“…ระยะเวลากว่า 1 ปี 6 เดือนหลัง กสทช.ชุดนี้เข้ามาทำหน้าที่ กลายเป็นเกมส์ต่อรองผลประโยชน์ เต็มไปด้วยร่องรอยความขัดแย้ง มีคดีฟ้องร้องกันอิรุงตุงนังชนิดที่เรียกได้ว่า “ฟาดกันเลือดสาด” ทั้งกรณี กสทช.ฟ้องประธาน กสทช. หรือกรณีรักษาการเลขาธิการ ฟ้อง กสทช.4 คน นั่นเพราะแต่ละคนต่างก็รู้เช่นเห็นชาติว่า แต่ละคนที่ถูกส่งเข้ามานั้นมีที่มาที่ไปอย่างไร จนทำให้องค์กร กสทช.ที่ได้ชื่อว่าเป็นขุมทรัพย์ แต่ละปีมีรายได้จากค่าธรรมเนียม และประมูลคลื่นความถี่ ปีละกว่า 2-30,000 ล้านบาทนั้นกลายเป็น “แดนสนธยา” ที่เต็มไปด้วยปัญหา และคงโทษใครไปไม่ได้ นอกจาก “มรดกบาป” ของวุฒิสภาที่เป็นผู้ทำคลอด กสทช.ชุดนี้….”
*กสทช..อีกมรดกบาปของ “สว.ปรสิต”*
จ่อลุกลามบานปลาย
กลายเป็นประเด็นสุดร้อน
ที่สะท้อนความ “แตกแยก”ภายในองค์กรอย่างหนัก!*
กรณีการสรรหาและแต่งตั้งเลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) คนใหม่ที่ ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช.ตัดสินใจที่จะดำเนินการโม่แป้งด้วยตนเอง
ด้วยข้ออ้างเป็นอำนาจของประธาน กสทช.ตามมาตรา 61 แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม อีกทั้งประธาน กสทช.ยังเป็นผู้กำกับดูแลสำนักงาน กสทช.โดยตรง จำเป็นต้องเลือกบุคคลที่สามารถทำงานร่วมกันได้ จึงตัดสินใจจะโม่งแป้งด้วยตนเองแบบเบ็ดเสร็จม้วนเดียวจบ!
แม้ 4 กสทช.ที่ประกอบด้วย พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ , ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต , รศ.ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย และ รศ.ดร.สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ จะทำหนังสือทักท้วงและคัดค้านการดำเนินการดังกล่าว ด้วยเห็นว่าเป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่โปร่งใส
ล่าสุดเมื่อประธาน กสทช.บรรจุวาระการแต่งตั้งเลขาธิการคนใหม่เข้าสู่ที่ประชุมกสทช.เมื่อวันที่ 21 ก.ย.ที่ผ่านมา หลังจากหาทางแก้ลำปัญหา “บล็อกโหวต”จากกสทช.เสียงส่วนใหญ่ได้ จากการที่รักษาการเลขาธิการกสทช.ที่เป็น “เต็งหาม”ในตำแหน่งนี้ ได้ยื่นฟ้อง 4 กสทช.ต่อศาลอาญาคดีทุจริตฯในข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กลั่นแกล้งให้ว่าที่เลขาธิการ กสทช.ถูกตั้งกรรมการสอบวินัย ทำให้ 4 กสทช.ถูกตั้งแง่ว่าเป็นคู่ขัดแย้งที่ไม่มีสิทธิ์เข้าร่วมโหวต
แต่เส้นทางในการกระเตงว่าที่เลขาธิการ กสทช.เข้าสู่ที่ประชุมเพื่อให้ความเห็นชอบ”รับเบอร์แสตมป์” ก็ไม่สามารถจะฝ่าด่านอรหันต์ไปได้ หลัง 4 กสทช.ที่รู้ตื้นลึกหนาบางของเกมส์อำมหิตนี้ ได้พลิกช่องทำหนังสือทักท้วงการแต่งตั้งเลขาธิการ กสทช.ในครั้งนี้ไปยังประธานอย่างถึงพริกถึงขิง โดยยืนยัน นั่งยันว่า เส้นทางการคัดเลือกและและแต่งตั้งไม่ชอบด้วยกฎหมาย และระเบียบหลักเกณฑ์ทั้งมวล
วันวาน 27 กันยายน นายภูมิสิทธิ์ มหาเวสน์ศิริ รองเลขาธิการ กสทช. ก็ลุกขึ้นมาฟ้องประธานกสทช.ต่อศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบในข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบอีกราย เพราะไม่ยอมออกคำสั่งแต่งตั้งตนขึ้นเป็นรักษาการเลขาธิการกสทช.ตามมติ กสทช. แถมยังมีคำสั่งสอนตนให้ยุ่งขิงเข้าไปอีก ทั้งที่กรณีดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมกสทช.แท้ๆ แต่กลับถูกตั้งกรรมการสอบสวนซะงั้น ก็เลยลุกขึ้นมาฟ้อนเงี้ยวฟ้อง ม.157 ประธาน กสทช.ให้รู้แล้วรู้แร่ดกันไป
ทีนี้ก็ว้าวุ่น ยุ่งขิงเป็นยุงตีกันหนักเข้าไปอีก กลายเป็น “เด็ดล็อค” ที่ทำให้ เส้นทางการสรรหาและแต่งตั้งเลขาธิการ กสทช.กลายเป็น “เลขาพิการ” ไม่รู้จะร้องเพลงรอกันไป พ.ศ.ไหน? แถมยังสะท้อนให้เห็น ความแตกแยกภายในองค์กร กสทช. ที่มีการ “เปิดศึกฟัดกันนัวเนีย” ไม่รู้ใครเป็นใครไปแล้วเวลานี้
จนหลายฝ่ายตั้งข้อสงสัย แล้วหน่วยงานของรัฐที่เป็นอิสระ(แต่เปลือก)แห่งนี้จะไปต่อกันยังไง….
หากจะย้อนรอยความขัดแย้งภายในองค์กร กสทช.ชุดนี้ ที่ได้รับการแต่งตั้งจากที่ประชุมวุฒิสภาให้เข้าทำหน้าที่เมื่อ 20 เม.ย.2565 เป็นต้นมา ที่มาที่ไปของกสทช.ชุดนี้ ที่มี ศ.คลินิก สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ เป็นประธานและกรรมการรวมจำนวน 5 คนที่ได้รับการโหวตจากที่ประชุมวุฒิสภา ที่ประกอบด้วย พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ ,ศ.พิรงรอง รามสูต ,นายต่อพงศ์ เสลานนท์ และ รองศาสตราจารย์ ศุภัช ศุภชลาศัย
ก่อนที่ในอีก 1 ปีต่อมาจะมีการสรรหาและแต่งตั้ง กสทช.เพิ่มขึ้นมาอีก 2 คนคือ พล.ต.อ.ณัฐธร เพราะสุนทร และ รศ.สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ นั้น เส้นทางกระบวนการสรรหาและแต่งตั้ง กสทช.ชุดนี้ที่สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เป็นผู้ดำเนินการนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่า เต็มไปด้วยความโกลาหลและล็อบบี้กันตีนพลิก มีกลุ่มทุนทางการเมืองและกลุ่มผลประโยชน์ชักใยอยู่เบื้องหลังเข้ามาแทรกแซงกระบวนการสรรหาและโหวตลงมติ ชนิดที่ทำเอาเส้นทางการสรรหาและแต่งตั้ง กสทช.ล้มลุกคลุกคลานนับสิบปี
ขณะที่ กสทช.ที่ได้รับการโหวตจากที่ประชุมวุฒิสภาให้เข้ามาทำหน้าที่ซึ่งควรจะได้ผู้ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญเป็น”เบอร์ 1” ในแต่ละสาขาแต่ละด้านตามที่กำหนดใน พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ปี2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ก็กลับปรากฏว่าบุคคลที่ประชุมวุฒิสภาโหวตเข้ามากลับเป็น “มือรอง” หรือ “ตุ๊กตาหุ่นเชิด” ที่เกิดจากการล็อบบี้ เจรจาเกี้ยวเซี้ยะกันเสียเป็นส่วนใหญ่ เข้ามาแล้วต้องมาตั้งที่ปรึกษากันอีกพะเรอเกวียนเข้าไปอีก
ระยะเวลากว่า 1 ปี 6 เดือนหลัง กสทช.ชุดนี้เข้ามาทำหน้าที่ จึงกลายเป็นเกมส์ต่อรองผลประโยชน์ เต็มไปด้วยร่องรอยความขัดแย้ง มีคดีฟ้องร้องกันอิรุงตุงนังชนิดที่เรียกได้ว่า “ฟาดกันเลือดสาด” ทั้งกรณี กสทช.ฟ้องประธาน กสทช. หรือกรณีรักษาการเลขาธิการ ฟ้อง กสทช.4 คน
นั่นเพราะแต่ละคนต่างก็รู้เช่นเห็นชาติว่า แต่ละคนที่ถูกส่งเข้ามานั้นมีที่มาที่ไปอย่างไร จนทำให้องค์กร กสทช.ที่ได้ชื่อว่าเป็นขุมทรัพย์ แต่ละปีมีรายได้จากค่าธรรมเนียม และประมูลคลื่นความถี่ ปีละกว่า 2-30,000 ล้านบาทนั้นกลายเป็น “แดนสนธยา” ที่เต็มไปด้วยปัญหา
การพิจารณาโครงการต่าง ๆ กลายเป็นเกมส์ต่อรองผลประโยชน์ บางเรื่องบางโครงการพิจารณากันจะข้ามปี ก็ยังไม่มีอะไรคืบหน้า เพราะตั้งแท่นเอาแต่ปัดแข้ง ปัดขากันเอง มาตรการที่จะออกมากำกับดูแลการปฏิรูปองค์กร กสทช.ให้ทันสมัย ตามให้ทันโลกสื่อสารที่เปลี่ยนไปวันนี้ ก็ยักแย่ยักยันกันไม่ไปไหน เพราะความขัดแย้งภายในองค์กรที่สุกงอม หากไม่ใช่เรื่องของฉัน ก็ตั้งป้อมขวางลำกันไว้ก่อน
ไล่มาตั้งแต่ กรณีที่ กสทช.ไฟเขียวดีลควบรวมกิจการทรู-ดีแทค ด้วยข้ออ้างไม่มีอำนาจพิจารณาอนุมัติ-ไม่อนุมัติรายงานการควบรวมกิจการที่ว่า กสทช.ทำได้เพียงการนำมาตรการเฉพาะเพื่อบรรเทาปัญหาออกมาใช้เท่านั้น ทั้งที่ ผลาญงบประมาณไปไม่รู้กี่สิบกี่ร้อยล้านในการตั้งอนุกรรมการศึกษาชุดต่าง ๆ กันเป็นกุรุด จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ และว่าจ้างที่ปรึกษาทั้งในและต่างประเทศ แต่กลับไม่ได้ใช้ประโยชน์อันใดเลยกับข้อมูลเหล่านั้น
มาถึงกรณีการสรรหาและแต่งตั้งเลขาธิการ กสทช.คนใหม่ ที่ถือเป็นผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงาน และผู้ที่ต้องประสานรับนโยบายการทำงานจาก กสทช.ไปสู่การปฏิบัตินั้นก็กลับกลายเป็นว่า ระยะเวลากว่า 3 ปีที่ตำแหน่งดังกล่าวว่างเว้น และกว่าขวบปีที่ กสทช.ชุดนี้เข้าปฏิบัติหน้าที่ แม้จะมีการหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นหารือในที่ประขุม กสทช.มาแล้ว แต่ก็กลับไม่มีการดำเนินการใด ๆ
วันดีคืนดี ประธาน กสทช.กลับลุกขึ้นมาเร่งเครื่องกระบวนการสรรหาและแต่งตั้งเลขาธิการ กสทช.คนใหม่แถมยังรวบรัดอำนาจในการดำเนินการคัดเลือกว่าที่เลขาธิการและเร่งรัดดำเนินการราวกับองค์กรนี้จะขาดผู้นำองค์กรสักวันไปไม่ได้ จนกลายมาเป็นประเด็นขัดแย้งชนิดที่ทำให้องค์กร กสทช.ปริแตกดังโพล๊ะหนักเข้าไปอีก
ขณะที่ตัวประธาน กสทช.เองก็ได้สร้างประวัติศาสตร์ กลายเป็นผู้ที่ใช้เวลาเดินทางไปดูงานในต่างประเทศ รวมระยะเวลาที่ดูงานและใช้ชีวิตในต่างประเทศมากกว่า 1 ใน 3 ของระยะเวลาในการทำหน้าที่เสียอีก ผลการดูแลเหล่านั้น สามารถนำมาเป็นแนวทางในการประยุกต์และปรับปรุงกระบวนการทำงานขององค์กร กสทช.ได้มากแค่ไหน ทุกฝ่ายต่างรู้สาแก่ใจกันดี
*ความแตกแยกและความขัดแย้งที่เกิดขึ้นกับกสทช.หน่วยงานของรัฐที่เป็นอิสระแห่งนี้ จะบั่นทอนองค์กรและผู้ปฏิบัติงานขนาดไหนทำให้องค์กร กสทช.ที่ผู้คนสัพยอกว่า “มีก็เหมือนไม่มี” นั้นตกต่ำไปจากที่เป็นอยู่อย่างไรทุกฝ่ายต่างรู้กันดี*
*และคงโทษใครไปไม่ได้ นอกจาก “มรดกบาป”ของวุฒิสภาที่เป็นผู้ทำคลอด กสทช.ชุดนี้ เมื่อพ่อได้ชื่อว่าเป็น “ส.ว.ปรสิต” ลูกที่คลอดออกมาจะ “ผ่าเหล่าผ่ากอ” ไปไหนได้ จริงไม่จริง ท่านประธาน กสทช.ที่เคาพ!!!*
#สืบจากข่าว รายงาน