เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 3 มี.ค. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดย นาย วสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วย นางสาวสุภัทรา นาคะผิว ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ ในฐานะผู้แทนภาคีเครือข่ายที่ได้หารือกันถึงแนวทางการแก้ปัญหาการเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวี แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 8/2565 โดยมีวาระสำคัญ ดังนี้
- กสม. ชง ครม. กำหนดนโยบายห้องน้ำสาธารณะรองรับบุคคลทุกเพศ ตอบโจทย์การใช้ห้องน้ำสำหรับบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ
ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้องซึ่งเป็นบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในประเด็นเกี่ยวกับการจัดให้มีห้องน้ำสาธารณะสำหรับกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ จำนวน 36 คำร้อง ตั้งแต่ปี 2564 – 2565 ระบุว่า จากการเข้าใช้บริการห้องน้ำในร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า สถานศึกษา หน่วยงานราชการ และหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ หลายแห่ง พบว่าสถานที่ทั้งหมดข้างต้น ไม่มีห้องน้ำสำหรับบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ส่งผลให้ผู้ร้องเกิดความรู้สึกไม่สบายใจเมื่อต้องใช้ห้องน้ำ และเห็นว่ากรณีดังกล่าวเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ นั้น
กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 ได้พิจารณาคำร้อง ความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิ หน่วยงานของรัฐ และเอกชน ตลอดจนบทบัญญัติของกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชน ตลอดจนเอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 27 และพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ได้บัญญัติรับรองสิทธิและความเสมอภาคของบุคคล และวางหลักการห้ามเลือกปฏิบัติด้วยปัจจัยด้านเพศสภาพ ทั้งในการกำหนดนโยบาย กฎหมาย หรือวิธีปฏิบัติของหน่วยงานของรัฐ องค์กรเอกชน หรือบุคคลใดไว้ โดยเมื่อพิจารณาถึงแนวทางการใช้ห้องน้ำของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน พบว่า ในสถานที่ราชการ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน รวมถึงสถานประกอบการต่าง ๆ มีเพียงการจัดห้องน้ำตามเพศสรีระอันเป็นเพศแต่กำเนิด ได้แก่ ห้องน้ำชายและห้องน้ำหญิงเท่านั้น ทำให้กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ มีความรู้สึกว่าถูกเลือกปฏิบัติ เพราะไม่สามารถใช้ห้องน้ำได้ตรงตามอัตลักษณ์ทางเพศหรือตามการแสดงออกทางเพศของตนได้ โดยเฉพาะกลุ่มบุคคลข้ามเพศ (Transgender) ซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลที่มีอัตลักษณ์ทางเพศแตกต่างจากเพศสรีระอันเป็นเพศแต่กำเนิด รวมทั้งยังมีประเด็นทัศนคติของผู้ใช้ห้องน้ำร่วมกับกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ที่ยังอาจขาดความเข้าใจเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ
เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศและขจัดการเลือกปฏิบัติในเรื่องนี้ กสม. จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สรุปได้ดังนี้
1) ให้หน่วยงานของรัฐและเอกชนผู้ถูกร้องทั้ง 36 แห่ง รวมถึงหน่วยงานที่กำกับดูแล พิจารณาปรับปรุงห้องน้ำที่มีอยู่ หรือปรับเปลี่ยนห้องน้ำบางส่วนให้เป็นห้องน้ำสำหรับบุคคลทุกเพศ และเคารพซึ่งเจตจำนงส่วนบุคคลของคนที่มีความหลากหลายทางเพศที่จะสามารถใช้ห้องน้ำตามเพศสภาพหรืออัตลักษณ์ทางเพศของตน
2) ในระยะสั้น ให้ ครม. มอบหมายหน่วยงานของรัฐ พิจารณากำหนดนโยบาย มาตรการ หรือแนวทางในการใช้ห้องน้ำในสถานที่ราชการ และหน่วยงานอื่นในกำกับของรัฐ โดยส่งเสริมให้บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศสามารถใช้ห้องน้ำได้ตามเพศสภาพหรืออัตลักษณ์ทางเพศตามเจตจำนงของตนได้ โดยให้พิจารณาบริหารจัดการห้องน้ำที่มีอยู่แล้ว หรืออาจเพิ่มเติมห้องน้ำสำหรับบุคคลทุกเพศนอกเหนือไปจากห้องน้ำชาย ห้องน้ำหญิง และห้องน้ำคนพิการ
3) ในระยะยาว ให้ ครม. มอบหมายหน่วยงานของรัฐ ศึกษาและออกแบบการจัดทำห้องน้ำ ว่าห้องน้ำสาธารณะควรมีลักษณะอย่างไรจึงจะรองรับการใช้งานของบุคคลทุกคนได้อย่างเหมาะสม เป็นไปตามหลักความเสมอภาคของบุคคล เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องหรือระเบียบกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดให้มีห้องน้ำ ที่สามารถรองรับการใช้งานของบุคคลทุกเพศ ทุกวัย
4) ให้ ครม. มอบหมายกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และหน่วยงานที่จัดบริการสาธารณะอื่นที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศให้แก่บุคลากรภาครัฐและประชาชนทั่วไป
ในส่วนของภาคเอกชน ขอให้คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประสานความร่วมมือและส่งเสริมให้ภาคเอกชนคำนึงถึงสิทธิและความเสมอภาคทางเพศ รวมทั้งมีนโยบายส่งเสริมให้มีการปรับปรุงห้องน้ำเพื่อรองรับบุคคลทุกเพศ ตลอดจนสนับสนุนให้บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศสามารถใช้ห้องน้ำได้ตามเพศสภาพหรืออัตลักษณ์ทางเพศตามเจตจำนงของตน บนพื้นฐานของหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Guiding Principles on Business and Human Rights: UNGPs) ประกอบกับหลักการ SOGIESC ซึ่งปรากฏอยู่ในหลักการยอกยาการ์ตา 10+ อันเป็นแนวปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ
- กสม. ร่วมภาคีเครือข่ายคุ้มครองสิทธิด้านเอชไอวี/เอดส์ หารือแนวทางแก้ไขปัญหาการเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อ จากกรณีการออกใบรับรองแพทย์ที่เปิดเผยข้อมูลสุขภาพเกินความจำเป็น
เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2565 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนางสาวพรประไพ กาญจนรินทร์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หารือร่วมกับภาคีเครือข่ายที่ทำงานเพื่อสิทธิของผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ นำโดยนางสาวสุภัทรา นาคะผิว ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการแพทย์และสาธารณสุข ถึงแนวทางการคุ้มครองสิทธิของผู้ติดเชื้อเอชไอวี ณ ห้องประชุม 606 สำนักงาน กสม. และผ่านระบบออนไลน์
การหารือดังกล่าว สืบเนื่องจากกรณีที่ปรากฏข่าวเมื่อช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ว่าโรงเรียนสอนขับรถยนต์แห่งหนึ่งปฏิเสธการสอนให้กับผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายหนึ่งแม้ว่าจะจ่ายเงินค่าเล่าเรียนแล้ว เนื่องจากใบรับรองแพทย์ระบุว่าเป็นผู้ติดเชื้อฯ กรณีดังกล่าวได้สะท้อนให้เห็นปัญหาการรับรู้และความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับเชื้อเอชไอวีและโรคเอดส์ที่นำไปสู่การตีตราและการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มผู้ติดเชื้อฯ โดยข้อเท็จจริงนั้น เอชไอวี (HIV) เป็นไวรัสชนิดหนึ่งที่สามารถติดต่อได้ทางเพศสัมพันธ์ และเลือด ปัจจุบันมียารักษาที่ได้ผลเป็นอย่างดี ทำให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีสามารถดำรงชีวิตปกติเหมือนคนทั่วไปและไม่สามารถแพร่กระจายเชื้อได้ นอกจากนี้ แม้ผู้ติดเชื้อฯ จะเข้าสู่ระยะของโรคเอดส์ แต่ก็มิใช่โรคติดต่ออันตราย ถือเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 เท่านั้น
ที่ประชุมเห็นว่า แม้สถานการณ์ความรุนแรงของการติดเชื้อเอชไอวีจะลดลงไปมากตามพัฒนาการและความก้าวหน้าในการรักษาโรคทางการแพทย์ แต่การเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวียังคงมีอยู่และผู้ติดเชื้อฯ ยังถูกกีดกันและเข้าไม่ถึงโอกาสในการทำงาน การเข้าศึกษา หรือการได้รับอนุญาตให้ทำการใดการหนึ่งจากหน่วยงานของรัฐ เช่น การขอใบอนุญาตขับขี่ อันมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการออกใบรับรองแพทย์ที่ระบุว่าเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งการออกใบรับรองแพทย์เพื่อรับรองภาวะสุขภาพทั่วไปที่ใช้ประกอบการขออนุญาตหรือประกอบการดำเนินการบางอย่างนั้น ที่ประชุมเห็นว่าควรรับรองภาวะสุขภาพเฉพาะรายการที่ตรงกับวัตถุประสงค์ของการนำใบรับรองแพทย์ไปใช้เท่านั้น ซึ่งการขอใบอนุญาตขับขี่ การเข้าทำงานในสถานประกอบการส่วนใหญ่ หรือ การเข้าศึกษาต่อนั้น ภาวะการติดเชื้อเอชไอวีมิได้เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินกิจกรรมดังกล่าว การเปิดเผยข้อมูลสุขภาพของผู้ติดเชื้อฯ ในใบรับรองแพทย์ที่ทำให้เกิดการตีตราและเลือกปฏิบัติจึงถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้ติดเชื้อฯ ซึ่งได้รับการคุ้มครองตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562
กสม. และภาคีเครือข่ายเห็นพ้องกันว่า การออกใบรับรองแพทย์ที่เปิดเผยข้อมูลสุขภาพของผู้ติดเชื้อเอชไอวีเกินความจำเป็นและไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการนำไปใช้ ควรได้รับการทบทวนแก้ไขในรายละเอียดในเชิงนโยบาย หรือระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ทั้งในส่วนเหตุผลความจำเป็นของข้อมูลและการให้ความยินยอมในการเปิดเผยข้อมูลที่มิใช่ภาวะจำยอมด้วย ทั้งนี้ กสม. จะรวบรวมข้อคิดเห็น และจัดทำเป็นข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาการเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวีในภาพรวมต่อไป