโฆษณาชักทางทาง Facebook จึงต้องตรวจสอบกฎเหล็ก Facebook ดังนี้
-ตรวจสอบว่าเป็นบัญชีทางการ (Official) และมีเครื่องหมาย ✔ หรือไม่ หากเป็นของปลอมมักไม่ใช่บัญชีทางการและไม่มีเครื่องหมาย ✔ แสดง
-ตรวจสอบการกดอิโมชันแสดงอารมณ์ หากเป็นของจริงจะมีการกดอิโมชันแสดงอารมณ์ด้านบวก หากเป็นของปลอมจะมีการกดอิโมชันแสดงอารมณ์ด้านลบ (โกรธ)
-ตรวจสอบความโปร่งใสของเพจ
- ประวัติการสร้างเพจ : ของจริงจะสร้างเพจมานาน แต่ของปลอมมักสร้างเพจมาไม่นาน
- ประวัติการเปลี่ยนชื่อ : ของปลอมมักเปลี่ยนชื่อเพจบ่อยเพื่อหลอกไปเรื่อยๆ
- คนจัดการเพจ : ของจริงที่อยู่ของคนจัดการเพจมักอยู่ในประเทศที่สอดคล้องกับเพจ เช่น เพจของคนไทย คันจัดการเพจส่วนใหญ่อยู่ในประเทศไทย แต่ของปลอมคนจัดการเพจมักมีที่อยู่ต่างประเทศ หรืออยู่หลายประเทศ
- ในข้อมูลเพิ่มเติมของเพจ(about) : ของปลอมมักสร้างยอดการกดถูกใจและผู้ติดตามใน about เพื่อให้เข้าใจผิดว่ามีการกดถูกใจและผู้ติดตามจำนวนมาก
- ไม่เปิดอ่านหรือ กดลิงก์โฆษณาแปลกปลอม หรือกดเพิ่มเพื่อนไลน์ในรูปแบบสแกน
QR Code หรือเพิ่มเพื่อนไลน์ทาง ID Line จากคนที่ไม่น่าเชื่อถือ
-หากต้องการติดตั้งแอปพลิเคชันใดๆ ควรโหลดและติดตั้งจาก Google Play store หรือ Apple Store เท่านั้น อย่าเชื่อคำแนะนำของคนร้ายให้กดเข้าบราวเซอร์อื่น
-ควรลงทุนในบริษัทหรือผู้ให้บริการในตลาดทุนที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. โดยตรวจสอบได้จากเว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย https://www.set.or.th
“รับโทรศัพท์ครั้งเดียว สูญเงินหลายแสน” คนร้ายใช้เบอร์โทรศัพท์ 02-502-8053 โทรหาเหยื่อแนะนำตัวว่าโทรมาจาก tiktok อยากให้ช่วยทำการตลาดโดยกดหัวใจ แล้วจะได้รับเงินค่าคอมมิชชั่นจำนวนมาก เหยื่อหลงเชื่อกดเพิ่มเพื่อนไลน์ คนร้ายส่งลิงก์แอปพลิเคชัน TikT0k ของจริงมาให้เหยื่อกดหัวใจ แล้วให้บันทึกหน้าจอส่งให้ดู คนร้ายจ่ายเงินค่าคอมมิชชันให้เหยื่อ จากนั้นคนร้ายให้เหยื่อกดลิงก์เข้าเว็บไซต์ปลอมโอนเงินทำภารกิจง่ายๆ ใช้เงินทุนน้อยๆ เมื่อทำภารกิจเสร็จให้บันทึกหน้าจอส่งให้ดูแล้วให้เหยื่อโอนเงินเข้าบัญชีม้า คนร้ายโอนเงินทุนพร้อมค่าคอมมิชชันให้เหยื่อคืนเพื่อให้หลงเชื่อ ต่อมาคนร้ายให้เหยื่อเข้ากลุ่ม VIP 3 คน และให้ทำภารกิจ 3 ภารกิจ 9 คำสั่งซื้อ แล้วจึงจะถอนเงินค่าคอมมิชชันได้หลายครั้ง โดยเพิ่มเงื่อนไขให้ยากขึ้น หากทำภารกิจผิดพลาดเหยื่อต้องรับผิดชอบ โดยต้องสั่งซื้อเพิ่ม 3-5 ครั้ง และต้องทำงานให้เสร็จภายในเวลาที่กำหนด ในภารกิจช่วงนี้คนร้ายให้เหยื่อโอนเงินซื้อพอร์ตหุ้น BTC ในเว็บไซต์ปลอมด้วย เหยื่อทำการกิจและโอนเงินตามขั้นตอนที่คนร้ายบอกให้ทำ ซึ่งแต่ละขั้นตอนยอดเงินจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และยอดเงินจะแสดงให้เห็นในระบบ เมื่อทำภารกิจเสร็จจะถอนเงิน คนร้ายอ้างว่าทำผิดขั้นตอน ถอนยอดไม่ตรง ต้องโอนเงินปลดล็อคระบบ และต้องโอนเงินฝากยอดเข้าระบบ สุดท้ายเสียเงินไปจำนวนมาก
จุดสังเกตุ
-การโอนเงินทำการกิจใดๆ ที่ใช้เงินน้อย รายได้ดี มีค่าคอมมิชชันสูง ไม่มีอยู่จริง หากเงินปันผลหรือค่าคอมมิชชันสูงมากขนาดนี้ คนร้ายคงโอนเงินทำภารกิจด้วยตนเอง
-ในการทำภารกิจ คนร้ายให้เหยื่อกดลิงก์เข้าเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชั่นปลอมที่คนร้ายสร้างขึ้นมาให้เหมือนของจริง และเมื่อเหยื่อโอนเงินทำภารกิจ ในระบบจะขึ้นยอดเงินแสดงให้เหยื่อหลงเชื่อว่าเป็นยอดเงินจริง ซึ่งความจริงแล้วเป็นเพียงตัวเลขในอากาศที่คนร้ายนำมาหลอกให้เหยื่อหลงเชื่อเท่านั้น
-บัญชีธนาคารที่ใช้โอนเงินเป็นชื่อบัญชีบุคคลธรรมดา ไม่ใช่บัญชีหน่วยงานหรือองค์กร
วิธีป้องกัน
-ไม่รับโทรศัพท์จากคนแปลกหน้า หรือหากรับแล้วให้รีบวางสาย
-ไม่กดลิงก์เพิ่มเพื่อนไลน์ จากคนที่ไม่น่าเชื่อถือ หรือติดตั้งแอปพลิเคชันที่คนร้าย
หลอกให้ติดตั้ง
-หากต้องการติดตั้งแอปพลิเคชันใดๆ ควรโหลดและติดตั้งจาก Google Play store หรือ Apple Store เท่านั้น อย่าเชื่อคำแนะนำของคนร้ายให้กดเข้าบราวเซอร์อื่น
-การสมัครงานจากบริษัท ห้างร้านที่มีชื่อเสียง ควรโทรศัพท์ติดต่อบริษัทหรือห้างร้าน
โดยตรงเพื่อตรวจสอบข้อมูลที่ถูกต้อง
-ควรลงทุนในบริษัทหรือผู้ให้บริการในตลาดทุนที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. โดยตรวจสอบได้จากเว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย https://www.set.or.th
พล.ต.ต.ฐายุฏฐ์ จันทร์ถาวร รอง ผบช.สอท. กล่าวว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนที่ต้องการมีรายได้พิเศษอาจตกเป็นเหยื่อคนร้ายหลอกลวงให้ทำงานในรูปแบบต่างๆ โดยการทำงานง่าย รายได้ดี มีค่าคอมมิชชันสูง มาจูงใจให้อยากทำภารกิจ จากนั้นคนร้ายจะหลอกให้ทำภารกิจต่างๆ ตามที่กล่าวมาแล้ว สุดท้ายหลอกให้โอนเงิน จะเห็นได้ว่าคนร้ายจะเปลี่ยนรูปแบบการหลอกลวงให้ทำภารกิจไปเรื่อยๆ แต่ให้สังเกตุว่าคนร้ายจะเสนอค่าคอมมิชชันจากการทำงานหารายได้พิเศษจำนวนมากๆ มาจูงใจ การโอนเงินทำภารกิจในช่วงแรกๆ เมื่อเหยื่อโอนเงินจำนวนน้อยๆ เพื่อทำภารกิจไปแล้ว คนร้ายจะโอนเงินทุนพร้อมจ่ายเงินปันผลหรือค่าคอมมิชชันคืนเพื่อให้เหยื่อหลงเชื่อ จากนั้นคนร้ายจะเริ่มหลอกเอาเงิน โดยในช่วงขั้นตอนของการโอนเงินทำภารกิจหรือการถอนเงิน คนร้ายจะให้เหยื่อทำภารกิจหลายภารกิจๆ มีเงื่อนไขยากๆ หากเหยื่อทำไม่ถูกจะอ้างว่าเป็นความผิดของเหยื่อ ในช่วงการโอนเงินทำภารกิจหรือถอนเงิน จะให้เหยื่อโอนเงินจำนวนหลายครั้ง โดยอ้างว่าเหยื่อไม่ได้เขียนบันทึกช่วยจำ เขียนบันทึกช่วยจำผิด เขียนไม่ครบ เว้นวรรคไม่ถูก จนบางครั้งเหยื่อต้องโอนเงินยอดเดิมซ้ำๆ 3 – 5 ครั้ง และในแต่ละครั้ง คนร้ายจะแจ้งย้ำตลอดว่าสุดท้ายจะได้เงินคืนทั้งหมด ส่วนเหยื่อเห็นยอดเงินการลงทุนทำภารกิจขึ้นในระบบของเว็บไซต์ปลอม(เงินในอากาศ) จึงเชื่อว่าจะได้เงินคืนทั้งหมดเช่นกัน บางครั้งคนร้ายอ้างว่า AI ตรวจพบว่าสลิปโอนเงินผิด หรือการโอนเงินไม่ถูกทำให้ระบบผิดพลาด และจะให้โอนเงินเพิ่ม จึงขอแจ้งเตือนให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารถึงวิธีการของคนร้าย และหากต้องการลงทุนในการเทรดหุ้น ควรลงทุนในบริษัทหรือผู้ให้บริการในตลาดทุนที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. โดยตรวจสอบได้จากเว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย https://www.set.or.th และเพื่อให้รู้เท่าทันภัยออนไลน์ในรูปแบบใหม่ สามารถติดตามข้อมูลการแจ้งเตือนภัยออนไลน์ได้จาก เว็บไซต์ และเพจ เตือนภัยออนไลน์ หรือโทรสายด่วน 1441