สำนักข่าวต่างประเทศรายงาน คณะบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดน มีแผนจะออกมาตรการฉบับใหม่ในช่วงต้นเดือนต.ค. 2023 เพื่อควบคุมการส่งออกชิปปัญญาประดิษฐ์ (AI) และเครื่องมือในการผลิตชิปให้กับจีน นับเป็นการออกมาตรการฉบับที่ 2 หลังจากที่มีการประกาศใช้มาตรการครั้งแรกเมื่อปีที่ผ่านมา โดยมาตรการฉบับนี้ จะเพิ่มความเข้มงวดและปิดช่องโหว่บางส่วนในมาตรการควบคุมการส่งออกชิป AI โดยได้แจ้งเตือนเรื่องดังกล่าวให้รัฐบาลจีนรับทราบแล้ว ท่ามกลางความสัมพันธ์ทางการค้าที่ยังตึงเครียด
ย้อนกลับไปเมื่อเดือนสิงหาคม 2022 สหรัฐฯ เคยเซ็นผ่านกฎหมายชิป ฉบับแรก ห้ามผู้ผลิตที่ได้เงินอุดหนุนจากรัฐบาลสหรัฐ ลงทุนผลิตชิปรุ่นใหม่ในจีน จนถูกจีนประณามว่าเป็นการละเมิดการแข่งขันทางการค้าอย่างไม่เป็นธรรม เพราะ “ชิปเซมิคอนดักเตอร์” เป็นชิ้นส่วนสำคัญของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ยุคใหม่ สมาคมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์จีน (CSIA) ออกแถลงการณ์ระบุ กฎหมายชิปและวิทยาศาสตร์ (CHIPS and Science Act) ของสหรัฐอเมริกา ละเมิดการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรมและยังมุ่งเป้าที่จะขัดขวางความพยายามของรัฐบาลจีนในการส่งเสริมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ และอาจนำไปสู่ความโกลาหลของซัพพลายเชนระดับโลก
สมาชิกสมาคมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์จีน 774 ราย ระบุว่า การตัดสินใจของสหรัฐจะนำไปสู่ความโกลาหลของซัพพลายเชนโลก และได้เรียกร้องให้สหรัฐทำการแก้ไขการตัดสินใจในดังกล่าว โดยหนึ่งในสาเหตุที่สมาคมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์จีนเรียกร้องเช่นนั้น มาจากเนื้อหาส่วนหนึ่งของกฎหมายชิปและวิทยาศาสตร์สหรัฐระบุว่า ผู้รับเงินอุดหนุนจะถูกห้ามไม่ให้ขยายการผลิตในจีนนอกเหนือจาก “เซมิคอนดักเตอร์รุ่นเก่า” หรือชิปที่ผลิตด้วยเทคโนโลยีการผลิตขนาด 28 นาโนเมตรหรือเก่ากว่านั้นเป็นเวลา 10 ปี
“เราคัดค้านการดำเนินการที่เข้มงวดของสหรัฐ ซึ่งกำหนดเป้าหมายไปยังบางประเทศ กฎหมายฉบับนี้เป็นการเลือกปฏิบัติและสร้างการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม ขัดต่อหลักการค้าที่เป็นธรรมขององค์การการค้าโลก” นาย Yu Xiekang รองประธานสมาคม CSIA กล่าวถึงการออกมาคัดค้าน แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์มองว่า มาตรการของสหรัฐ อาจจะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมไฮเทคของจีนในระยะสั้น เช่นการสะดุดของการพัฒนายานพาหนะที่ขับเคลื่อนอัตโนมัติ คลาวด์ คอมพิวติ้ง และเศรษฐกิจดิจิทัล หากในระยะยาว จีนจะใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ เพื่อสร้างสิ่งทดแทนเทคโนโลยีการผลิตชิปจากสหรัฐ โดยพร้อมทุ่มทุนในระบบ R&D ด้วยเงินจำนวนมาหาศาล ขณะที่วิกฤตเศรษฐกิจในสหรัฐ อาจทำให้การพัฒนาอุตสาหกรรมไฮเทคของสหรัฐเผชิญปัญหาในอนาคต งบประมาณด้านเงินทุนในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของอเมริกันอาจถูกจำกัด เพราะต้องนำงบประมาณไปใช้จ่ายด้านอื่นที่จำเป็นกว่า ซึ่งอาจทำให้การผลิตเซมิคอนดักเตอร์ของสหรัฐเพลี่ยงพล้ำให้กับจีนภายใน 10 ปีก็เป็นไปได้ สะท้อนได้จากดัชนีหุ้นเซมิคอนดักเตอร์ตลาดหลักทรัพย์ฟิลาเดลเฟีย (Philadelphia index of semiconductor stocks หรือ PHLX) ในปีที่ผ่านมา สูญเสียมูลค่าไปมากกว่า 60%
ขณะที่รัฐบาลจีนพยายามส่งเสริมคนรุ่นใหม่ให้ก้าวสู่การศึกษาด้านวิศวกรรมไฮเทค จนมีผู้สำเร็จการศึกษามากกว่าอเมริกันถึง 7 เท่า และคนเหล่านี้จะกลายเป็นนักวิศวกรรม นักวิทยาศาสตร์ นักเอไอ เข้ามาพัฒนาอุตสาหกรรมไฮเทคจนล้ำหน้าอย่างไร้ขีดจำกัด งานนี้ แค่กะพริบตา!ดาบนั้นอาจคืนสนองกลับไปหาสหรัฐแบบไม่รู้ตัว