วันจันทร์, มกราคม 13, 2025
หน้าแรกอาชญากรรม“7 ข้อเท็จจริงข้อมูลหลังกำแพงที่อยากให้สังคมรับรู้”

Related Posts

“7 ข้อเท็จจริงข้อมูลหลังกำแพงที่อยากให้สังคมรับรู้”

เรื่องที่ ๔  การดูแลผู้ต้องขังติดยาเสพติดและผลที่ได้รับ
กรมราชทัณฑ์ มีภารกิจเกี่ยวกับการควบคุมและแก้ไขพฤตินิสัยผู้ต้องขังและบุคคลที่อยู่ในความควบคุมหรือดูแลตามอำนาจและหน้าที่ โดยมุ่งพัฒนาเป็นองค์กร พัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อแก้ไขหรือฟื้นฟูผู้ต้องขังและบุคคลที่อยู่ในความควบคุมหรือดูแล ให้กลับตนเป็นพลเมืองดี มีสุขภาพกายและจิตที่ดี ไม่หวนกลับมากระทำผิดซ้ำ ได้รับการพัฒนาทักษะฝีมือในการประกอบอาชีพที่สุจริต และสามารถดำรงชีวิตในสังคมภายนอก ได้อย่างปกติโดยสังคมให้การยอมรับ

ข้อมูลการคัดกรองด้วยแบบคัดกรองและส่งต่อผู้ต้องขังที่ใช้ยาและสารเสพติดเพื่อรับการบําบัดรักษา กรมราชทัณฑ์ (บคก.รท.) (อ้างอิงจากแบบคัดกรองฯ ของกระทรวงสาธารณสุข) ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 มีจำนวนผู้ต้องขังทั้งหมด 272,647 คน ได้รับการคัดกรองแล้ว จำนวน 256,068 คน คิดเป็นร้อยละ 93.92 ผลการคัดกรอง พบว่า

  • เป็นผู้ที่มีประวัติการใช้สารเสพติด จำนวน 189,214 คน คิดเป็นร้อยละ 73.89
  • ไม่เคยใช้สารเสพติด จำนวน 66,854 คน คิดเป็นร้อยละ 26.11
     
    โดยสามารถแบ่งผู้ต้องขังที่มีประวัติการใช้สารเสพติด 189,214 คน ออกเป็น 3 ระดับ ดังนี้
    ผู้ใช้
    (ผู้ใช้ยาเสพติดเป็นครั้งคราว) 11,598 คน
    (ร้อยละ 6.13)
    ผู้เสพ
    (ผู้ที่ติดใจในการเสพ มีความสุขเมื่อเสพ และมีแนวโน้มเสพบ่อยขึ้น) 154,780 คน
    (ร้อยละ 81.80)
    ผู้ติด
    (ผู้ที่หมกมุ่นในการเสพ มีอาการเมายา ส่งผลต่อการเรียนหรือการทำงาน) 22,836 คน
    (ร้อยละ 12.07)
     
    กรมราชทัณฑ์ มีแนวทางในการดำเนินงานด้านการบำบัดและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ต้องขังติดยาเสพติด โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่าย มุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมของผู้ต้องขัง ตามแนวทางการดำเนินงาน ดังนี้
    1) ผู้ใช้  – ใช้การให้คำปรึกษาเบื้องต้น (Basic Counseling)/การให้คำแนะนำ
                 แบบสั้น (Brief Advice : BA) และการให้การบำบัดแบบสั้น  
        (Brief Intervention : BI)
      – โครงการ TO BE NUMBER ONE ในเรือนจำและทัณฑสถาน
    2) ผู้เสพ – โครงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสำหรับกลุ่มผู้เสพยาเสพติด
       และผู้ค้ารายย่อยในเรือนจำและทัณฑสถาน (12 วัน)
    3) ผู้ติด  – โครงการบำบัดฯ ในรูปแบบชุมชนบำบัด (4 เดือน)

โดยในปีงบประมาณ 2566 มีกลุ่มเป้าหมายการบำบัดฯ 32,000 คน และได้ดำเนินการบำบัดและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ต้องขัง จำนวนทั้งสิ้น 33,858 คน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 105.80 ซึ่งมากกว่าจำนวนกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ และจากข้อมูลการกระทำผิดซ้ำของผู้ต้องขังที่ผ่านการบำบัดฯ และได้รับการปล่อยตัว ภายใน 1 ปี เปรียบเทียบกับผู้ต้องขังที่ได้รับการปล่อยตัวทั้งหมด ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 – 2566 พบว่า
   – ผู้ต้องขังทั้งหมด เฉลี่ยกระทำผิดซ้ำร้อยละ 13.33
   – ผู้ต้องขังที่ผ่านการบำบัดและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด เฉลี่ยกระทำผิดซ้ำร้อยละ 10.87

ทั้งนี้ ผู้ต้องขังทุกรายเมื่อใกล้ถึงกำหนดที่จะได้รับการปล่อยตัวพ้นโทษ เรือนจำจะมีการจัดอบรมเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย เพื่อเตรียมความพร้อมในการกลับคืนสู่สังคม ทั้งในด้านทักษะทางสังคม ทักษะอาชีพ สัมพันธภาพกับครอบครัว ฯลฯ และยังมีโครงการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ต้องขังติดยาเสพติดก่อนพ้นโทษ เพื่อเสริมสร้าง ภูมิคุ้มกัน ลดอัตราการกลับไปใช้ยาเสพติดซ้ำภายหลังพ้นโทษ

แต่การดำเนินงานบำบัดและฟื้นฟูของกรมราชทัณฑ์ที่ผ่านมา มีจำนวนบุคลากร ที่ผ่านการอบรมจากกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ เพียง 280 คน โดยเจ้าหน้าที่มีภาระหน้าที่หลายด้าน ประกอบกับจำนวนผู้ต้องขังที่เกินอัตราความจุ พื้นที่และสภาพแวดล้อมภายในเรือนจำมีความแออัด ทำให้พื้นที่ไม่เหมาะต่อการดำเนินงานด้านการบำบัดฯ ดังนั้น หากกรมราชทัณฑ์สามารถลดจำนวนผู้ต้องขัง แก้ปัญหาคนล้นคุกได้ อัตราส่วนเจ้าหน้าที่และผู้ต้องขังมีความเหมาะสมทั้งในเรื่องการควบคุม และแก้ไขพัฒนาพฤตินิสัย ก็จะทำให้การบำบัดและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดดำเนินการได้ดีขึ้น

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts