หลังจากประสบความสำเร็จในการส่งยานอวกาศจำนวนมากไปสำรวจทั้งดวงจันทร์และดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ จีนวางแผนสร้างระบบสื่อสารทางไกลข้ามดวงดาวของตัวเอง
ในงาน International Astronautical Congress (IAC) ครั้งที่ 74 นั้น หน่วยงานอวกาศของจีนได้ประกาศว่าจีนกำลังพัฒนาภารกิจดวงจันทร์ ภารกิจห้วงอวกาศลึก และภารกิจการป้องกันดาวเคราะห์เป็นจำนวนมาก ด้วยปริมาณข้อมูลการสื่อสารที่จะต้องใช้ หน่วยงานอวกาศของจีนจึงกำลังพัฒนาเครือข่ายสื่อสารห้วงอวกาศลึก (Deep Space Network) ที่ชื่อว่า “Queqiao”
เครือข่าย Queqiao ประกอบไปด้วยยานโคจรรอบดวงจันทร์ ยานที่จุดลากรางจ์ระหว่างโลกและดวงจันทร์ (จุดลากรางจ์ที่ 2) โดยปัจจุบัน จีนมียานสื่อสารที่อยู่ในจุดลากรางจ์ที่ 2 อยู่แล้วเพื่อสนับสนุนการทำงานของยาน Chang’e-4 ที่ลงจอดด้านไกลดวงจันทร์ ส่วนยานในเครือข่าย Queqiao ที่จะตามมา คือยาน Queqiao-2 ที่จะปล่อยในช่วงเดือนพฤษภาคม 2024 เพื่อสนับสนุนภารกิจ Chang’e-6 รวมถึง Chang’e 7 และ 8 และภารกิจลงจอดที่ขั้วใต้ของดวงจันทร์
นอกจากนี้จะยังมีดาวเทียม Tiandu อีก 2 ดวง เพื่อช่วยส่งต่อการสื่อสารระหว่างโลกและดวงจันทร์ โดยเฉพาะในบริเวณด้านไกลของดวงจันทร์และบริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์
ส่วนยาน Queqiao-3 นั้นจะเป็นยานที่มีเทคโนโลยีสำหรับการสื่อสาร การนำทาง และการทำงานด้านวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะ ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายสื่อสาร “Queqiao เวอร์ชัน 1”
“Queqiao เวอร์ชัน 2” นั้นจะครอบคลุมการสื่อสารบนพื้นผิวของดวงจันทร์ทั้งหมดด้วยการวางดาวเทียมไว้ในจุดลากรางจ์ที่หนึ่ง สอง และสาม และดาวเทียมรอบดวงจันทร์อีกหกดวงในคาบวงโคจรที่ต่างกัน
ส่วนเวอร์ชัน 3 นั้น Queqiao จะกลายสภาพเป็นเครือข่ายสื่อสารอวกาศห้วงลึกเต็มตัว ด้วยความสามารถในการสื่อสารไปยังดาวอังคารและดาวศุกร์ โดยจะพึ่งเทคโนโลยีการสื่อสารด้วยเลเซอร์เป็นหลัก