นักวิชาการหลายคนออกมาบอกว่า โอกาสที่เงินหยวนจะก้าวขึ้นมาเป็นสกุลเงินหลักของโลก และทำให้อำนาจของดอลลาร์อ่อนแอลลง มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก หรือต้องใช้เวลาอีกนานมาก
นั่นก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ว่าด้วยอิทธิพลของดอลลาร์ที่สั่งสมมายาวนาน และหลายประเทศค้าขายด้วยสกุลเงินดอลลาร์มานานปี การจะเปลี่ยนแปลงหันมาใช้เงินสกุลอื่นเป็นเรื่องที่ไม่ใช่จะเกิดขึ้นง่ายๆ
อย่างไรก็ตาม ด้วยค่านิยมของเงินหยวนที่ขยายไปในโลกกว้าง โดยเฉพาะการค้าขายผ่านโครงการ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” การซื้อขายแลกเปลี่ยนด้วยสกุลเงินท้องถิ่นกับเงินหยวนเริ่มถูกนำมาใช้มากขึ้น เกิดความสะดวกสบายและมีความเสี่ยงต่ออัตราแลกเปลี่ยนน้อยกว่าการใช้ดอลลาร์ ประเทศต่างๆ ทั่วโลกมุ่งหน้าสู่การละทิ้งการพึ่งพิงดอลลาร์ แม้กับพวกที่เป็นมิตรกับสหรัฐฯ ก็ยังมองว่าสัญญาณอันตรายทางเศรษฐกิจและการเงินในปัจจุบัน จำเป็นต้องเลือกระบบชำระเงินทางอื่นที่ไม่ต้องพึ่งพิงระบบ SWIFT และดอลลาร์ เพื่อความปลอดภัย ไม่ใช่ประเด็นของความน่าเชื่อถือหรือไม่น่าเชื่อถือ แต่เป็นข้อเท็จจริงที่ต้องฝ่าฟันอุปสรรค ด้วยการสร้างระบบชำระเงินใหม่ๆ ขึ้นมา และกระบวนการนี้จะเดินหน้าต่อไป
ข้อมูลของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ระบุ สัดส่วนของดอลลาร์ในทุนสำรองระหว่างประเทศของโลกลดลงมาแตะระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 3 ทศวรรษ ที่ 58% ในไตรมาส 4 ของปี 2022 สวนทางกับสถานะของหยวนในตลาดโลกกำลังเติบโตขึ้น
จากข้อมูลของธนาคารเพื่อการชำระบัญชีระหว่างประเทศ (BIS) ที่ระบุว่า สัดส่วนของของหยวนในการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านตลาดอย่างไม่เป็นทางการเพิ่มขึ้นจากระดับเกือบ 0% เมื่อ 15 ปีก่อน เป็น 7% ในปี 2023 หลายประเทศเริ่มปลีกหนีดอลลาร์จากการทำธุรกรรมข้ามพรมแดน โดยเฉพาะประเทศที่ต้องค้าขายกับจีนที่หันมาใช้เงินสกุลท้องถิ่นและหยวนแทน
หลายประเทศในเอเชียเริ่มหันมาเสริมสร้างความร่วมมือการใช้สกุลเงินท้องถิ่น สำหรับการทำธุรกรรมทวิภาคี และขยายขอบเขตกรอบความร่วมมือให้ครอบคลุมธุรกรรมข้ามพรมแดนที่มีคุณสมบัติอื่นๆ เพิ่มขึ้น นอกเหนือจากการค้าและการลงทุนโดยตรง ซึ่งจะเกื้อหนุนการเข้าถึงการทำธุรกรรมด้วยเงินสกุลท้องถิ่น และเพิ่มประสิทธิภาพการชำระเงินรูปแบบดังกล่าว
“หยวน” อาจไม่ใช่สกุลเงินหลักของโลกในเวลาอันใกล้นี้ แต่ “หยวน” ได้จุดประกายให้หลายประเทศในโลกเห็นทางเลือกการชำระเงินระหว่างประเทศที่มีอิสระมากกว่าในช่วงที่ผ่านมา