วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
หน้าแรกการเมืองกลุ่มอดีตผู้ปฏิบัติงาน และภาคประชาชน บุกร้อง “พีระพันธุ์”

Related Posts

กลุ่มอดีตผู้ปฏิบัติงาน และภาคประชาชน บุกร้อง “พีระพันธุ์”

“…“กลุ่มอดีตผู้ปฏิบัติงาน และภาคประชาชน” ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ทวงถามความเป็นธรรมให้กับ นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ เป็นผู้ว่าการ กฟผ. คนที่ 16 แก้ปัญหาไฟฟ้าแพง ชี้เป็นการดำเนินการด้วยความถูกต้องและชอบธรรม โดยคณะกรรมการสรรหา กฟผ. และคณะกรรมการ กฟผ. ก็ดีต่างก็ยึดถือแนวทางปฏิบัติเป็นไปตามกฎระเบียบ ข้อบังคับ และกฎหมาย ในทุกประการ พร้อมกันนี้ยังได้รับการสนับสนุนและการยอมรับทั้งจากพนักงาน กฟผ. และ สหภาพแรงงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เช่นกัน…”

เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2566 กลุ่มอดีตผู้ปฏิบัติงาน และภาคประชาชน นำโดย นายพิเชษฐ์ ชูชื่น อดีตผู้บริหาร กฟผ., นายธรรมยุทธ สุทธิวิชา อดีตประธาน สร.กฟผ. และ นายวัชระ เพชรทอง อดีต สส. พรรคประชาธิปัตย์ บุกยื่นหนังสือต่อ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ปมการแต่งตั้งผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คนที่ 16 และการแก้ปัญหาค่าไฟฟ้าแพง โดยหนังสือดังกล่าวระบุว่า

เรียน    รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

          ฯพณฯ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค

เรื่อง     การแต่งตั้งผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คนที่ 16 และการแก้ปัญหาค่าไฟฟ้าแพง

พวกเราในนาม “กลุ่มอดีตผู้ปฏิบัติงาน และภาคประชาชน” ได้ทราบข่าวปัญหาในการแต่งตั้งผู้ว่าการ           การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ) คนที่ 16 และปัญหาค่าไฟฟ้าแพงในขณะนี้ ซึ่งอยู่ระหว่างการแก้ไขมาโดยตลอดตามที่ทราบกันอยู่แล้วนั้น โดยในส่วนของการแต่งตั้งผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คนที่ 16 นั้น ได้ทราบว่าจะมีการสรรหาผู้ว่าการ กฟผ. ใหม่ ซึ่งพวกเราขอเรียนชี้แจงข้อเท็จจริงว่าการสรรหาผู้ว่าการ กฟผ.      คนที่ 16 ซึ่งคณะกรรมการ กฟผ. ได้เห็นชอบให้ นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ เป็นผู้ว่าการ กฟผ. คนที่ 16 เป็นคนต่อไปแล้วนั้นเป็นการดำเนินการด้วยความถูกต้องและชอบธรรม โดยคณะกรรมการสรรหา กฟผ. และคณะกรรมการ กฟผ. ก็ดีต่างก็ยึดถือแนวทางปฏิบัติเป็นไปตามกฎระเบียบ ข้อบังคับ และกฎหมาย ในทุกประการ พร้อมกันนี้ยังได้รับการสนับสนุนและการยอมรับทั้งจากพนักงาน กฟผ. และ สหภาพแรงงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เช่นกัน และหลังจากนั้น คณะกรรมการ กฟผ. ได้สรุปผลการคัดเลือกและนำเสนอไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในขณะนั้น คือ ฯพณฯ สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ เพื่อนำเสนอ คณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาเห็นชอบต่อไป และเรื่องดังกล่าวได้อยู่ใน ครม. เรียบร้อยแล้วเพื่อรอนำเข้า ครม. แต่ในช่วงเวลาดังกล่าวได้เกิดเหตุการณ์ยุบสภาไปก่อนจึงทำให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ขณะนั้นไม่สามารถพิจารณาให้ความเห็นชอบหรืออนุมัติได้ เนื่องจากเป็นรัฐบาลรักษาการ จึงได้พิจารณานำ เสนอไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กลต.) จำนวน 2 ครั้ง ตามคำแนะนำของ ครม. และรัฐมนตรีในขณะนั้น แต่ กลต. ก็ยังคงยืนยันให้ไปนำเสนอ ครม. ของรัฐบาลชุดใหม่เป็นผู้พิจารณา ดังนั้นเรื่องจึงยังคงอยู่ที่รัฐมนตรีพลังงาน ดังนั้นจึงเป็นความชอบธรรมที่รัฐมนตรีพลังงาน ฯพณฯ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค สามารถที่จะพิจารณาดำเนินการนำเสนอต่อ ครม. ใหม่ได้ เพราะเป็นการสรรหามาโดยชอบธรรมแล้ว และหากมีการสรรหาผู้ว่าการ กฟผ. ใหม่ ก็จะไม่เป็นธรรมและส่งผลเสียหายต่อผู้ถูกคัดเลือกและเป็นข้อสงสัยต่อสังคมอีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งจะไม่เป็นผลดีต่อรัฐบาล ประกอบกับการจะเปลี่ยนแปลงให้มีการสรรหาผู้ว่าการ กฟผ. ใหม่นั้น จะส่งผลต่อคำครหานินทาจากสังคมได้ว่ามีใบสั่งจากทุนใหญ่ด้านพลังงานมากดดันรัฐบาลตามข่าวที่ทราบกันอยู่แล้ว

พวกเราจึงใคร่ขอความอนุเคราะห์ท่านรัฐมนตรี ฯ พิจารณานำเสนอผลกการคัดเลือกผู้ว่าการ กฟผ. คนที่ 16 คือ นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ เข้า ครม. เพื่อเห็นชอบอนุมัติแต่งตั้งเป็น ผู้ว่าการ กฟผ. คนที่ 16 ต่อไป

อนึ่งหากมีการสรรหาผู้ว่าการ กฟผ. ใหม่ และไม่ใช่ นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ แน่นอนสังคมต่างทราบอย่างกว้างขวางจากสื่อต่าง ๆ อยู่แล้วว่าใครจะได้รับการคัดเลือก ย่อมไม่เป็นผลดีต่อการบริหารงานใน กฟผ. อย่างแน่นอน จะทำให้เกิดความไม่พอใจและความขัดแย้งอันยาวนานใน กฟผ. และอาจจะไม่เป็นผลดีต่อการสนับสนุนการดำเนินงานและบริหารงานตามนโยบายต่างๆ ให้กับทางกระทรวงพลังงานหรือรัฐมนตรีอย่างเต็มที่ก็เป็นได้

สำหรับในเรื่องค่าไฟฟ้าแพงนั้นในความเป็นจริงต้นกำเนิดเกิดมาจากในอดีตภาครัฐและกระทรวงพลังงานเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามามีบทบาทและกำหนดนโยบายในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้ามากเกินไปโดยขาดการสร้างความสมดุลย์ด้าน Demand และ Supply จะเห็นจากปัจจุบัน Supply มีมากกว่า Demand เกินครึ่งหนึ่ง ซ้ำยังกำหนดให้ กฟผ. ทำสัญญาจ่ายค่าความพร้อมและอื่น ๆ ตลอดจนปล่อยปละละเลยกำหนดนโยบายให้ใช้พลังงานหมุนเวียนมากเกินไปโดยอ้างปัญหาโลกร้อนและไปลงนามสัญญาร่วมกับประเทศต่าง ๆ โดยไม่ดูข้อจำกัดต่าง ๆ ภายในประเทศ จนเป็นเหตุให้เกิดข้อครหารัฐบาลเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุนพลังงานจากสื่อต่าง ๆ ที่ออกมา และจากนโยบายที่ท่านรัฐมนตรีประกาศลดค่าไฟตามข่าวที่ออกมาเป็นเรื่องที่ดี แต่เป็นการแก้ไขปัญหาปลายเหตุ ปัญหาจะไม่สามารถถูกแก้ได้อย่างยั่งยืนแน่นอน

ดังนั้นการแก้ปัญหาค่าไฟแพงนั้นควรแก้ไขที่ต้นเหตุคือการแก้ไขสัญญาที่รัฐเสียเปรียบกับเอกชนใหม่ เช่นค่าความพร้อมจ่าย เป็นต้น แก้ไขสัญญาให้เป็นประโยชน์ต่อรัฐและประชาชนสำหรับรายใหม่ สร้างความสมดุลย์ Demand และ Supply อย่างสมเหตุสมผล เปิดเสรีการนำเข้าเชื้อเพลิง GAS (LNG) เพื่อให้เกิดการแข่งขันจะทำให้ค่าไฟฟ้าถูกลง กำหนดให้ภาคเอกชนสามารถขอใช้ท่อ Gas จาก ปตท. ได้โดยไม่มีเงื่อนไข โดยการสนับสนุนจากรัฐบาล ควรให้ กฟผ. เป็นองค์กรหลักในการนำเสนอและจัดทำแผน PDP เพื่อนำเสนอรัฐบาลได้อย่างถูกต้อง

พวกเราหวังว่าจะได้รับการพิจารณาและสนับสนุนการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ขณะเดียวกันพวกเราพร้อมที่จะเป็นผู้สนับสนุนข้อมูลด้านพลังงานไฟฟ้า และเป็นกำลังใจให้กับท่านรัฐมนตรีด้วยความเต็มใจและให้การสนับสนุนท่านอย่างเต็มที่และตลอดเวลา ขอขอบพระคุณมา ณ ที่นี้เป็นอย่างสูงด้วย

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts