จากกรณีการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ได้ดำเนินการประกวดราคาเช่ารถส่วนกลาง ประเภทรถปิคอัพดับเบิ้ลแค็ป พลังไฟฟ้า (อีวี) งบประมาณปี 2566 โดยมีการจัดซอยขอบเขตของงาน หรือ TOR แบ่งเป็น การจัดเช่ารถปิคอัพดับเบิ้ลแค็ป พลังไฟฟ้า พร้อมติดตั้งหลังคาอลูมิเนียม จำนวน 3 คัน วงเงินงบประมาณ 7,707,480 บาท การจัดเช่ารถปิคอัพดับเบิ้ลแค็ป พลังไฟฟ้า แบบมาตรฐานทั่วไป จำนวน 11 คัน วงเงิน 28,003,793 บาท การจัดเช่ารถปิคอัพดับเบิ้ลแค็ป พลังไฟฟ้า พร้อมติดตั้งหลังคาไฟเบอร์กลาสทรงสูง จำนวน 9 คัน วงเงิน 23,239,620 บาท การจัดเช่ารถปิคอัพดับเบิ้ลแค็ป พลังไฟฟ้า พร้อมติดตั้งหลังคาไฟเบอร์กลาสทรงเตี้ย จำนวน 8 คัน วงเงิน 20,657,094 บาท รวมทั้งสิ้น 31 คัน วงเงินรวมทั้งสิ้นเกือบ 80 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นรถส่วนกลางในภารกิจของ กฟน. โดย บริษัท ไทยอีวี จำกัด เป็นผู้ที่ชนะการเสนอราคาในทุกรายการ แต่เมื่อถึงกำหนดระยะเวลาในการส่งมอบรถ ทางบริษัทไม่สามารถส่งมอบรถปิคอัพไฟฟ้าให้กับทาง กฟน.ได้ตามสัญญา ทำให้ กฟน.ได้รับความเสียหายนั้น
นายวีระศักดิ์ ยอดอาจ ที่ปรึกษากฎหมายและรับเรื่องราวร้องทุกข์ ชมรมสื่อออนไลน์ เปิดเผยว่า ใน TOR กำหนดไว้ว่าระยะเวลาการดำเนินการ คือมีระยะเวลาการเช่า 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2566 ถึงวันที่ 31 มี.ค.2571 ดังนั้นผู้ชนะการเสนอราคาดังกล่าว ต้องส่งมอบรถก่อนวันที่เริ่มต้นสัญญา อย่างน้อย 1 วันทำการ คือต้องส่งรถภายใน 31 มี.ค.ที่ผ่านมา ขณะนี้เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าทางผู้ชนะการเสนอราคาไม่สามารถที่จะจัดส่งมอบรถปิคอัพดับเบิ้ลแค็ป พลังงานไฟฟ้าได้ทันตามเงื่อนไขเวลาที่ระบุไว้ในในสัญญา ส่งผลให้ กฟน.ต้องเสียประโยชน์และได้รับความเดือดร้อน ไม่มีรถปิคอัพให้หน่วยงานในสังกัดใช้ออกไปให้บริการประชาชน เพราะรถปิคอัพไฟฟ้าก็ไม่สามารถส่งมอบได้ทันตามเวลา ในขณะที่รถเก่าก็หมดสัญญาเช่าไปแล้ว ถึงขั้นต้องหันกลับไปเช่ารถปิคอัพเครื่องยนต์ดีเซลของบริษัทฯเดิมที่หมดสัญญาเช่าไปตั้งแต่เดือน มี.ค.มาใช้แทน และเป็นเรื่องแปลกที่ ผู้บริหาร กฟน.กลับนิ่งเฉยไม่ยกเลิกสัญญา แถมยังขยายเวลาในการส่งมอบถึงเดือน ส.ค.นี้ ทั้งๆที่ กฟน.เป็นฝ่ายเสียประโยชน์อย่างชัดเจน
ที่ปรึกษากฎหมายและรับเรื่องราวร้องทุกข์ ชมรมสื่อออนไลน์ กล่าวอีกว่า แม้ กฟน.จะกำหนดใน TOR ขอสงวนสิทธิ์ในการเปลี่ยนแปลงวันที่เริ่มต้นสัญญาและวันสิ้นสุดสัญญา แต่การจะเปลี่ยนแปลงวันที่เริ่มต้นสัญญาและวันสิ้นสุดสัญญานั้นต้องมีเหตุผลอันสมควร ไม่ใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงสัญญาเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนผู้ชนะการเสนอราคา เพราะจะถูกมองได้ว่าเป็นการประมูลที่อาจส่อไปในทางทุจริต ดังนั้นเพื่อเป็นการสร้างความโปร่งใสให้กับ กฟน. และสร้างความเชื่อมั่นให้กับสังคม ทางผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวงควรออกมาชี้แจงเหตุผลอันสมควร ในการเปลี่ยนแปลงวันที่เริ่มต้นและวันสิ้นสุดสัญญา อย่าให้ถูกมองว่าเป็นการขยายเวลาออกไปเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชน และที่สำคัญเรื่องนี้สิ่งที่ทาง กฟน.ควรทำคือ การยกเลิกสัญญาเพราะถือว่าทำผิดเงื่อนไขสัญญา และไม่ใช่เพียงยกเลิกสัญญาเท่านั้นแต่ควรจะขึ้นแบล็คลิสต์เพื่อให้ไม่มีสิทธิ์เข้าประมูลกับหน่วยงานราชการอีกต่อไป
“อยากฝากเตือนไปถึงหน่วยงานของทางราชการว่า ด้วยนโยบายส่งเสริมของรัฐบาลที่ให้หน่วยงานราชการและวิสาหกิจเริ่มต้นใช้ยานพาหนะในหน่วยงานของตัวเองเป็นแบบอย่างรณรงค์เป็นตัวอย่างแก่ประชาชนร่วมกันเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า ทำให้มีพ่อค้าหัวใสพากันนำเข้ารถไฟฟ้าจากจีนแล้ววิ่งเต้นขอใบอนุญาตตั้งโรงงานซึ่งไม่มีอยู่จริง เข้ามาหลอกลวงหน่วยราชการว่าเป็นรถที่ผลิตขึ้นในปะเทศไทย ทำให้หน่วยงานหลงเชื่อผ่านคุณสมบัติมีสิทธิ์เข้าร่วมประมูล ดังนั้นการจะจัดซื้อจัดจ้างรถยนต์ไฟฟ้าของหน่วยราชการควรกำหนดคุณสมบัติรถยนต์ไฟฟ้าให้ชัดเจนและจะให้ดีคณะกรรมการจัดซื้อควรไปตรวจสอบโรงงานผลิตและประกอบรถยนต์ตามคำกล่าวอ้างของพ่อค้า เพื่อให้มั่นใจว่ามีโรงงานผลิตและประกอบรถยนต์ไฟฟ้าจริง ไม่ใช่มีเพียงแค่เอกสารหรือใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานแต่กลับนำเข้ามาทั้งคัน แต่เป็นที่น่าแปลกใจที่หน่วยราชการหรือวิสาหะกิจกลับหลงเชื่อหรือมีอะไรแอบแฝงอย่างกรณีนี้” นายวีระศักดิ์กล่าวทิ้งทาย