เมื่อวันจันทร์ (21 ส.ค.) สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ได้เดินทางออกจากกรุงปักกิ่งของจีน เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศบริกส์ (BRICS Summit) ครั้งที่ 15 ณ นครโจฮันเนสเบิร์กของแอฟริกาใต้ ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 22-24 ส.ค. นี้
นอกจากการเข้าร่วมประชุม BRICS Summit แล้ว สีจิ้นผิงจะเยือนแอฟริกาใต้อย่างเป็นทางการ ตามคำเชิญของไซริล รามาโฟซา ประธานาธิบดีสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ และเป็นประธานการเสวนาคณะผู้นำจีน-แอฟริกา (China-Africa Leaders’ Dialogue) ในแอฟริกาใต้ ร่วมกับประธานาธิบดีรามาโฟซา โดยคณะผู้ติดตามของสีจิ้นผิง ประกอบด้วยไช่ฉี สมาชิกคณะกรรมการถาวรประจำกรมการเมือง และผู้อำนวยการสำนักงานทั่วไปแห่งคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน (CPC) และหวังอี้ กรรมการกรมการเมืองแห่งคณะกรรมการกลางพรรคฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีนและคนอื่นๆ
BRICS เป็นการรวมตัวของกลุ่มประเทศกําลังพัฒนาที่มีการพัฒนาและการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว (Emerging Market) ประกอบด้วยประเทศ บราซิล (Brazil) รัสเซีย (Russia) อินเดีย (India) และ จีน (China) เพื่อย้ายอํานาจเศรษฐกิจโลกจากกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอย่าง G7 มาสู่กลุ่มประเทศกําลังพัฒนา โดยที่ประเทศทั้งสี่ข้างต้นมีพื้นที่รวมกันมากกว่าหนึ่งในสี่ของโลก และมีจํานวนประชากรรวมกันมากกว่าร้อยละ 40 ของประชากรโลก ต่อมาประเทศแอฟริกาใต้ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของกลุ่มอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนธันวาคม 2553
ล่าสุด 40 ประเทศสนใจเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS โดย 22 ประเทศยื่นเอกสารสมัครอย่างเป็นทางการแล้ว ส่วนประเทศที่เหลือแสดงความสนใจอย่างไม่เป็นทางการ โดยในการประชุมสุดยอดของกลุ่ม BRICS ซึ่งแอฟริกาใต้จะเป็นเจ้าภาพในครั้งนี้ ที่ประชุมจะประกาศรับ 5 ประเทศเข้าเป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการ ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อียิปต์ อาร์เจนตินา และอินโดนีเซีย
นักวิชาการหลายคนคาดการณ์ว่า ด้วยนโยบายของ BRICS ที่มีเป้าหมายต้องการสร้างกลุ่มการค้าพึ่งพากันและกัน มีกฎระเบียบเปิดกว้างให้ทุกประเทศมีสิทธิมีเสียงโดยไม่เอื้อประโยชน์กับประเทศใดประเทศหนึ่ง โดยมองว่าทุกประเทศเท่าเทียมกันไม่ว่าจะใหญ่หรือเล็ก อาจทำให้ BRICS เติบโตแซงหน้า G7 ที่เคยเป็นกลุ่มมหาอำนาจเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของโลก