วันจันทร์, เมษายน 29, 2024
หน้าแรกชัชวาลย์ ชาติสุทธิชัยสอดแนมการเมือง“สอดแนมการเมือง” โดย “ชัชวาลย์ ชาติสุทธิชัย”เรื่องของ“ปรัชญาตะวันตก”(ตอนสิบห้า)ความคิดของ“เบเนดิค สปิโนชา”?!

Related Posts

“สอดแนมการเมือง” โดย “ชัชวาลย์ ชาติสุทธิชัย”เรื่องของ“ปรัชญาตะวันตก”(ตอนสิบห้า)ความคิดของ“เบเนดิค สปิโนชา”?!

ค.ศ.1632-1677 “เบเนดิค สปิโนชา” ไม่ได้เป็นเพียง“ผู้มีความสำคัญอย่างยิ่ง” ต่อประวัติศาสตร์ปรัชญาตะวันตกเท่านั้น แต่เขายังเป็น “ผู้กล้า” ลุกขึ้นมายืนยันในปรัชญาของตนเอง พร้อมๆกับปกป้องจิตวิญญาณของปรัชญาในมุมมองของนักปรัชญายุคใหม่ โดยคนในยุคนั้น ต่างเปรียบ“สปิโนชา”ดั่งนักปรัชญาคนดัง นาม “โสเครตีส” เลยทีเดียว!
“เบเนดิค สปิโนชา” เกิดที่ประเทศฮอลแลนด์ เป็นบุตรชาวโปรตุเกสเชื้อสายยิวที่ถูกเนรเทศ บิดาของ “สปิโนชา” พยายามบังคับให้ลูกชายเป็น “แรบไบ” (RABBI ภาษายิวที่ใช้เรียกผู้ที่เป็นครูหรือนักสอนศาสนา) แต่ “สปิโนชา” สนใจเทวนิยายของยิวน้อยมาก ตรงกันข้าม เขากลับให้ความสนใจนักปรัชญาในยุคนั้นแทน เช่น ฮอบส์ และ เดคาร์ด ฯลฯ
ต่อมา.. “สปิโนชา” ได้ละทิ้งศาสนาออร์โธดอกซ์ยิว แล้วให้ความสำคัญกับปรัชญาแทน โดยไม่สนใจกับผลที่จะตามมา ด้วยเหตุนี้ทำให้เขาถูกตัดขาดจากสังคมชาวยิว เขาจึงปักหลักใช้ชีวิตอยู่ที่เมืองเฮก หาเลี้ยงชีพด้วยการรับจ้างเจียระไนกระจก


งานเขียนของ “สปิโนชา” สร้างความสนใจได้เป็นอย่างมาก แต่มันสร้างความขุ่นเคืองใจต่อผู้อื่นมากกว่า! ความโกรธแค้นที่มีต่อทัศนะของเขา มีมากจน “สปิโนชา” ต้องใช้นามแฝงในงานเขียนชิ้นต่อๆมา และเพราะเหตุที่เขาไม่ต้องการถูกซักไซ้ในแนวคิดเชิงปรัชญาของเขา “สปิโนชา” ถึงกับปฏิเสธตำแหน่งศาสตราจารย์ ที่มหาวิทยาลัยไฮเดลเบิร์กเสนอให้ โดยมีเงื่อนไขว่า เขาต้องนับถือศาสนาคริสต์นิกายออร์โธดอกซ์อย่างสมเหตุสมผล ในช่วงสิบปีสุดท้ายของชีวิต เป็นช่วงที่เขาสร้างสรรค์ผลงานดีที่สุด “สปิโนชา” เสียชีวิตที่เมืองเฮกด้วยวัณโรค เมื่ออายุเพียงสี่สิบห้าปี


คราวนี้เรามาดูแนวความคิดสำคัญอย่างคร่าวๆ ของนักปรัชญา “เบเนดิค สปิโนชา” กัน.. ความคิดสำคัญของ “สปิโนชา” หนึ่ง-พระเจ้าเป็นผู้ซึ่งสมบูรณ์และไร้ขอบเขต..!
“สปิโนชา” ถูกกล่าวหาว่า แนวปรัชญาของเขาเป็นการปฏิเสธและไม่เชื่อถือพระเจ้า คำว่า “พระเจ้า” ของ“สปิโนชา”นั้น สลับกับคำว่า “ธรรมชาติ” ปรัชญาเกี่ยวกับพระเจ้าของเขา จึงอยู่ตรงกันข้ามกับแนวคิดเรื่อง “พระเจ้า” ของ “ยิว-คริสเตียน” “สปิโนชา” ตั้งคำถามไว้ว่า “หากพระเจ้าเป็นผู้ซึ่งไร้ขอบเขตและสมบูรณ์จริงแล้ว พระเจ้าจะกระทำเช่นใดกับจุดจบ? ซึ่งหากถามนักปรัชญา คำตอบก็คือ พระเจ้าไม่อาจทำสิ่งใดได้”


อืม..ถ้าพระเจ้าเป็นผู้ซึ่งไร้ขอบเขตและสมบูรณ์ ถ้าเช่นนั้นก็หมายความว่า..
1.พระเจ้าต้องอยู่ในทุกหนแห่ง และทุกสิ่งทุกอย่างต้องมีอยู่ในตัวพระเจ้าด้วย ถ้าหากพระเจ้าเป็นสสารที่ไร้ขอบเขต นั่นหมายถึงว่า ไม่มีสสารอื่นใดอีกนอกจากพระเจ้า
2.พระเจ้าจะต้องกระทำสิ่งต่างๆเพราะความจำเป็น ไม่ใช่เพราะเลือกที่จะทำ นั่นหมายถึงพระเจ้าไม่อาจกระทำสิ่งใดได้กับจุดสิ้นสุดหรือจุดจบ

เพราะการกระทำต่อสิ่งใดนั้น ย่อมหมายถึงเป็นความจำเป็นเนื่องจากขาดไปซึ่งบางสิ่ง และหากพระเจ้าขาดไปซึ่งบางสิ่ง ก็หมายความว่าพระเจ้าไม่ได้อยู่สภาวะที่สมบูรณ์
หลักการของ “สปิโนชา” จึงเริ่มจากพระเจ้า และนำเขาไปสู่บทสรุปด้วยตรรกะ จุดมุ่งหมายของเขาไม่ใช่เพื่อบั่นทอนความเชื่อถือพระเจ้า ในแง่ที่ว่าพระเจ้ามีภาวะที่ไร้ขอบเขต แต่เพราะต้องการชี้ให้เห็นว่า พระเจ้าไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะทำสิ่งใดได้ตามใจชอบ และไม่ใช่เหตุของการสร้าง และในทำนองเดียวกับ “เดคาร์ด” “สปิโนชา” เชื่อว่า พระเจ้านั้นมีอยู่จริง เพราะแก่นสารของพระเจ้านั้น ย่อมต้องรวมถึงการมีตัวตนอยู่


ตามความคิดของ“สปิโนชา” พระเจ้าเป็นสิ่งที่“เป็นจริง”เพียงอย่างเดียวบนโลก พระเจ้าเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดสองสิ่งขึ้นมา นั่นคือ ความคิดและการขยายตัว ทุกสิ่งทุกอย่าง ตั้งแต่ความคิดที่เรามีต่อโลกแห่งวัตถุ เป็นเพียงแค่การแสดงออกของสสารที่ไร้ขอบเขตเท่านั้น (คือพระเจ้า/ธรรมชาติ) ความคิดสำคัญของ “สปิโนชา” สอง-พระเจ้าไม่ใช่ปัจจัยสุดท้าย..!
ตามความคิดของ“สปิโนชา” พระเจ้ากระทำการบางอย่างเพื่อ “จุดหมายเฉพาะ” เพราะว่ามนุษย์ซึ่งเห็นประโยชน์ของ“ธรรมชาติ” กลับใช้ประโยชน์ของ“ธรรมชาติ”อย่างผิดพลาด หรือโดยผิดวัตถุประสงค์.. เฮ้อ!..เดือดร้อนไปถึงตัวอย่างของ“แม่วัวเบสซี”อีกแล้ว..!


ถ้า “แม่วัวเบสซี” กินอาหารดี มันก็จะให้โปรตีนที่ดีต่อมนุษย์ ซึ่งช่วยให้มนุษย์ดำรงชีพอยู่ได้ “เบสซี” จึงมีประโยชน์ในฐานะที่เป็นแหล่งอาหารของมนุษย์ แต่การที่“เบสซี”มีประโยชน์เช่นนี้ ไม่ได้หมายความว่า มันถูกสร้างขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์นี้เป็นการเฉพาะและโดยเจตนา แนวคิดเรื่อง“วัตถุประสงค์”เช่นว่านี้ ที่ว่าเกิดจากพระเจ้าและธรรมชาตินั้น ความจริงมันเกิดมาจากตรรกะในการ “ใช้ประโยชน์” หรือ “วัตถุประสงค์” ที่ผิดพลาดมากกว่า ความคิดสำคัญของ “สปิโนชา” สาม-เสรีภาพคือการกระทำที่สอดคล้องกับธรรมชาติของตนเอง..!
“สปิโนชา” ยืนยันว่า เสรีภาพที่แท้จริงนั้น ไม่ใช่ภาวะที่เราสามารถ “เลือก” สิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ แต่หมายถึงภาวะที่สามารถกระทำในสิ่งที่สอดคล้องกับธรรมชาติของเราได้ โดยสามารถกระทำสิ่งนั้นได้โดยลำพัง พระเจ้ามีเสรีภาพเพราะพระเจ้าเป็นภาวะที่ไร้ขอบเขต และไม่ต้องการสิ่งใดจากการดำรงอยู่ของตน สำหรับมนุษย์เช่นเรา เสรีภาพประกอบขึ้นด้วยความเข้าใจในสิ่งที่ตนต้องการ รวมทั้งเข้าใจที่ที่เราอยู่ในจักรวาลนี้ ในฐานะที่มันเกิดมาจากพระเจ้า


“เบเนดิค สปิโนชา” ไม่เพียงแต่เป็นนักปรัชญาที่ยิ่งใหญ่เท่านั้น แต่ยังเป็นคนที่ยิ่งใหญ่ ที่ชีวิต “ของเขาเอง” เป็นเสมือนเครื่องยืนยัน “จิตวิญญาณปรัชญาของเขา” .. ครานี้มาดู “คำคม” ของ “สปิโนชา” เขาถ่ายทอดแนวคิดเริ่มต้นผ่านตัวอักษรว่า..“ไม่ว่าจะเป็นสิ่งใด สิ่งนั้นย่อมอยู่ในตัวพระเจ้า หากปราศจากพระเจ้า ไม่มีสิ่งใดสามารถเกิดขึ้นมา หรืออย่างที่เป็นอยู่ได้” อืม..ยามนั้น “สปิโนชา” พูดด้วยเชื่อมั่นในพระเจ้าเต็ม 100% ก่อนจะพูดถึงเรื่องที่ว่า “อย่าเอาแต่ร้องไห้หรือโกรธแค้น แต่จงทำความเข้าใจ” ใช่เลย!..ต้องเข้าใจอย่างถ่องแท้เป็นหลัก!.. “อย่าแปลกใจกับความคิดใหม่ๆ เพราะคนเราย่อมรู้อยู่แล้วว่า สิ่งต่างๆ ก็ยังสามารถกลายเป็นจริงขึ้นมาได้ แม้คนจำนวนมากจะไม่ยอมรับก็ตาม” “สันติไม่ใช่ภาวะที่ไม่มีสงคราม แต่สันติคือความดี คือภาวะที่มีสติ มีความเมตตา เชื่อมั่นและมีความยุติธรรม” ใช่อีกแล้ว!.. “มีสติ”ย่อมมีโอกาสไตร่ตรอง

ค้นหา “เหตุผล” มากกว่า..จริงไหม? “ข้าพยายามอยู่ตลอดเวลาที่จะไม่หัวเราะเยาะแค้นเคือง หรือเหยียดหยันการกระทำของมนุษย์ แต่พยายามทำความเข้าใจการกระทำเหล่านั้น”
เขาได้ยืนยันอย่างมั่นใจด้วยว่า “ผู้ที่ยอมรับในสิ่งใดด้วยความคิดที่เป็นอิสระ และโดยใช้เหตุผลประกอบ ผู้นั้นเท่านั้นที่เป็นผู้มีเสรีภาพ” แถมเขายังเชื่อมั่นอย่างล้นเหลือว่า “ไม่มีความหวังใดที่ปราศจากความกลัว และไม่มีความกลัวใดที่ปราศจากความหวัง”! “สปิโนชา” พูดถึง“เหตุผล”เสียยืดยาวว่า “หากปราศจากซึ่งสติปัญญา ย่อมไม่มีชีวิตใดที่สมเหตุสมผล และสิ่งต่างๆถือเป็นสิ่งที่ดี ตราบเท่าที่มันยังสามารถสร้างความพึงพอใจ ที่เกิดจากสติปัญญาให้กับมนุษย์ได้ ในทางกลับกัน สิ่งต่างๆเหล่านั้นโดยลำพังของตัวมันเอง มันคือสิ่งชั่วร้าย เพราะมันปกปิดไม่ให้เราได้พบกับเหตุผล และสุขใจกับชีวิตที่มีเหตุผล สิ่งต่างๆที่มนุษย์สร้างขึ้น จำต้องเป็นสิ่งที่ดี นั่นหมายความว่า ความชั่วร้ายไม่อาจเกิดขึ้นกับมนุษย์ได้ เว้นแต่มันเป็นสิ่งที่มาจากสาเหตุภายนอก เว้นเสียแต่ว่า มนุษย์ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติทั้งมวล และยอมรับให้กฎของมนุษย์นั้น เป็นไปตามกฎของธรรมชาติ ซึ่งย่อมทำให้มนุษย์ทำตัวให้สอดคล้องกับธรรมชาติ ในทุกวิถีทางอย่างไม่มีที่สิ้นสุด” มีข้อความสั้นๆที่“สปิโนชา” กับ “ผู้คน” ต่างก็รู้คือ.. “การกระทำของเราที่เกิดขึ้นโดยอำนาจหรือเหตุผลของเรา ย่อมเป็นสิ่งที่ดีเสมอ แต่สำหรับผู้อื่นแล้ว มันอาจเป็นได้ทั้งสิ่งที่ดีและชั่วร้าย”…!!

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts