นายพิทักษ์พล บุณยมาลิก เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนเมื่อเดือนกันยายน 2565 จากชาวบ้านตำบลเขาพนม อำเภอเขาพนม จังหวัดกระบี่ ระบุว่า กรมชลประทาน (ผู้ถูกร้อง) จะดำเนินโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองปกาไสย ในพื้นที่หมู่ที่ 7 ตำบลเขาพนม อำเภอเขาพนม จังหวัดกระบี่ โดยที่ผ่านมากรมชลประทานไม่ได้แจ้งข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการและผลกระทบให้แก่ประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบ นอกจากนี้ ยังมีความกังวลว่าโครงการดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินของประชาชนหลายราย เนื่องจากพื้นที่ดำเนินโครงการอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ซึ่งประชาชนใช้เป็นที่อยู่อาศัยและทำกินมาเป็นระยะเวลายาวนานจนมีความมั่นคงในชีวิต และได้รับเอกสาร ส.ป.ก. 4-01 มาตั้งแต่ปี 2541 อีกทั้งในพื้นที่ได้มีการพัฒนาแหล่งน้ำแล้ว คือ อ่างเก็บน้ำคลองแห้ง ซึ่งอยู่ห่างจากพื้นที่ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองปกาไสยประมาณ 2 กิโลเมตร จึงขอให้ตรวจสอบ
กสม. พิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 41 ได้รับรองสิทธิของบุคคลและชุมชนในการได้รับทราบและเข้าถึงข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะในครอบครองของหน่วยงานของรัฐ และมาตรา 43 (2) และ (3) ได้รับรองสิทธิในการมีส่วนร่วมในการจัดการ บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน รวมทั้งสามารถเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐให้ดำเนินการใดอันจะเป็นประโยชน์ หรืองดเว้นการดำเนินการใดอันจะกระทบต่อความเป็นอยู่อย่างสงบสุขของประชาชนหรือชุมชน โดยมาตรา 57 (2) และ 58 ยังกำหนดให้เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะดำเนินการให้เกิดการอนุรักษ์ คุ้มครอง บำรุงรักษา และจัดให้มีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพ ให้เกิดประโยชน์อย่างสมดุลและยั่งยืน โดยต้องให้ประชาชนและชุมชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วม และในกรณีที่รัฐจะดำเนินการใด ถ้าการนั้นอาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิต ของประชาชนหรือชุมชน รัฐต้องดำเนินการให้มีการศึกษาและประเมินผลกระทบ และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนและชุมชนที่เกี่ยวข้องก่อน
กรณีนี้ มีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่า ในการดำเนินโครงการดังกล่าว กรมชลประทานได้จัดให้มีการประเมินผลกระทบและจัดการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย ประชาชน และชุมชนที่เกี่ยวข้องหรือไม่ อย่างไร ดังต่อไปนี้
(1) การศึกษาและประเมินผลกระทบของโครงการ เห็นว่า โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองปกาไสยเป็นกิจการชลประทานประเภทอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ความจุอ่างที่ระดับกักเก็บ 7.5 ล้านลูกบาศก์เมตร ใช้พื้นที่ดำเนินโครงการทั้งหมดประมาณ 600 ไร่ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแหล่งเก็บกักต้นทุนน้ำสำหรับใช้ในการเกษตรและทำประปาในเขตอำเภอเขาพนม โครงการดังกล่าวไม่เข้าข่ายโครงการที่ต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม แต่เนื่องจากในการดำเนินการจะมีผู้ได้รับผลกระทบด้านที่ดิน ที่อยู่อาศัย และพืชผลทางการเกษตร กว่า 200 คน ทั้งอาจส่งผลกระทบไปถึงผู้ที่มีวิถีชีวิตต้องพึ่งพาระบบนิเวศในคลองเพื่อการดำรงชีพด้วยเนื่องจากการสร้างอ่างเก็บน้ำจะทำให้ธาตุอาหารถูกกักไว้ที่หน้าอ่าง กระทบต่อการลำเลียงธาตุอาหารต่าง ๆ ไปสู่ปากแม่น้ำ โดยเฉพาะแพลงก์ตอนน้ำจืดที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ จึงเห็นว่า โครงการนี้ควรต้องศึกษาในส่วนของผู้ได้รับผลกระทบด้วย แต่การศึกษารายงานวางโครงการของกรมประทานตั้งแต่ปี 2541 และการทบทวนรายงานเพิ่มเติมเมื่อปี 2564 เป็นเพียงการศึกษาข้อมูลทั่วไปโดยเน้นเรื่องความเหมาะสมในการออกแบบดำเนินโครงการและประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ และไม่ปรากฏข้อมูลการประเมินผลกระทบด้านทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพชีวิต และสังคม แต่อย่างใด
(2) การจัดการมีส่วนร่วมของโครงการ เห็นว่า โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองปกาไสยเข้าข่ายต้องดำเนินการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 ซึ่งกำหนดให้หน่วยงานต้องเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการให้ประชาชนทราบก่อนเริ่มดำเนินการ โดยต้องมุ่งให้ประชาชนมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโครงการ และรวบรวมความคิดเห็น รวมทั้งความเดือดร้อนหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นนำไปประกอบการพิจารณาด้วย แต่ในขั้นตอนการศึกษารายงานวางโครงการเมื่อปี 2541 ไม่ปรากฏข้อมูลการมีส่วนร่วมของประชาชน ส่วนในการทบทวนรายงานวางโครงการแม้ได้จัดการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยการประชุมชี้แจง 2 ครั้งเมื่อเดือนกันยายน 2563 แต่เป็นการทำหนังสือถึงอำเภอเขาพนม และองค์การบริหารส่วนตำบลเขาพนม เพื่อเชิญประชุมและประสานผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม โดยไม่ได้ปิดประกาศหรือเผยแพร่ข้อมูลและรายละเอียดโครงการล่วงหน้า และไม่ได้สรุปผลการรับฟังความคิดเห็นประกาศให้ประชาชนได้รับทราบ รวมทั้งไม่ได้เผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวผ่านระบบเครือข่ายสารสนเทศตามระเบียบฯ ด้วย
นอกจากนี้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า พื้นที่ดำเนินโครงการอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมและประชาชนที่อยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ดังกล่าวส่วนใหญ่ได้รับเอกสาร ส.ป.ก. 4-01 มาตั้งแต่ปี 2541 ซึ่งเป็นห้วงเวลาเดียวกับการจัดทำรายงานวางโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองปกาไสยครั้งแรก แต่ข้อมูลดังกล่าวไม่ปรากฏในรายงานวางโครงการทั้งในฉบับแรกและฉบับทบทวน มีเพียงการสรุปผลในรายงานวางโครงการว่า ประชาชนมีความกังวลเรื่องการเวนคืนที่ดิน และต้องให้ข้อมูลเพื่อสร้างความเข้าใจและชัดเจนในแนวทางดำเนินการต่อประชาชนต่อไป ซึ่งต่อมา เมื่อกรมชลประทานอนุมัติเปิดโครงการและเริ่มประกาศดำเนินการก่อสร้างเมื่อเดือนสิงหาคม 2565 อีกทั้งได้เสนอโครงการเพื่อขอรับงบประมาณตามแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำปี 2567 – 2570 โดยระบุว่า โครงการมีความพร้อมทั้งการขออนุญาตใช้ที่ดินและการดำเนินงาน ประชาชนที่จะได้รับผลกระทบด้านที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน ก็ยังไม่ได้รับทราบข้อมูลทั้งเรื่องผลกระทบและรายละเอียดการดำเนินโครงการ ทั้งยังไม่เคยให้ความยินยอมหรือสละสิทธิในที่ดินเพื่อนำไปใช้ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแต่อย่างใด และได้แสดงเจตนาคัดค้านโครงการเรื่อยมา
จากข้อเท็จจริงในทั้งสองประเด็นข้างต้นจึงเห็นว่า สิทธิในการมีส่วนร่วมและการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน รวมถึงการทำหน้าที่ของกรมชลประทานในการศึกษาและประเมินผลกระทบจากการดำเนินโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองปกาไสย ไม่สอดคล้องตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และหนังสือสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคี ทั้งในส่วนการมีส่วนร่วมเชิงกระบวนการและเชิงเนื้อหา โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการที่อาจมีผลกระทบต่อทรัพย์สินและความเป็นอยู่อย่างสงบสุขของประชาชนหรือชุมชน โดยเป็นหน้าที่ของรัฐในการให้หลักประกันว่าการพัฒนาในด้านต่าง ๆ จะไม่ลิดรอนวิถีชีวิตของประชาชนในท้องถิ่นและตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักการแห่งผลประโยชน์ร่วมกัน กรณีจึงเป็นการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2566 จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน และข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนต่อกรมชลประทาน จังหวัดกระบี่ และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เพื่อดำเนินการ สรุปได้ดังนี้
ให้กรมชลประทานร่วมกับจังหวัดกระบี่ พิจารณาทางเลือกหรือวิธีการอื่นในการบริหารจัดการน้ำ เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพการส่งน้ำ การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเดิมเพื่อเพิ่มปริมาณการกักเก็บน้ำและส่งน้ำ การนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ โดยให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน ชุมชน สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพน้อยที่สุด เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทุกฝ่าย เหมาะสมกับภูมินิเวศ และสภาพสังคม โดยให้คณะกรรมการลุ่มน้ำ องค์กรผู้ใช้น้ำ ประชาชนผู้มีส่วนได้เสีย ชุมชนท้องถิ่น และผู้ที่เกี่ยวข้อง มีส่วนร่วมในการดำเนินการดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ หากยังมีความจำเป็นต้องดำเนินโครงการนี้ต่อไป ให้กรมชลประทานจัดการรับฟังความคิดเห็นใหม่ โดยให้เริ่มกระบวนการจากผู้ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงเป็นลำดับแรก โดยก่อนการรับฟังความคิดเห็น ต้องศึกษาและประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากโครงการ ทั้งในมิติด้านทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และสังคม ด้วย โดยผลจากการรับฟังความคิดเห็นต้องมีผลเชื่อมโยงต่อการพิจารณาตัดสินใจของผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างมีนัยสำคัญ
นอกจากนี้ ให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ในฐานะหน่วยงานที่พิจารณาและดำเนินการรวบรวมแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำ กำหนดกลไกหรือหลักเกณฑ์เพิ่มเติมในการพิจารณาความพร้อมการเสนอโครงการเพื่อขอรับงบประมาณในการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำ โดยให้ตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาการร้องเรียนและคัดค้านโครงการจากประชาชนในพื้นที่ดำเนินโครงการ ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินโครงการที่ใช้งบประมาณของรัฐเป็นไปด้วยความรอบคอบและมาจากกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง