นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากมูลนิธิสายเด็ก ระบุว่า เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ผู้เสียหายซึ่งเป็นเยาวชนหญิงอายุ 13 ปี ได้ถูกเยาวชนชายรายหนึ่งล่วงละเมิดทางเพศ มารดาและผู้เสียหายได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลร่มเกล้า (ผู้ถูกร้อง) แต่จนถึงวันที่ร้องเรียนตามคำร้องนี้เมื่อเดือนกันยายน 2565 ยังไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินคดี ส่งผลให้ผู้เสียหายมีภาวะป่วยเป็นโรคซึมเศร้าและไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย จึงขอให้ตรวจสอบและเร่งรัดการดำเนินคดี
กสม. พิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 68 กำหนดให้รัฐมีหน้าที่ในการจัดระบบบริหารงานในกระบวนการยุติธรรมทุกด้านให้มีประสิทธิภาพ สะดวก และรวดเร็ว ประกอบกับคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ 419/2556 เรื่องการอำนวยความยุติธรรมในคดีอาญา การทำสำนวนการสอบสวน และมาตรการการควบคุม ตรวจสอบ เร่งรัดการสอบสวนคดีอาญา ลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2556 กำหนดให้มีการแจ้งความคืบหน้าของคดีให้ผู้แจ้งความร้องทุกข์ทราบ
จากการตรวจสอบข้อเท็จจริง รับฟังเป็นที่ยุติว่า นับตั้งแต่วันที่พนักงานสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลร่มเกล้าได้รับแจ้งความลงบันทึกประจำวันเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2562 กระทั่งปัจจุบันระยะเวลาล่วงเลยมากว่า 4 ปี ผู้ถูกร้องไม่ได้ดำเนินการใด ๆ ตามหน้าที่และอำนาจที่กฎหมายกำหนดแม้มารดาผู้เสียหายและผู้เสียหายได้ติดตามขอทราบความคืบหน้าในการดำเนินคดีจากผู้ถูกร้องหลายครั้งก็ตาม เป็นเหตุให้มารดาผู้เสียหายและผู้เสียหายต้องร้องเรียนต่อมูลนิธิพิทักษ์สตรี และมูลนิธิสายเด็ก 1387 อันนำมาสู่การร้องเรียนต่อ กสม. เพื่อขอให้ตรวจสอบและเร่งรัดการดำเนินคดี อย่างไรก็ดี หลังจาก กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนได้ประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนให้แก่ผู้เสียหายโดยมีหนังสือขอทราบผลการดำเนินคดีไปยังผู้ถูกร้อง 3 ครั้ง แต่ก็ไม่ได้รับการตอบกลับ หรือแจ้งผลดำเนินการแต่อย่างใด
กสม. เห็นว่า การที่ผู้ถูกร้องไม่ดำเนินการสอบสวนคดีและไม่ปฏิบัติหน้าที่ในการอำนวยความยุติธรรม ทำให้ผู้เสียหายไม่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยา และไม่ได้รับการคุ้มครองด้วยความรวดเร็ว มีประสิทธิภาพและเป็นธรรม แม้ภายหลังจากที่มีการตรวจสอบกรณีตามคำร้องเรียนนี้ ผู้ถูกร้องจะชี้แจงว่าได้ออกเลขคดีอาญา ลงวันที่ 3 พฤษภาคม 2566 แจ้งสิทธิการขอรับค่าตอบแทนผู้เสียหายในคดีอาญา และออกหมายเรียกผู้ถูกกล่าวหาเพื่อมารับทราบข้อกล่าวหา พร้อมกับแจ้งว่าจะดำเนินการให้เสร็จสิ้นโดยเร็วแล้วก็ตาม ก็เป็นเพียงการดำเนินการในหน้าที่ที่ผู้ถูกร้องจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายอยู่แล้ว แต่ความล่าช้าที่ผู้ถูกร้องก่อให้เกิดขึ้นย่อมกระทบสิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของมารดาผู้เสียหายและผู้เสียหาย จึงเป็นการละเลยต่อหน้าที่อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
นอกจากนี้ การที่ผู้ถูกร้องละเลยการปฏิบัติหน้าที่ ยังอาจเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ที่ผู้ถูกร้องจะต้องดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด จึงเห็นควรส่งรายงานฉบับนี้ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการตามอำนาจและหน้าที่ต่อไป ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มาตรา 6 วรรคหนึ่ง
ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2566 จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) สรุปได้ดังนี้
ให้ ตร. เร่งรัดการสอบสวนคดีอาญาตามคำร้องกรณีนี้ โดยเร่งนำตัวผู้ถูกกล่าวหามาดำเนินคดี และสรุปสำนวนการสอบสวนเสนอพนักงานอัยการตามกระบวนการของกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยเร็ว ทั้งนี้ ให้แจ้งความคืบหน้าการสอบสวนคดีให้แก่ผู้เสียหายทราบตามกำหนดระยะเวลาในคำสั่ง ตร. ที่ 419/2556 ลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2556 พร้อมกันนี้ ให้ตรวจสอบให้ได้ข้อเท็จจริงว่า กรณีความล่าช้าดังกล่าวเป็นการกระทำในอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวนผู้ใด และให้ดำเนินการทางวินัยตามกฎหมาย
นอกจากนี้ ให้ ตร. นำคู่มือการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจตามหลักสิทธิมนุษยชนที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ของสำนักงาน กสม. โดยเฉพาะในส่วนมาตรฐานสิทธิมนุษยชนสากลและแนวทางในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจไปซักซ้อม ทบทวน และอบรมให้ความรู้เจ้าหน้าที่ในสังกัด เพื่อเป็นการป้องกันการกระทำที่อาจนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อไปในอนาคต ทั้งนี้ให้สั่งการสถานีตำรวจทั่วประเทศให้ตรวจสอบและเร่งรัดการดำเนินคดีที่อยู่ในการสืบสวนสอบสวนที่ล่วงเลยระยะเวลามานานแล้ว เพื่อให้ประชาชนได้รับการอำนวยความยุติธรรมตามกฎหมายต่อไป