วันที่ 27 มิถุนายน 2566 เวลาประมาณ 16.30 น. นายธวัชชัย พิทยโสภณ รองเลขาธิการ รักษาการเลขาธิการ, นายเอนก อยู่ยืน รองเลขาธิการ, นางพัฒนพร ไตรพิพัฒน์ ผู้ช่วยเลขาธิการและคณะเจ้าหน้าที่ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เดินทางมายัง กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดยมี พล.ต.ต.สุวัฒน์ แสงนุ่ม รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง, พล.ต.ต,พุฒิเดช บุญกระพือ ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ และคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน จากกรณีที่ ก.ล.ต. ได้ดำเนินการกล่าวโทษกลุ่มบุคคลรวม 18 ราย ในฐานะตัวการร่วม กรณีการสร้างราคาหรือปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ในการซื้อขายหลักทรัพย์ MORE เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2565 อันทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจผิดเกี่ยวกับราคาหรือปริมาณการซื้อหรือขายหลักทรัพย์ MORE ซึ่งเข้าข่ายฝ่าฝืนมาตรา 244/3 (1) ประกอบบทสันนิษฐานของมาตรา 244/5 และมาตรา 244/6 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ) ประกอบมาตรา 83 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ต่อพนักงานสอบสวน บก.ปอศ. เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2566 นั้น
ก.ล.ต. ได้ตรวจสอบการกระทำความผิดเพิ่มเติม เกี่ยวกับการสร้างราคาหรือปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ MORE และพบข้อเท็จจริงรวมถึงพยานหลักฐานที่สนับสนุนให้เชื่อได้ว่า กลุ่มบุคคลรวม 32 ราย** ได้ร่วมกันกระทำการสร้างราคาหรือปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ MORE ในช่วงระหว่างวันที่ 18 กรกฎาคม 2565 – 10 พฤศจิกายน 2565 ทั้งนี้ บุคคลดังกล่าวข้างต้น มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด โดยแบ่งหน้าที่กันหรือตกลงร่วมกันในการส่งคำสั่งซื้อขายในลักษณะที่ทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจผิดเกี่ยวกับราคาหรือปริมาณการซื้อหรือขายหลักทรัพย์ รวมทั้งส่งคำสั่งซื้อขายในลักษณะต่อเนื่องกันโดยมุ่งหมายให้ราคา หรือปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ผิดไปจากสภาพปกติของตลาด อันเข้าข่ายเป็นฝ่าฝืนมาตรา 244/3 (1) และ (2) ประกอบมาตรา 244/5 และมาตรา 244/6 แห่ง พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ โดยผลประโยชน์ที่กลุ่มผู้กระทำความผิดทั้งหมดได้รับหรือพึงได้รับ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 800 ล้านบาท ก.ล.ต. จึงกล่าวโทษบุคคลทั้ง 32 ราย ต่อ บก.ปอศ. เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมายต่อไป
พร้อมกันนี้ ก.ล.ต. ได้รายงานการดำเนินการดังกล่าวต่อ ปปง. เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป เนื่องจากความผิดดังกล่าวเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ซึ่งเป็นความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
ทั้งนี้ การกล่าวโทษของ ก.ล.ต. เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกระบวนการบังคับใช้กฎหมายทางอาญาเท่านั้น ภายใต้กระบวนการนี้ การพิจารณาวินิจฉัยว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายเป็นขั้นตอนในอำนาจการสอบสวนของพนักงานสอบสวน การสั่งฟ้องคดีของพนักงานอัยการ ตลอดจนดุลพินิจของศาลยุติธรรม ตามลำดับ ในกรณีนี้ ก.ล.ต. ได้รับข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และตรวจสอบเพิ่มเติมโดยประสานความร่วมมือกับ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) โดย บก.ปอศ. ในการตรวจสอบรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน ซึ่งเป็นไปตามนโยบายในการทำงานเชิงรุกร่วมกันในการสืบสวนและตรวจสอบการกระทำผิดเกี่ยวกับตลาดทุน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย