วันเสาร์, พฤษภาคม 18, 2024
หน้าแรกคอลัมนิสต์วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตรสภาฯ ไฟเขียว พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมาน-อุ้มหาย 359 เสียง ชูเป็นธรรมต่อ ปชช.และ จนท.

Related Posts

สภาฯ ไฟเขียว พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมาน-อุ้มหาย 359 เสียง ชูเป็นธรรมต่อ ปชช.และ จนท.

“…ประชุมสภาลงมติ 359 เสียง! ผ่านฉลุย พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมาน-อุ้มหาย “ชวลิต” ชูเป็นร่างกฎหมายที่เป็นธรรมต่อประชาชนและเจ้าหน้าที่ ชงต่อวุฒิสภาพิจารณา…“พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร” ลุ้น!!! ร่างกฎหมายจะผ่านความเห็นชอบของ “วุฒิสภา” ด้วยคะแนนเสียงท่วมท้นเช่นเดียวกับสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากไม่มีเหตุผลที่ “วุฒิสมาชิก” คนใดจะขัดขวางการมีกฎหมายที่ก้าวหน้าของสังคมเช่นนี้เช่นประเทศที่เจริญทั่วโลกเขามีกัน!…”

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 23 ก.พ. 2565 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 เป็นประธานการประชุม พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. …. ทั้งหมด 4 ร่าง คือร่างที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) ร่างที่คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ร่างของ ส.ส.พรรคประชาชาติ และร่างของ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ โดยใช้ร่างของ ครม.เป็นหลัก ซึ่งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญฯ พิจารณาเสร็จแล้ว ที่มีนายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธาน กมธ.วิสามัญฯ ซึ่งเป็นการพิจารณาในวาระสอง ตามรายมาตรา ซึ่งมีทั้งหมด 5 หมวด 34 มาตรา และบทเฉพาะกาล

โดยนายชวลิต เสนอรายงานว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้สอดคล้องกับอนุสัญญาระหว่างประเทศ ที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคีไว้ 2 ฉบับคือ 1.อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนในการบังคับให้หายสาบสูญ และ 2.อนุสัญญาการต่อต้านการทรมาน และการปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี ซึ่งสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มุ่งป้องกันและปราบปรามเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ไม่ให้กระทำผิดกฎหมายเสียเอง ขณะเดียวกันมุ่งคุ้มครอง เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งถือว่าเป็นร่างกฎหมายที่ให้ความเป็นธรรม ทั้งประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐ

นายชวลิต กล่าวต่อว่า กมธ.ฯ ได้สรุปสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ฯ บางส่วนดังนี้

  1. มีการเพิ่มบทบัญญัติว่าด้ายการกระทำความผิดฐานกระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย้ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
  2. กำหนดให้มีการบันทึกภาพและเสียงในการตรวจค้นในคดีอาญา และการบันทึกภาพและเสียงในขณะจับกุมตรวจค้นในคดีอาญา
  3. องค์ประกอบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย มีความครอบคลุมทุกมิติ ทั้งด้านสิทธิมนุษยชน ด้านกฎหมาย แพทย์ทางนิติเวชและทางจิตเวชศาสตร์
  4. กระบวนการสรรหาคณะกรรมการดังกล่าว กำหนดให้ฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งเป็นตัวแทนประชาชนได้มีส่วนร่วมในกระบวนการสรรหา
  5.  ให้คดีตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นคดีพิเศษ และกำหนดให้หลายหน่วยงานเข้ามาร่วมสอบสวน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในด้านการดำเนินคดี และรวบรวมพยานหลักฐานให้ทันกับสถานการณ์และป้องกันการทำลายพยานหลักฐานสำคัญในคดี

กระทั่ง เวลา 17.20 น. หลังสมาชิกอภิปรายเป็นรายมาตราเสร็จสิ้นแล้ว ที่ประชุมมติในวาระสาม เห็นชอบกับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวด้วยคะแนน 359 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 1 เสียง ไม่ลงคะแนน 2 เสียง ซึ่งขั้นตอนจากต่อไปทางสภาฯ จะส่งให้วุฒิสภาพิจารณาต่อไป

(ขวามือสุด) พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร อดีต รอง ผบก.จเรตำรวจ และเลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (สป.ยธ.)

ด้าน พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร อดีต รอง ผบก.จเรตำรวจ และเลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (สป.ยธ.) ในฐานะ “ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาแปรญัตติ” ผู้มีส่วนร่วมในการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ กล่าวว่า

“นับเป็นเรื่องน่ายินดีที่ร่างกฎหมายซึ่ง มีความสำคัญต่อกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของประเทศ อย่างมากฉบับนี้ ได้ผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรทั้งวาระ 2 และ 3 ด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น โดยเฉพาะในวาระ 3 ไม่มีผู้ออกเสียง “ไม่เห็นด้วย” แม้แต่คนเดียว! ทั้งๆ ที่ก่อนจะนำเข้าสู่การพิจารณา มีกระแสข่าวว่าจะมีผู้คัดค้านจำนวนมากและอาจไม่ผ่านความเห็นชอบ เนื่องจากเป็นร่างที่คณะกรรมาธิการฯ ได้แก้ไขเพิ่มเติมให้แตกต่างไปจาก “ร่างของรัฐบาล”

ที่ผ่านความเห็นชอบไปในวาระที่ 1 มากมายในหลายประเด็น โดยเนื้อหาแทบจะเป็นแบบเดียวกับร่างฉบับ ส.ส. ที่ “อนุกรรมาธิการกฎหมายและการยุติธรรม” ศึกษาและจัดทำขึ้นทั้งหมด ที่สำคัญก็เช่น

การกำหนดให้การกระทำของเจ้าพนักงานอันเป็นการ ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งบัญญัติเป็นนามธรรมไว้ในรัฐธรรมนูญ เป็นความผิดทางอาญามีโทษจำคุกถึง 3 ปี ซึ่งถือเป็นการยกระดับการคุ้มครองศักดิ์ศรีความมนุษย์ของบุคคลไว้ไม่ให้ถูกละเมิดเมื่อถูกจับหรือควบคุมตัว เช่น การเอาถุงคลุมหัว การแกล้งทำให้เกิดความหวาดกลัว หรือกระทำด้วยประการใดๆ ที่มิใช่เป็นการปฏิบัติต่อมนุษย์ด้วยกัน เช่นที่เกิดขึ้นมากมายและเป็นปัญหาอยู่ในปัจจุบัน

นอกจากนั้น การควบคุมตัวบุคคลไม่ว่าจะในฐานะใด ผู้รับผิดชอบต้องจัดให้มีการบันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่องไว้ตลอดจนกว่าจะส่งตัวให้พนักงานสอบสวน หรือปล่อยตัวตามกฎหมาย รวมทั้งมีหน้าที่ต้องแจ้งให้ฝ่ายปกครองคือนายอำเภอและพนักงานอัยการทราบทุกครั้งในทุกพื้นที่ แม้แต่ในเขตกรุงเทพมหานครก็ต้องแจ้งให้อธิบดีกรมการปกครองทราบและตรวจสอบ ซึ่งถือเป็นมาตรการป้องกันการกระทำทารุณหรือการละเมิดอื่นใดต่อผู้ถูกจับที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการควบคุมตัว

รวมทั้งการสอบสวนความผิดตามกฎหมายนี้ ได้กำหนดให้ทั้งฝ่ายปกครองคือนายอำเภอ ตำรวจ พนักงานอัยการ และกรมสอบสวนคดีพิเศษเป็นพนักงานสอบสวน มีอำนาจสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานการกระทำผิดตามคำร้องทุกข์หรือกล่าวโทษตั้งแต่เริ่มคดีได้ทุกหน่วยตามที่มีผู้ร้องทุกข์หรือกล่าวโทษ แม้กระทั่งในเขตกรุงเทพฯ กรมการปกครองกระทรวงมหาดไทยก็มีอำนาจการสอบสวนดำเนินคดีด้วยเช่นกัน

แต่ร่างฉบับของรัฐบาลต้องการให้อำนาจสอบสวนความผิดเป็นของกรมสอบสวนคดีพิเศษเพียงองค์กรเดียวซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาความล่าช้า ทำให้พยานหลักฐานสูญหาย ถูกทำลายหรือเปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากประชาชนเข้าถึงยากกว่านายอำเภอและอัยการจังหวัดในพื้นที่เกิดเหตุมาก

ร่างกฎหมายฉบับนี้จึงถือเป็น “มิติใหม่ของรัฐไทย” ในการยกระดับมาตรฐานการปฏิบัติทั้งลักษณะความผิดและการสอบสวนดำเนินคดีเพื่อคุ้มครองสิทธิในชีวิต ร่างกาย รวมทั้งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลผู้ถูกเจ้าพนักงานควบคุมตัวไว้ ไม่ว่าจะในฐานะผู้ต้องหาหรือด้วยการใช้อำนาจพิเศษตามกฎหมายฉบับใด ซึ่งจะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อ “วิธีคิด” และ “พฤติกรรม” ของเจ้าพนักงานทุกฝ่ายอย่างมีนัยยะสำคัญยิ่งในอนาคต

จึงหวังว่า ร่างกฎหมายจะผ่านความเห็นชอบของ “วุฒิสภา” ด้วยคะแนนเสียงท่วมท้นเช่นเดียวกับสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากไม่มีเหตุผลที่ “วุฒิสมาชิก” คนใดจะขัดขวางการมีกฎหมายที่ก้าวหน้าของสังคมเช่นนี้เช่นประเทศที่เจริญทั่วโลกเขามีกัน!”

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts