วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
หน้าแรกไม่มีหมวดหมู่(กสม. แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 24/2566) กสม. ประสาน ศธ. ยกเลิกระเบียบฯ ที่จำกัดเสรีภาพการแต่งกายตามหลักศาสนาของนักเรียนมุสลิม - ตรวจสอบโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองปกาไสย จ.กระบี่...

Related Posts

(กสม. แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 24/2566) กสม. ประสาน ศธ. ยกเลิกระเบียบฯ ที่จำกัดเสรีภาพการแต่งกายตามหลักศาสนาของนักเรียนมุสลิม – ตรวจสอบโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองปกาไสย จ.กระบี่ ชี้ขาดการมีส่วนร่วมและการประเมินความเสียหายต่อชุมชน แนะหาทางเลือกอื่นในการบริหารจัดการน้ำ

วันที่ 29 มิถุนายน 2566 เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนายพิทักษ์พล บุณยมาลิก เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 24/2566 โดยมีวาระสำคัญดังนี้

  1. กสม. ประสานกระทรวงศึกษาธิการ ยกเลิกระเบียบฯ ที่จำกัดเสรีภาพการแต่งกายตามหลักศาสนา จากกรณีโรงเรียนอนุบาลปัตตานี ไม่อนุญาตให้นักเรียนมุสลิมสวมฮิญาบ

นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้องรายหนึ่งเมื่อเดือนสิงหาคม 2565 ระบุว่า ก่อนมีการออกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 โรงเรียนอนุบาลปัตตานี (ผู้ถูกร้อง) ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นที่ธรณีสงฆ์ ได้อนุญาตด้วยวาจาให้นักเรียนหญิงที่นับถือศาสนาอิสลามสวมผ้าคลุมศีรษะ (ฮิญาบ) หรือสวมเครื่องแต่งกายที่ถูกต้องตามหลักศาสนาได้ โดยต้องเป็นไปตามกรอบระเบียบปฏิบัติของกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียน พ.ศ. 2551 ต่อมากระทรวงศึกษาธิการได้แก้ไขระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 โดยยกเลิกความในวรรคท้ายของข้อ 12 ของระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียน พ.ศ. 2551 และกำหนดให้นักเรียนซึ่งนับถือศาสนาอิสลามในสถานศึกษาอื่นนอกจากสถานศึกษาเอกชนสอนศาสนาอิสลามอาจเลือกแต่งเครื่องแบบนักเรียนหรือตามแบบที่สถานศึกษากำหนดได้ตามความสมัครใจ ยกเว้นสถานศึกษาที่ขอใช้พื้นที่วัดหรือที่ธรณีสงฆ์เป็นที่ตั้งของสถานศึกษา การแต่งเครื่องแบบนักเรียนให้เป็นไปตามสัญญาหรือข้อตกลงระหว่างวัดกับสถานศึกษา

เมื่อกระทรวงศึกษาธิการออกระเบียบว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 มา โรงเรียนอนุบาลปัตตานี จึงได้ออกระเบียบว่าด้วยการควบคุมและดูแลความประพฤติ การลงโทษ และการตัดคะแนนความประพฤติของนักเรียน พ.ศ. 2561 สรุปได้ว่า ไม่อนุญาตให้นักเรียนมุสลิมแต่งกายตามหลักศาสนา เนื่องจากสถานศึกษาอยู่ในพื้นที่ธรณีสงฆ์ ตามข้อยกเว้นในระเบียบกระทรวงศึกษาธิการฉบับใหม่ ผู้ปกครองจำนวน 20 คน จึงยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองยะลา ซึ่งศาลมีคำพิพากษาให้โรงเรียนยกเลิกระเบียบดังกล่าว แต่โรงเรียนฯ ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด จึงยังมิได้ยกเลิกระเบียบดังกล่าว และยังห้ามไม่ให้นักเรียนมุสลิมรายอื่นแต่งกายตามหลักศาสนา ยกเว้นนักเรียนผู้ฟ้องคดีต่อศาลปกครองจำนวน 20 ราย เท่านั้น จนกว่าศาลปกครองสูงสุดจะมีคำพิพากษา ผู้ร้องจึงขอให้ กสม. ดำเนินการให้ความช่วยเหลือแก่นักเรียนมุสลิมรายอื่น ๆ ในโรงเรียนด้วย

กสม. พิจารณาแล้วเห็นว่า เรื่องดังกล่าวเป็นกรณีเกี่ยวกับเสรีภาพในการนับถือศาสนาและการปฏิบัติหรือประกอบพิธีกรรมตามหลักศาสนา จึงรับไว้เป็นคำร้อง และสำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคใต้ ได้ประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนทันทีตั้งแต่เดือนกันยายน 2565 เป็นต้นมา โดยมีการประชุมรับฟังความคิดเห็น ข้อเท็จจริง ร่วมกับผู้ร้อง โรงเรียนฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ล่าสุดเมื่อเดือนมิถุนายน 2566 กสม. ได้ประชุมหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกับผู้แทนมหาเถรสมาคม ผู้แทนสำนักงานจุฬาราชมนตรี ผู้แทนสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ผู้แทนสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยที่ประชุมเห็นว่า หากระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 ที่แก้ไขใหม่ทำให้เกิดช่องว่างในการตีความระเบียบฯ ที่อาจขัดกับหลักสิทธิมนุษยชน ให้ กสม. ทำหนังสือแจ้งไปยังสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะหน่วยงานผู้ออกระเบียบฯ ให้จัดรับฟังความคิดเห็นเพื่อนำสู่การปรับปรุงแก้ไขระเบียบดังกล่าวให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนต่อไป

กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2566 จึงมีมติให้มีข้อเสนอแนะมาตรการในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่งใด ๆ ไปยังสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการโดยให้พิจารณายกเลิกความในข้อ 12 วรรคท้ายของระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 เพื่อลดปัญหาการใช้ดุลพินิจในการตกลงกันระหว่างวัดและผู้บริหารสถานศึกษา ซึ่งอาจเป็นช่องว่างให้เกิดปัญหาในเชิงปฏิบัติที่ขัดกับหลักสิทธิมนุษยชน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) นอกจากนี้ ให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเสนอเรื่องต่อมหาเถรสมาคม เพื่อพิจารณาให้ความเห็นในการยกเลิกความในข้อ 12 วรรคท้ายของระเบียบดังกล่าว หากสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการสอบถามด้วย

พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และสังคมไทยเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม การกำหนดกฎระเบียบจะต้องคำนึงถึงความแตกต่างหลากหลายเพื่อไม่ให้เกิดการเลือกปฏิบัติหรือกีดกันการเข้าถึงสิทธิพื้นฐานของประชาชน ทั้งนี้ โรงเรียนทุกแห่งควรเคารพสิทธิและเสรีภาพในการนับถือและปฏิบัติตามหลักศาสนา ซึ่งเชื่อมโยงถึงสิทธิของเด็กในการเข้าถึงการศึกษาอย่างทั่วถึง และต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ” นายวสันต์ กล่าว

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts