วันที่ 17 สิงหาคม 2566 เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและนายพิทักษ์พล บุณยมาลิก เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 30/2566 โดยมีวาระสำคัญ ดังนี้
- กสม. ร่วมภาคีเครือข่ายจัดสมัชชาสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2566 ขับเคลื่อนงานสิทธิในกระบวนการยุติธรรม สิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อม สถานะบุคคล การขจัดการเลือกปฏิบัติ และการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว
นายพิทักษ์พล บุณยมาลิก เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) มีกำหนดจัดงานสมัชชาสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2566 : 75 ปี ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ภายใต้แนวคิด “ศักดิ์ศรี เสรีภาพ ความเสมอภาค และความยุติธรรมสำหรับทุกคน” ระหว่างวันที่ 23 – 24 สิงหาคม 2566 ณ ห้องวายุภักษ์ 3 – 4 ชั้น 4 โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทาราศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากองค์กรภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนต่อสถานการณ์สิทธิมนุษยชนและข้อเสนอแนะเชิงนโยบายการแก้ไขปัญหาให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างยั่งยืน รวมถึงเพื่อเป็นการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันในการขับเคลื่อนงานสิทธิมนุษยชนของประเทศ
ในปี 2566 นี้เป็นปีที่ 2 ของการจัดงานสมัชชาสิทธิมนุษยชนระดับชาติ โดย กสม. ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายขับเคลื่อน 5 ประเด็นสิทธิมนุษยชนที่สำคัญ ประกอบด้วย (1) สิทธิในกระบวนการยุติธรรม ว่าด้วยการผลักดันการบังคับใช้ พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ให้มีประสิทธิภาพและการผลักดันการบริหารจัดการทะเบียนประวัติอาชญากร (2) สิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อม เป็นการระดมข้อเสนอแนะในการปรับปรุงกฎหมาย พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. …. และกฎหมายวิธีพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อม การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมในระดับยุทธศาสตร์
(3) การแก้ไขปัญหากลุ่มสถานะบุคคล เป็นการระดมความคิดเห็นต่อแนวทางและกลไกการขับเคลื่อนนโยบายเพื่อขจัดความไร้รัฐไร้สัญชาติของประเทศไทย (4) การขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล ว่าด้วยการขับเคลื่อนกฎหมายกลางเพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล การขับเคลื่อนกฎหมายคุ้มครองพนักงานบริการ (Sex worker) ข้อเสนอในการยกเลิกการตรวจหาเชื้อเอชไอวีในการทำงาน รวมทั้งการแก้ไขปัญหาการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลในใบรับรองแพทย์เกินความจำเป็น
และ (5) การแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว เป็นการระดมความเห็นต่อปัญหาและอุปสรรคในการบังคับใช้กฎหมาย เช่น พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 พ.ร.บ. ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 ตลอดจนประเด็นการพัฒนากลไกในการให้ความคุ้มครอง ช่วยเหลือ และเยียวยาเหยื่อผู้ถูกกระทำความรุนแรงโดยสังคมมีส่วนร่วม รวมถึงแนวทางในการเสริมสร้างทัศนคติที่ถูกต้องเกี่ยวกับปัญหาความรุนแรงในครอบครัว
“การขับเคลื่อน 5 ประเด็นสิทธิมนุษยชนที่สำคัญดังกล่าว เป็นการดำเนินงานของ กสม. ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาสังคม ภาครัฐ และภาคเอกชน มาอย่างต่อเนื่องในปีที่ผ่านมา โดยในงานสมัชชาสิทธิมนุษยชนครั้งนี้ ภาคีเครือข่ายจะได้ร่วมกันนำเสนอข้อมติจากทั้ง 5 ประเด็น และจะมีการประกาศเจตนารมณ์รวมพลังขับเคลื่อนงานด้านสิทธิมนุษยชนร่วมกัน ซึ่งประชาชนหรือผู้ที่สนใจสามารถติดตามรับชมการถ่ายทอดสดประเด็นการพูดคุยและสาระในงานได้ทาง Facebook Live สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในวันที่ 24 สิงหาคม 2566 นี้ ” นายพิทักษ์พล กล่าว