วันอังคาร, มกราคม 28, 2025
หน้าแรกคอลัมนิสต์ชัชวาลย์ ชาติสุทธิชัย“สอดแนมการเมือง” โดย “ชัชวาลย์ ชาติสุทธิชัย”เรื่องของ“ปรัชญาตะวันตก”(ตอนสิบสาม) จาก“ชาวไทย”ถึง“มิสเตอร์ฮอบส์”?!

Related Posts

“สอดแนมการเมือง” โดย “ชัชวาลย์ ชาติสุทธิชัย”เรื่องของ“ปรัชญาตะวันตก”(ตอนสิบสาม) จาก“ชาวไทย”ถึง“มิสเตอร์ฮอบส์”?!

“โธมัส ฮอบส์” ผู้สำแดงวาทกรรมตรงไปตรงมาว่า “เวลาว่างคือมารดาแห่งปรัชญา”!!! อืม..นักปรัชญาผู้นี้น่าสนใจจริงๆว่ะ! เพราะชีวิต“โธมัส ฮอบส์”มีเรื่องราวมากมาย ช่วงปี ค.ศ.1588-1679 “ฮอบส์”ได้แสดงความคิดไว้ว่า “ธรรมชาติของมนุษย์นั้น อยู่บนพื้นฐานของผลประโยชน์ส่วนตัว และความปรารถนาในอำนาจ ความคิดของมนุษย์นั้น เป็นเพียงความเคลื่อนไหวในสมองเท่านั้น มนุษย์สร้างสังคมขึ้นมา เพื่อปกป้องตนเองจากภาวะธรรมชาติ”


“เรา”มาแกะรอยชีวิตการเคลื่อนไหว เพื่อรู้จักเรื่องราวของ“นักปรัชญาผู้ยิ่งใหญ่” คนนี้กันดีกว่า! “โธมัส ฮอบส์” เป็นบุตรชายของบาทหลวงที่วิลเซอร์ ในเมืองผู้ดีประเทศอังกฤษ แต่โชคร้าย..ชีวิตวัยเด็กของเขาไม่มีความสุขอย่างที่ควร เมื่ออายุเจ็ดปี บิดาได้หนีจากโบสถ์ เพราะทะเลาะกับบาทหลวงอีกรูปหนึ่ง เหตุการณ์ไม่คาดฝันนี้ ทำให้มารดาต้องส่ง“ทอมมี”หรือ“ฮอบส์”ผู้น่าสงสาร ให้ไปอยู่กับ“ฟรานซิส”ผู้เป็นลุง จากนั้น “ฮอบส์” ถูกส่งไปเรียนที่เวสต์พอร์ต จนกระทั่งอายุสิบสี่ปี ซึ่งเป็นช่วงที่เขาเริ่มศึกษาวรรณกรรมคลาสสิกต่างๆ จน“ฮอบส์”สามารถแปลเทพนิยายกรีกเรื่อง“มีเดีย” ช่วง“แม่มดสาวช่วยเจสันตามหาขนแกะทองคำ”


อืม.. แม้เด็กชาย “ฮอบส์” จะต้องเรียนและทำงานอื่นๆ แต่ด้วยวัยแค่สิบสี่ปี เขาอุตส่าห์อดหลับอดนอนนั่งแปลเทพนิยายกรีกจากภาษากรีกเป็นละติน.. นั่นเพราะ “ฮอบส์” เป็นเด็กช่างรู้ช่างคิด มากด้วยจินตนาการ กับขยันและอดทน ถือเป็นพื้นฐานสู่การก้าวไปเป็น “นักปรัชญาการเมืองผู้ยิ่งใหญ่”! “ฮอบส์” ได้เข้าเรียนต่อที่มหาวิทยาลัย“ออกซฟอร์ด” ในปีค.ศ.1608 และต่อมามีโอกาสเป็น “ผู้สอน” ให้กับ “ลอร์ดวิลเลียม คาเวนดิช” สมาชิกของ “ราชวงศ์สจ๊วต” ผู้โด่งดัง! ทว่า..ต่อมา “ฮอบส์” ได้ตัดสินใจออกเดินทางไปท่องเที่ยวอยู่หลายปี ก่อนจะกลับมาเป็น“เลขานุการ”ของ“ลอร์ดคาเวนดิช” ซึ่งโชคร้ายอายุสั้นแค่สิบเอ็ดปี ก็ถึงแก่กรรมกะทันหัน


เหตุการณ์นี้ส่งผลต่อสถานะของ“ฮอบส์”ด้วย ทั้งหน้าที่การงานและสูญเสียมิตรคนหนึ่งไป ทว่าแม้จะสิ้น“ลอร์ดคาเวนดิช”ไปแล้ว “ฮอบส์”ก็ยังคงสอนหนังสือคนอื่นๆ ในสังคมชั้นสูงต่อไป ควบคู่กับการแปลหนังสือเกี่ยวกับเรื่องกรีกโบราณ ประวัติศาสตร์ ปรัชญา ฯลฯ กว่า “ฮอบส์” จะหันมาสนใจ“ปรัชญา”อย่างจริงจัง อายุก็ล่วงเลยไปกว่าสี่สิบปีแล้ว! ซึ่งเป็นบทพิสูจน์ว่า “อายุเป็นแค่ตัวเลข” มิใช่“ศัตรูของความรู้นะโว้ย”!

หลังจาก “โธมัส ฮอบส์” ได้พบกับ “กาลิเลโอ” ในช่วงทศวรรษ 1630 ที่ปารีส “ฮอบส์” กลายเป็นคนที่สนใจอย่างมากเรื่องของจักรวาลในมุมมองวิทยาศาสตร์! ต่อมา“ฮอบส์”พัฒนาตัวเอง จนเป็นนักคิดทางการเมืองชาวอังกฤษผู้โด่งดัง โดยเฉพาะแนวคิดเรื่อง“Social Contract” หรือ “สัญญาประชาคม” อันเป็นบ่อเกิดของ“รัฐบาลยุคใหม่” แต่ “รัฐ” ที่ได้อำนาจมาจาก“ประชาชน” ต้อง “ปกครองเพื่อประชาชน” มิใช่เพื่อ “พรรคพวกกู” นะโว้ย! หลังจากผลงานชิ้นเอก“เลเวียธัน”ของ“ฮอบส์” ได้ตีพิมพ์ในปี ค.ศ.1651 เขาได้เดินทางกลับอังกฤษ และกลับไปคบกับครอบครัว“คาเวนดิช” ซึ่งเป็นห้วงสองสามปีสุดท้ายของ“ฮอบส์” ที่ได้ใช้ชีวิตอยู่ในคฤหาสน์ของพวก“คาเวนดิช” ก่อนที่“โธมิส ฮอบส์”จะเสียชีวิตเมื่ออายุเก้าสิบเอ็ดปี..


หนึ่ง-ความคิดสำคัญของ “ฮอบส์”คือ “อำนาจในการปกครองไม่ใช่อำนาจจากพระเจ้า”?! ในช่วงเวลาที่ “ราชวงศ์กษัตริย์” ทั้งหลายปกครอง โดยอาศัยอำนาจแห่งพระเจ้านั้น “ฮอบส์”ได้พัฒนาแนวคิดใหม่ขึ้นมา นั่นคือ การหาเหตุผลหรือให้คำอธิบาย สำหรับการปกครองที่กษัตริย์มีอำนาจเด็ดขาด โดย “ฮอบส์” ไม่เชื่อว่า อำนาจกษัตริย์ที่ใช้ในการปกครองนั้น เป็นสิ่งที่ได้รับมอบหมายมาจากพระเจ้า? สอง-ความคิดสำคัญอีกเรื่องของ “ฮอบส์” คือ “รัฐบาลย่อมเป็นที่พึ่ง”?!


“ฮอบส์” เชื่อว่า ธรรมชาติของมนุษย์นั้น อยู่บนพื้นฐานของผลประโยชน์ส่วนตัว และปรารถนาในอำนาจอย่างไม่สิ้นสุด ก่อนที่มนุษย์จะมีชีวิตอยู่ใต้รัฐบาล มนุษย์เผชิญแต่ความยากลำบากและชีวิตสั้น นี่คือสิ่งที่ “ฮอบส์”เรียกว่า “ภาวะแห่งธรรมชาติ”!ดังนั้น มนุษย์จะเข้าสู่ระบบ “สัญญาประชาคม” กับ “ผู้ปกครอง” อันหมายถึง ยินยอมให้“ผู้ปกครอง”เป็น“ผู้ให้การคุ้มครองตน” และนี่คือที่มาของการ “จัดตั้งรัฐบาล” ในบรรดานักคิดทั้งหลายที่มีมาอย่างยาวนานในประวัติศาสตร์ “ฮอบส์” เป็นคนแรกที่ยอมรับว่า “สัญญาประชาคม”เป็นทฤษฎีแห่งการสร้างอารยธรรม แม้ว่ามนุษย์จะให้ความยินยอมเช่นนี้ด้วยความกลัว แต่ “สัญญาประชาคม” เป็นหนทางเดียว ที่มนุษย์จะมีชีวิตอยู่อย่างปกติสุขได้


ดังนั้น รัฐจึงดำรงอยู่เพื่อประชาชน รัฐเป็นผู้ออกกฎหมาย และสร้างมาตรฐานทางศีลธรรมขึ้นมา คำสั่งของรัฐคือสิ่งที่ดีที่สุด เพราะคำสั่งนั้นคือส่วนหนึ่งของ “สัญญาประชาคม” และเราจำเป็นต้องมี “ผู้ปกครอง”?! สาม-ความคิดสำคัญอีกเรื่องของ “ฮอบส์” คือ “วัตถุนิยม”?! “ฮอบส์”เชื่อว่า หลักการสากลเดียวที่มีอยู่ คือ“การเคลื่อนไหว” ฉะนั้น..ในความคิดของเขา จิตของมนุษย์จึงไม่ใช่ “สารหรือวัตถุที่คิดได้” แต่มันเป็นการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นอยู่ในสมองเท่านั้น คำว่า “เป็นจริง” นั้น มีความหมายเพียงแค่โลกทางกายเท่านั้น มันไม่ใช่“ความคิด”ของมนุษย์ นี่คือหลักการของปรัชญาเชิงวัตถุนิยม การกระทำของมนุษย์นั้น เป็นไปตามความปรารถนาของตนเอง แก่นแท้ของมนุษย์ ไม่ใช่ “สิ่งที่คิดเป็น” แต่คือ “เครื่องจักรกลที่กำลังเคลื่อนไหว”


“เหตุผล” ก็มิใช่สิ่งอื่นใด นอกจากเป็นเครื่องมือในการคำนวนประเภทหนึ่ง แต่เป็นเครื่องมือที่เชื่อมโยงสิ่งหนึ่งเข้ากับอีกสิ่งหนึ่ง สำหรับ “ฮอบส์” แล้ว “เหตุผล” จึงไม่มีคุณสมบัติดั่งเช่นพระเจ้าและเป็นนิรันดร์ เช่นที่ “เพลโต” และนักปรัชญาคนอื่นๆเคยให้นิยามไว้ ด้วยเหตุผลเช่นนี้ “ฮอบส์” จึงปฏิเสธความคิดของ“เพลโต”และ “อริสโตเติล” ที่ว่า “รัฐบาล”เป็นผลมาจากสัญชาตญาณทางสังคมตามธรรมชาติของมนุษย์ ตรงกันข้าม..“ฮอบส์”เชื่อว่าสัญชาตญาณของมนุษย์ คือภาวะ“ธรรมชาติ” หรือไม่ก็คือ“สงคราม”
ดังนั้น.. มนุษย์จึงยอมเข้าสู่ระบบ “สัญญาประชาคม” เนื่องจากมันเป็นความจำเป็นที่เป็นเหตุเป็นผล เนื่องจากมันช่วยปกป้องมนุษย์จาก “ภาวะธรรมชาติ” (คือสงครามซึ่งเป็นสภาวะที่มนุษย์มีแนวโน้มที่จะเดินไปสู่ทิศทางนั้น)


นั่นหมายความว่า “ฮอบส์” มองโลกด้วยทัศนะทางวิทยาศาสตร์เช่นเดียวกับ “เดคาร์ต” นั่นคือ มองว่าโลกเป็น “วัตถุที่กำลังเคลื่อนไหว” รวมทั้งประยุกต์ความคิดนี้เข้ากับมนุษย์ด้วย นอกเหนือจากนี้ “ฮอบส์” ยังให้เหตุผลที่สร้างความชอบธรรมให้แก่รัฐบาลทางโลก “รัฐ” ที่ไม่ได้อยู่“ใต้ศาสนาจักร”เป็นครั้งแรกด้วย รวมทั้งยังยืนยันว่า “กษัตริย์”ที่มีอำนาจโดยเด็ดขาดสมบูรณ์นั้น เป็นสิ่งที่ถูกต้อง แม้ว่า“ฮอบส์”จะไม่มีแนวคิดทางปรัชญาที่คัดค้านระบอบประชาธิปไตย แต่เขามองว่า ระบอบ “กษัตริย์” มีประสิทธิภาพมากกว่า ในการควบคุม “สงคราม” ซึ่งเป็นแนวโน้มตามธรรมชาติของมนุษย์ “ฮอบส์” มองว่า อำนาจของผู้ปกครองไม่ได้มาจากพระเจ้า แต่ขณะเดียวกัน เขาก็ไม่มีข้อโต้แย้งในกรณีที่กษัตริย์สามารถสืบทอดอำนาจ ต่อจากบิดามารดาของตนได้ ความคิดต่างๆของ“ฮอบส์” ยังคงดำรงอยู่ในทุกวันนี้ แม้ว่าเราในยุคนี้ จะไม่มีทางยินยอมให้ลูกมีอำนาจปกครองประเทศต่อจากบิดามารดาของตนเองก็ตาม.. เอ๊ะ!..หรือว่า..เรายอม? อืม.. “เราต้องยอมรับ” ตาม “ระบบการเมืองของแต่ละชาติ”! “เราไม่ยอมรับ”ก็เพราะ“คนไม่ดี” แต่“ระบบการเมืองดี”ทำให้ต้องคิดมากขึ้นว่ะ! แต่ถ้า“คนดี”และ“ระบบการเมืองดี” ก็“ยอมรับได้”โดยปริยาย!


ทว่า..ถ้า “คนไม่ดี” ระบบ “การเมืองดี” ย่อมต้องมีปัญหาไม่มากก็น้อยแน่นอน เพราะ “ประชาชน” จะเรียกร้องให้เปลี่ยน เอา “คนดี” เข้ามาแทนที่ “คนไม่ดี”.. จริงไหมล่ะ?
แต่ถ้า “คนไม่ดี” แถม“ระบบการเมืองก็ไม่ดี”อีกด้วย? โอ๊ย!..งานนี้ต้องวุ่นวายปั่นป่วนใหญ่เลยล่ะ?ประชาชนต้อง “เหนื่อยหนัก” แน่! อาจต้อง “เจ็บตาย” กันอีกมิใช่น้อย! ต้องร่วมแรงร่วมใจ ต่อสู้ให้เปลี่ยนทั้ง “คนไม่ดี” กับเปลี่ยน “ระบบการเมืองไม่ดี” ด้วย! โอ๊ยๆ!! ….แค่คิดก็เหนื่อยใจแล้วโว้ย..? แต่เชื่อเถอะ..ถ้าเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นในชาติไทย “ชาวไทย” ใจเด็ดต้องไม่ยอมแน่ๆ “พวกเขา” จะ “สู้ไม่ถอย” จนกว่าจะ “ชนะ” เลยล่ะ.. “มิสเตอร์ฮอบส์”..?!

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts