วันอาทิตย์, พฤษภาคม 19, 2024
หน้าแรกคอลัมนิสต์สืบจากข่าวทำไมสื่อมวลชนประโคมกันจัง "ข่าวไร้สาระ...?"

Related Posts

ทำไมสื่อมวลชนประโคมกันจัง “ข่าวไร้สาระ…?”

อากิระ คุโรซาว่า ผู้สร้างภาพยนตร์เรื่อง ราโชมอน เคยเขียนไว้ว่า “มนุษย์น่ะ ไม่ซื่อสัตย์ต่อตัวเอง หากเอ่ยถึงเรื่องของตัวเอง ไม่มีใครหรอกที่จะไม่แต่งเติมเสริมปั้นให้มันดูดีเลิศลอย”

คารมคมคำที่เก่าแก่เฉียดร้อยปี ยังมีความหมายฟันธงตรงจุดในยุคสังคมไร้พรมแดนวันนี้จริงๆ…!

จากกระแสข่าวดาราสาวคนหนึ่งพลัดตกเรือเร็วจมหายไปกลางสายน้ำเจ้าพระยา เป็นข่าวโด่งดังที่ผู้คนจำนวนมากติดตามแทบทุกวินาทีที่ตื่นนอนหรือมีสติสัมผัสรู้สึกตัวได้ บางคนติดตามเหมือนเสพติดสารบางอย่างจนเลิกไม่ได้

และนี่ ก็คือการเสพติด “สาร” อย่างแท้จริง…สารที่หมายถึง เนื้อหาของข่าว หรือ อินฟอร์เมชัน นั่นเอง

เมื่อสังคมเป็นไปเอามากเช่นนี้ อาจมีความรู้สึกบ้างว่า ทำไมคนจึงให้ความสนใจกับเรื่องของคนเสียชีวิตคนหนึ่งมากมายได้ถึงเพียงนี้

มันมี “สาระ” หรือมีคุณค่าต่อสังคม ต่อชีวิตผู้เสพสารชนิดเองอย่างนั้นหรือ

ตอบคำถามนี้ด้วยทฤษฎีหรือหลักการข่าวอะไรที่สถาบันบ่มสอนเพาะมาก็ตอบได้ว่าไม่มีสาระคู่ควรอะไร

แต่หากพิจารณาจากเนื้อหาของข่าว กรณีคนๆ หนึ่งเสียชีวิต จะโดยสาเหตุอะไรก็ตามแต่ มีเพียง 5 คนเท่านั้นที่ “รู้จริงที่สุด” ว่าอะไรคือสาเหตุที่นำไปสู่ความตายของดาราสาว

ผู้รับสารหรือเสพสาร ต่างมี “จินตนาการ” ของตัวเองกันแล้ว ไม่มากก็น้อย หรือไม่มีเลยก็ได้ทั้งนั้น

ตรงปมประเด็นสาเหตุนี้เอง ที่เป็น “จุดสนใจ” ของผู้ติดตามเสพข่าวนี้ เหมือนๆ กับการเสพละครเรื่องหนึ่ง

ที่มี “เค้าโครงเรื่อง” ช่างน่าสนใจ ใคร่ครวญวิเคราะห์อย่างมากมาย

เริ่มจาก เหตุเกิดกลางเมืองใหญ่ กลางลำน้ำที่เส้นเลือด กลางเรือลำหนึ่ง ที่มีคนรับรู้เหตุการณ์เพียง 5 คน…..

เวลาเกิดเหตุขณะเกิดเหตุเป็นยามวิกาล ไร้ภาพจากกล้องวงจรปิด ไม่เหมือนกับคดีอาชญากรรมที่พบดาษดื่น มีหลักฐานข้อมูล ข้อเท็จจริงประดังประเดมากมาย

นี่แหละ…คือความน่าสนใจ คือพล็อตเรื่องที่สร้างนวนิยายหรือเป็นภาพยนตร์และละครชุดซีรี่ส์แนวอาชญากรรมสืบสวนสอบสวน ที่ชวนหลงใหลชวนติดตาม

อย่างเช่น ภาพยนตร์เรื่อง เดท ออน เดอะ ไนล์ ที่สร้างจากงานของ อะกาธา คริสตี้ ที่ละม้ายคล้ายกัน เพียงแต่ในเรื่องหนังเป็นการฆาตกรรมบนเรือ ที่ผู้โดยสารทุกคนบนเรือคือผู้ต้องสงสัย โดยมี “เฮอร์คูล ปัวโรต์” เป็นนักสืบสวนคดีอาชญากรรมที่บังเอิญอยู่ในเรือลำนั้นด้วย เรื่องราวจึงชวนสนุกและน่าติดตาม

หรืออย่างเรื่อง “ราโชมอน” ของอากิระ คุโรซาว่า ผู้กำกับระดับโลกชาวญี่ปุ่น ที่มีเนื้อหาคล้ายกัน เรื่องของการฆาตกรรม ที่สร้างพล็อตจากเรื่องสั้นและนิยาย 2 เรื่องมารวมกัน ของ ริวโนะสุเกะ อากุตางาวา

เนื้อเรื่องมีโจร กับซามูไร และภรรยา มาเจอกัน โจรพยายามจะข่มขืนภรรยาซามูไร จนเกิดการต่อสู้และซามูไรถูกฆ่าตาย คดีนำไปสู่ศาล ซึ่งมีพยาน 3 คนที่เห็นเหตุการณ์คือ ชาวบ้าน คนตัดฟืน และพระ ถูกนำมาซักในศาล  พยานแต่คนเล่าเหตุการณ์ตามความคิดของตน แต่ไม่เหมือนกันสักคน ยากที่จะตัดสินคดีว่าใครผิด ต่างคนก็กล่าวหาว่าพยานคนอื่นโกหก

คนตัดฟืนบอกว่า “คำให้การของทั้งหมดล้วนเป็นคำโกหกทั้งนั้น”

ชาวบ้านก็สวนทันควันว่า “ใครๆ ก็โกหกทั้งนั้นแหละ คนเรามักจะสร้างเรื่องราวให้ตัวเองดูดีกว่าคนอื่น”

เช่นเดียวกับพระ ที่มีภาพลักษณ์ดูน่าเชื่อถือที่สุด แต่ก็ยังไม่สามารถจะฟังได้ว่าที่ให้การเป็นความจริง

หนังเรื่องนี้ไม่มีบทสรุปว่าความจริงคืออะไร ซึ่งผู้สร้างให้ตัวละครเล่าเหตุการณ์ต่อหน้ากล้องถ่ายหนัง เสมือนหนึ่งให้คนดูคือ “ศาล” นั่นเอง

อากิระ คุโรซาว่า ผู้สร้างภาพยนตร์เคยเขียนไว้ว่า “มนุษย์น่ะ ไม่ซื่อสัตย์ต่อตัวเอง หากเอ่ยถึงเรื่องของตัวเอง ไม่มีใครหรอกที่จะไม่แต่งเติมเสริมปั้นให้มันดูดีเลิศลอย”

จากข่าวดาราสาวตกเรือจมแม่น้ำเสียชีวิต โดยที่ผู้คนบ้างคิดว่ามีเงื่อนงำไม่ถูกต้องหรือบ้างคิดว่าเป็นแค่อุบัติเหตุ หรืออะไรสักอย่างหนึ่ง โดยความคลางแคลงสงสัยนี่เองคือ “ความน่าสนใจ”

หลักการข่าวที่สถาบันสื่อสารมวลชนที่พร่ำสอนกันมา ล้วนมาจากการสร้างทฤษฎีของชาติตะวันตกทั้งสิ้น

แม้ว่าจะให้ความหมายคำจำกัดความของ “ข่าว” ว่าคือ ข้อมูลที่เป็นความจริง มีคุณค่าประโยชน์ต่อสังคม เป็นสิ่งที่กระทบต่อคนส่วนใหญ่ในสังคมฯลฯ

แต่บางครั้ง ทฤษฎีหรือหลักวิชาการสื่อข่าว อาจจะใช้ไม่ได้ในทุกข่าว

ข่าวที่ดี ไม่ได้หมายถึงว่า เป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อคนหมู่มากหรือต่อสังคมส่วนรวมอย่างเดียวเท่านั้น

ดังที่นักหนังสือพิมพ์ยุคเก่าก่อน มักใช้คำว่า “หมากัดคนไม่เป็นข่าว คนกัดหมาต่างหากคือข่าว”

แต่หากว่ามี “หมากัดแต่คนไม่ดี ที่มันรู้สึกว่าเป็นคนร้าย เป็นอาชญากร”เป็นคนฉ้อฉลกังฉินฯลฯ” ซึ่งหากคนเลือกเชื่อว่า “นั่นคือเรื่องจริง” มันก็เป็นข่าวที่น่าสนใจใช่ไหม

ยกตัวอย่าง หากหมากัดตำรวจ กัดทหาร กัดข้าราชการทุจริต กัดพระทุศีล กัดศาลที่เอียงกะเท่เร่ หรือใครก็ตาม คนเหล่านั้นคือคนที่เลวทรามชั่วช้า มันย่อมหนีไปพ้นที่จะเป็น “ประเด็นข่าว”ไปได้หรอก

ที่เล่ามาทั้งหมด มันมีสิ่งที่เหนือคำจำกัดความของ “ข่าว” ว่าจะต้องเป็นเรื่องจริง เป็นประโยชน์ต่อสังคมเท่านั้นที่จะเป็นข่าวที่ดี

ไม่เสมอไป เพราะข่าวจะน่าสนใจหรือไม่มันอยู่กับ “ความของน่าสนใจของมนุษย์” หรือที่เรียกทับศัพท์อังกฤษว่า “human interest” ต่างหาก

ลองคิดง่ายๆ ถ้าเสนอข่าวคนไปเดินเก็บขยะพลาสติกบนชายหาด  ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีอย่างมากแน่นอน แต่ข่าวจะได้รับความสนใจหรือไม่นั้น ย่อมทราบกันดีอยู่แล้ว

หรือยกตัวอย่างที่เกิดขึ้น คือเรื่องของดาราสาวตกเรือจมน้ำเสียชีวิต กับเรื่องของพนักงานกวาดถนนหญิงถูกรถชนเสียชีวิต มีการเปรียบเทียบว่า เหตุใดสื่อมวลชนจึงทุ่มเทกำลังคนเพือเกาะติดข่าวนี้อย่างเต็มที่ขนาดนั้น

ตอบได้ง่ายๆ ว่ามาจาก ฮิวแมน อินเทอเรสต์ นั่นเอง ไม่มีทางที่สื่อจะสามารถโน้มน้าวดึงดูดให้ผู้คนไปสนใจข่าวพนักงานกวาดถนนถูกรถชนเสียชีวิตได้

เพราะความสนใจตั้งใจจะเสพข่าวของมนุษย์แต่ละคน เป็นเรื่องส่วนบุคคลแท้ๆ หรือเป็นความชอบเป็นรสนิยมของผู้เสพข่าวเท่านั้น

สื่อไม่มีทางจะหันเหดึงดูดความสนใจของมนุษย์คนใดคนหนึ่งได้ง่ายๆ

ยกเว้นข่าวประเภทโปรปะกันดา หรือข่าวเฟกนิวส์ นั่นแหละ ที่เป็นบทบาทของสื่อที่จะโน้มน้าวสังคมได้

เห็นได้ชัดในเรื่องการเมือง ธุรกิจ สังคม ที่ข่าวชิ้นหนึ่งจะเอื้อประโยชน์หรือตอบโจทย์ให้ผู้รายงานข่าว

ซึ่งนี่จะนับว่าเป็นประโยชน์ของ “ข่าวปลอม” ที่มักถูกใช้ในบริบทหนึ่งสถานการณ์หนึ่งที่จะเป็นประโยชน์ของผู้ให้ข่าวนั้นๆ

ฉะนั้น “คุณค่าของข่าว” มันจึงย่อมขึ้นอยู่กับ “ประโยชน์ของใคร” หรือ “คุณค่าของใคร” ด้วย

ข่าวที่แท้จริง ข่าวที่อุดมไปด้วยข้อเท็จจริงเชื่อถือได้ จึงไม่ใช่ข่าวที่มีประโยชน์หรือมีคุณค่าเสมอไปสำหรับคนกลุ่มหนึ่ง

ทุกอย่างขึ้นอยู่กับ “ผู้รับสาร”หรือคนเสพข่าวที่จะต้องตรึกตรองพินิจพิจารณาด้วยสติปัญญาของตัวเอง

ข่าวที่มี “สาระ” เช่นกัน แม้จะเป็นประโยชน์ มีสาระคุณค่ามากแค่ไหน แต่หากขาด “ความน่าสนใจของมนุษย์” ข่าวนั้นๆ ก็แทบจะไม่ได้รับการเผยแพร่จากองค์กรสื่อใดสื่อหนึ่ง

อันเนื่องจากไม่อาจสร้างประโยชน์ตอบแทนให้องค์กรสื่อนั้นๆ ได้

แต่หากข่าวที่กล่าวว่า “ไร้สาระ” สิ้นเชิง แต่ได้รับความสนใจอย่างสูงจากคนเสพข่าวจากสังคมทั่วไปได้อย่างไร ต้องดูองค์ประกอบของข่าวที่ไร้สาระนั้นด้วยเช่นกัน

ยกตัวอย่าง ข่าวที่ชายหนุ่มคนหนึ่งตื่นขึ้นเมาก็ถ่ายภาพเซลฟี่ตนเอง ทุกวันๆๆ ติดต่อกัน 3-4 ปี กลายเป็นบุคคลที่สามารถสร้างรายได้ทำเงินนับล้านให้กับตนเอง กลับได้รับความสนใจติดตามข่าวอย่างมาก

ถามว่า “เป็นประโยชน์กับสังคมหรือเปล่า?”

ถ้าจับหลักการสื่อข่าวหรือหลักการเขียนข่าว ตามทฤษฎีที่พร่ำเรียนพร่ำสอนกันมา ตามตำราที่นักสื่อสารมวลชนในอดีตสร้างขึ้นมาเป็นบทเรียน จะเห็นได้ว่า ปัจจุบันทุกสิ่งทุกอย่างย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามพลวัตของโลก

จึงไม่อาจยึดมั่นว่า “สิ่งใดเป็นสิ่งที่ถูกต้องเสมอไป โดยเฉพาะแนวคิดของมนุษย์ ย่อมต้องเปลี่ยนไปตามกระแสธารของกาลเวลาและตามปัจเจกบุคคล ที่สร้างชุดความคิดของตนเองไว้แล้ว”

คนบางคน เลือกที่จะเชื่อในสิ่งที่ตนเชื่อ แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่ไม่จริง หรือมีข้อพิสูจน์ว่าไม่จริงแล้วก็ตาม

คนจะเชื่อ “อำนาจเวทย์มนต์ ไสยศาสตร์” แม้จะพิสูจน์กี่ครั้งกี่หนว่าเป็นสิ่งที่ไม่มีจริง เขาก็จะเชื่อตามนั้นไปตลอด

ขณะที่คนไม่เชื่อ ก็จะไม่เชื่อ ไม่ว่าจะโน้มน้าวให้เหตุผลอย่างไร ก็ไม่รับฟังนั่นเอง

นำมาปรับใช้ได้ในทุกบริบท ไม่ว่า การเมือง การศาสนา การสังคม ฯลฯ

กระทั่ง “วิทยาศาสตร์” บางครั้งก็ไม่จำเป็นต้องมี “เหตุผล” มารองรับสนับสนุน

เพราะความคิดวิทยาศาสตร์ก็ไม่ต่างอะไรจากความเชื่อไสยศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์ยังพยายามสร้างเครื่องจักรกลให้ทำงานเองได้ ดุจสิ่งมีชีวิต นั่นก็เหมือนกับนักไสยศาสตร์ที่เชื่อว่ามีภูตจิตวิญญาณล่องลอยในอากาศธาตุ สิ่งมีชีวิตคือธาตุคือสสารที่ไร้ชีวิต

เส้นแบ่งความมี “เหตุผล” กับ “ไร้เหตุผล” มันช่างบางเหลือเกินใช่ไหม

ที่กล่าวมาทั้งหมด อาจจะไม่สัมพันธ์ข้องเกี่ยวกันเลยกับที่ความคิดเห็นบทความนี้ แต่อยากจะบอกว่า สิ่งที่ควบคุมกระแสข่าวว่าจะถาโถมไปทางไหนได้นั้น

มันอยู่ใน “มโนสำนึก” หรือสันดานดิบของมนุษย์ นั่นแหละ 

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts