วันพุธ, กันยายน 25, 2024
หน้าแรกต่างประเทศจีนจีนเรียกร้องนานาชาติปกป้องภูมิภาค จับตาการปล่อย ‘น้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสี’ ของญี่ปุ่น

Related Posts

จีนเรียกร้องนานาชาติปกป้องภูมิภาค จับตาการปล่อย ‘น้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสี’ ของญี่ปุ่น

จีนเรียกร้องประชาคมระหว่างประเทศให้ความสนใจอย่างใกล้ชิด ต่อการปล่อยน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิจิ (Fukushima Daiichi Nuclear Power Plant) ของญี่ปุ่น โดยเตือนว่าการดำเนินการดังกล่าวอาจก่อให้เกิดปัญหาใหญ่ต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเลระดับโลก สาธารณสุข และปัญหาการโยกย้ายถิ่นที่อยู่ในวงกว้าง

สำนักข่าวซินหัว ระบุ ระหว่างการประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 53 นักการทูตจีนระบุว่า การปล่อยน้ำที่ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีลงสู่มหาสมุทรนั้นเทียบเท่ากับการถ่ายโอนความเสี่ยงของมลพิษนิวเคลียร์ไปสู่มนุษยชาติทั้งหมด

นักการทูตจีนกล่าวกับคณะมนตรีฯ ว่าการกระทำของญี่ปุ่นละเมิดความรับผิดชอบทางศีลธรรมระหว่างประเทศ และข้อผูกมัดทางกฎหมายระหว่างประเทศ เช่น อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเล และอนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันมลภาวะทางทะเลเนื่องจากการทิ้งวัสดุเหลือใช้และวัสดุอย่างอื่น หรืออนุสัญญาลอนดอน

“จีนกระตุ้นเตือนอีกครั้งให้ญี่ปุ่นยุติแผนการปล่อยน้ำปนเปื้อนนิวเคลียร์ลงสู่ทะเล กำจัดน้ำดังกล่าวด้วยวิธีการที่เป็นไปตามหลักวิทยาศาสตร์ ปลอดภัย และโปร่งใส พร้อมให้ความร่วมมือกับสำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) เพื่อจัดตั้งกลไกการตรวจสอบระหว่างประเทศระยะยาวที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านของญี่ปุ่น รวมถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ โดยเร็วที่สุด” นักการทูตจีนระบุ

ด้านสำนักข่าวนิกเกอิ รายงานว่า รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังวางแผนที่จะปล่อยน้ำกัมมันตรังสีที่ผ่านการบำบัดแล้วจากโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิจิอย่างเร็วที่สุดในเดือนส.ค. หลังจากได้รับการอนุมัติจากสำนักงานพลังงานปรมาณูสากล (IAEA) ซึ่งเป็นหน่วยงานเฝ้าระวังด้านนิวเคลียร์ของสหประชาชาติ (UN) โดย IAEA ได้ดำเนินการทบทวนเรื่องดังกล่าวเป็นเวลา 2 ปี และแถลงเมื่อ 4 ก.ค. ว่า แผนการปล่อยน้ำของญี่ปุ่นนั้น สอดคล้องกับมาตรฐานความปลอดภัยระดับโลก นับเป็นก้าวสำคัญในกระบวนการรื้อถอนโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะซึ่งได้รับความเสียหายอย่างหนักจากเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิในปี 2554

ทางการญี่ปุ่นยืนยันว่า น้ำได้ผ่านการกรองเพื่อกำจัดธาตุกัมมันตรังสีส่วนใหญ่ ยกเว้นทริเทียม (Tritium) ซึ่งเป็นไอโซโทปไฮโดรเจนที่แยกออกจากน้ำได้ยาก แต่ถึงกระนั้น น้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วจะถูกเจือจางให้อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าระดับไอโซโทปมาตรฐาน ที่ได้รับการอนุมัติในระดับสากลเพื่อไม่ให้เป็นอันตราย ก่อนที่จะปล่อยลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก

อย่างไรก็ตาม สหภาพแรงงานประมงท้องถิ่นของญี่ปุ่นแสดงความกังวลและคัดค้านแผนดังกล่าวมานานแล้ว เนื่องจากพวกเขาเชื่อว่าการปล่อยน้ำลงสู่ทะเลอาจทำให้ความพยายามกอบกู้ชื่อเสียงของผลิตภัณฑ์อาหารญี่ปุ่นล้มเหลว หลังจากที่มีหลายประเทศสั่งห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารญี่ปุ่นบางชนิดเนื่องจากมีความกังวลเกี่ยวกับสารกัมมันตรังสี

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts