โดย พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร
เหตุการณ์สารวัตรตำรวจทางหลวงถูกนายหน่องยิงตายในงานเลี้ยงอาหารบ้านกำนันนก ผู้ประกอบธุรกิจก่อสร้างถนนหนทางและรถบรรทุกดินทรายผู้กว้างขวางและมีน้ำใจในจังหวัดนครปฐม
ปมปัญหาสำคัญที่ผู้คนสงสัยใคร่รู้แท้จริงก็คือ “แรงจูงใจ” ให้นายหน่องกระทำการอย่างอุกอาจเช่นนั้น เกิดจากอะไร?
ไม่ว่าจะเป็นข้อสันนิษฐานของพนักงานสอบสวนในการดำเนินคดีที่ว่า ถูกเจ้านายคือกำนันสั่งใช้ให้ทำ ด้วยเหตุขัดใจที่ขอให้ช่วยเปลี่ยนหน้าที่ตำรวจคนหนึ่งไม่ได้?
หรือในข้อเท็จจริง นายหน่องเกิดอารมณ์เดือดดาลเมื่อเห็นการกระทำของสารวัตรที่ตนคิดว่า เป็นการหักหน้าเจ้านายผู้มีพระคุณอันเป็นที่รักสุดชีวิต
คนที่จะไขปัญหานี้ให้กระจ่างได้อย่างแท้จริงก็คือ ตัวคนร้าย ที่จะบอกว่าทำไปเพราะอะไร?
แต่เมื่อนายหน่องได้ถึงแก่ความตาย ไม่ว่าจะเป็นด้วยเหตุวิสามัญฆาตกรรม
หรือว่าอาจเป็น “สามัญฆาตกรรม”!
ได้ทำให้เหตุผลแท้จริงซึ่งเป็นสิ่งที่ประชาชนต้องการรู้นั้นดำมืดตลอดไป
นอกจากปัญหาสาเหตุของการฆ่าต่อหน้าตำรวจกว่ายี่สิบคนที่ประชาชนสงสัยว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร ซ้ำหลังเกิดเหตุตำรวจจำนวนมากแม้กระทั่งนักสืบมือฉกาจที่นั่งอยู่ในงานหลายคนก็ได้ปล่อยให้ผู้กระทำผิดหนีออกไป
อีกประเด็นหนึ่งซึ่งผู้คนให้ความสนใจก็คือ ตำรวจไทยผู้มียศน้อยใหญ่ไปนั่งมั่วสุมรับเลี้ยงเหล้ายาอาหารกันในบ้านของบุคคลที่เรียกกันหลังเกิดเหตุว่า
เป็น “ผู้มีอิทธิพล”
ในฐานะที่ทุกคนเป็นเจ้าพนักงานตำรวจผู้มีหน้าที่รักษากฎหมายถือเป็นการกระทำผิดวินัย หรือจริยธรรมตำรวจข้อหนึ่งข้อใดหรือไม่?
ขอเรียนว่า ประเด็นนี้ ถ้าไม่มีเหตุสารวัตรตำรวจถูกยิงตาย
ก็คงไม่มีใครไม่ว่าจะเป็นตำรวจหรือประชาชนคิดถึงเรื่องความผิดทางวินัยหรือจริยธรรมตำรวจอะไรทั้งสิ้น
คำว่า “กินฟรี มีเกียรติ” เป็นสิ่งที่ตำรวจไทยชอบพูดและบอกญาติมิตรกันด้วยความภูมิใจมาช้านาน!
ตำรวจผู้ใหญ่สอนลูกหลานกันว่า ไม่มีอาชีพใดที่ “ผู้ให้ต้องยกมือไหว้ผู้รับ” เหมือนตำรวจประเทศไทย
ตามกฎหมายคือ พ.ร.บ.ตำรวจ กำหนดห้ามไว้มิให้ตำรวจทุกระดับกระทำข้อหนึ่งซึ่งถือเป็นความผิดทางวินัยคือ
“การประพฤติตนไม่สมควร” หรือ “กระทำการอันไม่สมควร”
มีโทษตั้งแต่ภาคทัณฑ์ กักยาม และกักขัง
แต่ถ้าการกระทำนั้นได้ก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรง ก็มีโทษไล่ออก ปลดออก จากราชการ
ส่วนการกระทำใดที่ถือว่าเป็น “การกระทำอันไม่สมควร” ก็อยู่ที่ตำรวจผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจจะวินิจฉัย
ไม่ได้มีหลักหรือเกณฑ์ที่ชัดเจนเป็นมาตรฐานอะไร?
ตำรวจผู้ใหญ่หรือแม้แต่ ผบ.ตร.คนที่เห็นว่าการ “กินฟรี มีเกียรติ” ของตำรวจเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ว่าเกียรตินั้นจะมีจริงหรือไม่?
ก็จะบอกว่าไม่เป็นการทำผิดวินัยที่จะต้องลงโทษทัณฑ์ทั้งร้ายแรงหรือไม่ร้ายแรงอะไร
เมื่อไม่ได้มีบทบัญญัติใดมิให้ตำรวจไทย “รับกินฟรี” ไม่ว่าจากบุคคลอาชีพใด
การไปนั่งล้อมวงสังสรรค์กินเหล้าและอาหารในบ้านกำนันเช่นนั้น จะมาพูดกันภายหลังเกิดเหตุร้ายว่า เข้าข่ายเป็นการทำผิดวินัย
ก็จะไม่เป็นธรรมสำหรับตำรวจผู้นิยมการ “กินฟรี” ซึ่งพร้อมไปกินทุกที่ทั่วไทย!
แม้ประชาชนทั่วไปจะเห็นว่าเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม แต่เมื่อตำรวจผู้ใหญ่ไม่ได้คิดเช่นนั้น การพิจารณาโทษทัณฑ์ก็ย่อมไม่เกิดขึ้น
ขอบคุณภาพ จาก Bright today
สำหรับจริยธรรมตำรวจ ได้มีการออกกฎ ก.ตร.ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๓ และเพิ่มเติมเมื่อ ๑ ก.ย. ๒๕๖๔ ที่น่าจะเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ก็มีตอนหนึ่งว่า
ข้อ ๒ ข้าราชการตำรวจพึงปฏิบัติตนเพื่อรักษาจริยธรรม ดังนี้
(๒) ต้องซื่อสัตย์สุจริต ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายระเบียบแบบแผนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติด้วยความโปร่งใส ไม่แสดงออกถึงพฤติกรรมที่มีนัยเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ รับผิดชอบต่อหน้าที่ มีความพร้อมรับการตรวจสอบและรับผิด มีจิตสำนึกที่ดี คำนึงถึงสังคม สิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน เคารพต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
(๓) ต้องกล้าตัดสินใจและยืนหยัดกระทำในสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม กล้าคัดค้านและดำเนินการแก้ไขในสิ่งที่ไม่ถูกต้องตามอำนาจหน้าที่ ใช้ดุลยพินิจในการปฏิบัติหน้าที่โดยปราศจากอคติ ไม่ยอมกระทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้องเหมาะสมเพียงเพื่อรักษาประโยชน์ของตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ
ไม่คบหาหรือให้การสนับสนุนผู้ประพฤติผิดกฎหมาย ผู้มีอิทธิพล หรือผู้มีความประพฤติหรือมีชื่อในทางเสื่อมเสียอันอาจกระทบต่อความเชื่อถือศรัทธาของประชาชน และต้องวางตัวเป็นกลางในฐานะผู้รักษากฎหมายในกระบวนการยุติธรรม
กฎ ก.ตร.ว่าด้วยจริยธรรมที่บัญญัติข้อควรปฏิบัติและข้อห้ามมิให้ตำรวจทุกระดับปฏิบัติมากมายเหล่านี้
เป็นเรื่องที่ตำรวจอ่านหรือได้ยินแล้วรู้สึก “ขำๆ”
ตำรวจผู้ใหญ่ไม่ว่าระดับใด ก็ไม่มีใครสนใจอ่าน หรือถือปฏิบัติกันแต่อย่างใด