วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
หน้าแรกต่างประเทศจีนพินิจ ถอดโมเดลเศรษฐกิจ ‘จีน’ ผลักดัน ‘ไทย’ ยืนเวทีโลก

Related Posts

พินิจ ถอดโมเดลเศรษฐกิจ ‘จีน’ ผลักดัน ‘ไทย’ ยืนเวทีโลก

พินิจมีมุมมองเฉียบคมทั้งภาพกว้าง และระดับโฟกัสอย่างใกล้ชิด ฉายวิสัยทัศน์ต่อการบริหารเศรษฐกิจของประเทศจีน ที่ไทยควรเรียนรู้ ผลักดันตัวเองไปสู่เวทีโลก

พินิจอธิบายว่า ที่ผ่านมาจีนพยายามผลักดันประเทศให้ก้าวสู่การเป็นผู้นำระดับโลก โดยเน้นการแก้ไขปัญหาเชิงคุณภาพ รวมถึงการยกระดับการบริหารจัดการเศรษฐกิจที่ดี จนหลายประเทศทั่วโลกได้เดินทางไปศึกษาโมเดลการบริหารประเทศซึ่งโดดเด่นในด้านการแก้ปัญหาความยากจนให้กับประชากรที่มีจำนวนสูงถึง 1,400 ล้านคน

หลักการแก้ปัญหาคือ การมองนโยบายใน ‘ระยะยาว’ มากกว่าการแก้ไขปัญหาระยะสั้น จากการวางโครงสร้างพื้นฐานตั้งแต่ฐานรากจนเกิดเป็นระบบเศรษฐกิจที่ยั่งยืนในปัจจุบัน โดยเดินตามยุทธศาสตร์ที่มีเป้าหมายต่อการทำเศรษฐกิจที่ยั่งยืน และผงาดบนเวทีโลกอย่างแข็งแกร่ง

เมื่อมีปัญหาทางเศรษฐกิจ รัฐบาลจีนจะมุ่งแก้ปัญหาด้วยการลงทุนในประเทศ โดยไม่ใช้การแจกเงิน แต่ใช้การลงทุนและธุรกิจ ซึ่งเป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ เมื่อมีปัญหาจากช่วงหลังเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ก็มีการสร้างสิ่งก่อสร้างใหม่เพิ่มขึ้น เช่น สนามบิน รถไฟฟ้า ถนน โรงพยาบาล เรียกได้ว่าเป็นการ ‘สร้างเมือง’ เมื่อมีโปรเจ็กต์ก็มีการจ้างงานคนในประเทศ ทำให้เกิดความเจริญขึ้นในทุกมุมเมืองที่มีการสร้างเศรษฐกิจใหม่ จากการลงทุนเรื่องโครงสร้างพื้นฐานให้กับประชาชน โดยไม่มีการทำนโยบายแจกเงินที่ไม่สร้างประโยชน์ระยะยาว

ขณะที่การบริหารจัดการเศรษฐกิจจีนพื้นฐานมีการ ‘เดิน 3 ขา’ หากขาส่งออกมีปัญหาจะนำขาการลงทุนในประเทศเข้ามาทดแทน ซึ่งโครงสร้างพื้นฐานใหม่ๆ ก็ตอบโจทย์เศรษฐกิจตามยุทธศาสตร์ของจีน ที่นอกจากจะสร้างงานให้คนในประเทศ อีกมุมหนึ่งก็สร้างความเจริญของเมืองในภาพใหญ่ และสามารถเรียกนักท่องเที่ยวเข้ามาได้เช่นกัน

@suebjarkkhao

พินิจ ถอดโมเดลเศรษฐกิจ ‘จีน’ ผลักดัน ‘ไทย’ ยืนเวทีโลก

♬ เสียงต้นฉบับ – Suebjarkkhao – Suebjarkkhao

จากความยิ่งใหญ่ของเศรษฐกิจจีน พินิจยังฉายภาพรอยต่อความเป็นเมืองพี่เมืองน้องของจีนและไทย ให้เกิดเศรษฐกิจระหว่างประเทศร่วมกัน โดยมองว่า ในขณะนี้ไม่อาจปฏิเสธว่าจีนมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับต้นของโลก เพราะเป็นตลาดการค้าใหญ่ ประชากรมาก ดังนั้น ไทยต้อง ‘เร่งกระชับความเป็นครอบครัวเดียวกัน’ และเร่งความร่วมมือทั้งด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และวัฒนธรรม สิ่งเหล่านี้ต้องมีองค์กร หรือหน่วยงานที่ร่วมมือกัน เพื่อกระชับความสัมพันธ์อันดีให้เกิดขึ้นต่อเนื่องและยาวนาน

“เรื่องโลจิสติกส์เป็นเส้นเลือดของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทั้งการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว หากขาดการขนส่งจะทำให้สินค้าส่งออกไม่ได้ และคนไม่สามารถเดินทางได้เช่นกัน ดังนั้น เรื่องการสร้างรถไฟความเร็วสูงที่เชื่อมต่อระหว่างประเทศไทย สปป.ลาว และจีน จึงมีความสำคัญ และสร้างประโยชน์ได้หลายประเทศไม่เพียงแต่ไทยและจีน แต่ประเทศในภูมิภาคอาเซียนจะเกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจมากขึ้น จากการพัฒนาด้านโลจิสติกส์ที่เชื่อมระหว่างประเทศ

โจทย์สำคัญของไทยคือการวางโครงสร้างภายในประเทศให้แข็งแรง เพื่อรองรับสิ่งต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตที่นอกเหนือจากโครงสร้างสาธารณะพื้นฐานซึ่งต้องมีแล้ว สิ่งสำคัญที่ไทยยังขาดอยู่มาก คือการเพิ่มทักษะความรู้ด้านการศึกษาให้เข้มแข็ง ต้องสนับสนุนให้เรียนรู้ภาษาหลากหลาย เรื่องวัฒนธรรม อีกทั้งเพิ่มพูนความรู้ให้คนเก่งและฉลาดมากขึ้น” 

ประธานสภาวัฒนธรรมไทย-จีน วิเคราะห์ต่อไปว่า ขณะที่เมืองไทยเป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์และมีสิ่งแวดล้อมที่สร้างคนให้มีความสามารถได้ ถึงวันนี้คนไทยต้องขยัน และเร่งหาความรู้ รวมถึงหาทุนมาลงทุนแข่งขันระดับประเทศ เพราะอนาคต โลกจะ ‘ไร้พรมแดน’ ไม่ใช่แค่คนจีนจะเข้ามาในไทย แต่มีทั้งสหรัฐ เกาหลี ญี่ปุ่น ที่เดินทางมาลงทุน อาชีพใหม่จะเกิดขึ้นตามโลกที่เปลี่ยนแปลง

“จีนลงทุนในเมืองไทยอันดับ 1 ด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ซึ่งไทยยังมีสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวย เพราะไทยยังเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ เรียกว่าเป็นแชมป์ของโลก โรงงานรถยนต์มีเกือบทุกสัญชาติที่ลงทุนอยู่ในประเทศไทย

จึงเกิดแรงดึงดูดให้นักลงทุนเข้าประเทศมากขึ้น

จีนมีตลาดการส่งออกไปทั่วโลก แต่มีบางประเทศที่เป็นข้อจำกัด เช่น สหรัฐ ที่มีเงื่อนไขต่อการส่งสินค้ากับจีน ขณะที่ไทยก็มีการทำเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ที่มีอยู่หลายประเทศ หากมีการทำโรงงานการผลิตในไทยจะมีการส่งออกไปในประเทศที่เกิดข้อยกเว้นได้ ดังนั้น การลงทุนในระบบเศรษฐกิจที่เอื้ออำนวยต่อกันยังมีมากและสามารถต่อยอดได้ในอนาคต” พินิจกล่าว

ปิดท้ายที่ประเด็นการท่องเที่ยว พินิจยืนยันว่าไทยยังเป็นเสน่ห์ดึงดูดชาวต่างชาติ เพราะมีธรรมชาติที่งดงาม ทั้งภูเขาและท้องทะเล อีกทั้งวัฒนธรรมอันรุ่มรวย รวมถึงรสชาติอาหารซึ่งเป็นที่กล่าวขานไปทั่วโลก

“สิ่งเหล่านี้คือแลนด์มาร์กความเป็นไทยที่โดดเด่นระดับโลก ขณะที่การลงทุนยังมีอยู่ต่อเนื่อง และไทยต้องพร้อมรองรับทุกโอกาสที่เข้ามาด้วย นอกจากบทบาทภาครัฐและเอกชนต้องทำงานอย่างเต็มที่แล้ว ประชาชนก็เป็นกำลังสำคัญ เราต้องร่วมใจกันผลักดันให้ประเทศไทยมีศักยภาพเพียงพอไปยืนอยู่ระดับเวทีโลกให้ได้เช่นกัน” ประธานสภาวัฒนธรรมไทย-จีนเผย ก่อนเน้นย้ำทิ้งท้ายว่า

กำลังคนคือหัวใจสำคัญของการพัฒนา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts