ขณะที่ค่านิยมของเงินหยวนขยายไปในโลกกว้าง โดยเฉพาะการค้าขายผ่านโครงการ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” การซื้อขายแลกเปลี่ยนด้วยสกุลเงินท้องถิ่นกับเงินหยวนเริ่มถูกนำมาใช้มากขึ้น เกิดความสะดวกสบายและมีความเสี่ยงต่ออัตราแลกเปลี่ยนน้อยกว่าการใช้ดอลลาร์ ประเทศต่างๆ ทั่วโลกมุ่งหน้าสู่การละทิ้งการพึ่งพิงดอลลาร์ แม้กับพวกที่เป็นมิตรกับสหรัฐ
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่ากลัวสำหรับ “ดอลลาร์” มากกว่าเงินหยวนก็คือ การแจ้งเกิดของ “ดิจิทัลหยวน” หรือ e-CNY ที่เริ่มมีการใช้อย่างแพร่หลายในประเทศจีน และเริ่มขยายไปในกลุ่มชาวต่างชาติ โดยเริ่มทดลองใช้อย่างเป็นทางการครั้งแรกในงาน China-ASEAN Expo ครั้งที่ 20 มหกรรมงานแสดงสินค้าสุดยิ่งใหญ่ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีที่นครหนานหนิง เมืองเอกของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลกลางให้เป็นจุดทดลอง ‘ดิจิทัลหยวน’
ข้อมูลจาก บีไอซี (Business Information Center) ระบุว่า “ดิจิทัลหยวน” เป็นเงินที่ถือครองในรูปแบบสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางจีน (People’s Bank of China หรือ PBOC) โดย 1 หยวนดิจิทัลมีค่าเท่ากับ 1 หยวน สามารถนำไปใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย โดยผู้ใช้ต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชันกระเป๋าเงินดิจิทัล หรือ e-Wallet บนสมาร์ทโฟนไว้สำหรับการเก็บเงินดิจิทัลหยวน หรือหากผู้ใช้ไม่ต้องการใช้ระบบมือถือก็ใช้บัตรสมาร์ทการ์ด สายรัดข้อมือ หรืออุปกรณ์อื่นที่ฝั่งชิปดิจิทัลหยวน (การใส่เงินดิจิทัลหยวนลงในอุปกรณ์เหล่านี้ สามารถทำได้ง่ายเพียงเปิดฟังก์ชัน NFC ของสมาร์ทโฟน เข้าแอปพลิเคชันดิจิทัลหยวน กำหนดจำนวนเงิน และนำอุปกรณ์ดังกล่าวแตะสัมผัสกับสมาร์ทโฟน)
“ดิจิทัลหยวน” หรือ e-CNY สำหรับชาวหนานหนิง เริ่มมีความคุ้นเคยจากการส่งเสริมการทดลองใช้ดิจิทัลหยวนให้ครอบคลุมชีวิตประจำวันของประชาชน ซึ่งทั้งภาครัฐและภาคเอกชนต่างร่วมมือกันในการสร้างระบบนิเวศการทดลองใช้ดิจิทัลหยวน อาทิ ธนาคาร GXBank ร่วมมือกับแอปพลิเคชันบริการภาครัฐท้องถิ่น (智桂通) แจก ‘อั่งเปาดิจิทัลหยวน’ / ธนาคาร China Construction Bank (建设银行) ร่วมมือกับนิคมอุตสาหกรรมในการจ่ายเงินเดือนด้วยดิจิทัลหยวน / แพลตฟอร์มช้อปออนไลน์ JD, Taobao แพลตฟอร์มเดลิเวอร์รี่ Meituan และร้านค้าปลีกออฟไลน์ก็ต่างทยอยสนับสนุนการชำระเงินด้วยดิจิทัลหยวน
ความเคลื่อนไหวล่าสุดเมื่อปลายเดือนกันยายน ปี 2566 ที่ผ่านมา แอปพลิเคชันกระเป๋าตังค์ดิจิทัล (เวอร์ชันภาษาอังกฤษชื่อว่า e-CNY) ได้เปิดฟังก์ชันใหม่ให้ชาวต่างชาติสามารถเติมเงินเข้าแอปพลิเคชัน e-CNY ด้วยบัตรธนาคารต่างชาติแล้ว กล่าวคือ ชาวต่างชาติที่เดินทางไปยังจีนระยะสั้น (ในเมืองที่เป็นจุดทดลองการใช้ดิจิทัลหยวน) สามารถสมัคร “บัญชี e-CNY” บนแอปพลิเคชัน e-CNY ด้วยการใช้หมายเลขโทรศัพท์มือถือต่างประเทศ และยังสามารถเปิดใช้และเติมเงินเข้า e-CNY wallet ได้ผ่านบัตร Visa และ MasterCard เพื่อไปชำระเงิน และยอดคงเหลือในแอปพลิเคชัน e-CNY สามารถโอนกลับไปยังบัตรได้ โดยไม่ต้องเปิดบัญชีบัตรธนาคารจีนและไม่ต้องหาจุดบริการแลกเงินหยวน
ข้อมูลจาก บีไอซี ยังระบุอีกว่า หลายปีมานี้ รัฐบาลจีนให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการทดลองใช้ดิจิทัลหยวนในบริบท/ขอบเขตที่ขยายสู่วงกว้างมากยิ่งขึ้น เพื่อแก้ปัญหาความไม่โปร่งใสในระบบการเงิน การรับมือกับ crypto currency และลดทอนอำนาจของ e-wallet ของบริษัทเอกชนอย่าง Wechat และ Alipay รวมถึงการเสริมความคล่องตัวของดิจิทัลหยวนให้กลายเป็นสกุลเงินที่สำคัญในเศรษฐกิจโลกในอนาคตอันใกล้นี้ เมื่อสกุลเงินดิจิทัลหยวนสามารถใช้งานได้จริงและแพร่หลายอย่างกว้างขวางทั้งในและนอกประเทศจีน และอาจทำให้ “ดิจิทัลหยวน” เป็นตัวเลือกสำคัญที่สามารถทดแทนเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยเฉพาะในระบบการชำระบัญชีการค้าระหว่างประเทศ ด้วยความคล่องตัว และความทันสมัยของเทคโนโลยีการชำระเงินในโลกยุคดิจิทัล ที่สำคัญคือช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนได้
การใช้ดิจิทัลหยวนเป็นอีกก้าวสำคัญของการเปลี่ยนผ่านสังคมจีนเป็นสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัล โดยดิจิทัลหยวนจะเป็นตัวกลางที่ช่วยให้จีนสามารถเปิดเสรีด้านการเงินในต่างประเทศได้มากขึ้น โดยหากจีนสามารถเจรจาร่วมกับธนาคารกลางของประเทศอื่น ๆ เช่น ประเทศตามเส้นทาง Belt and Road Initiative (BRI) เพื่อเชื่อมต่อการแลกเปลี่ยนเงินดิจิทัลหยวนข้ามพรมแดนแล้ว ก็จะช่วยให้จีนมีบทบาทในการจัดตั้งระบบการเงินดิจิทัลของโลก รวมถึงน่าจะทำให้เป้าหมายนโยบาย Digital Silk Road ของจีนมีผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมมากขึ้นด้วย
นอกจากนี้ ในอนาคตหากดิจิทัลหยวนได้รับการยอมรับกว้างขวางในการค้าและชำระเงินระหว่างประเทศ ก็อาจจะมีผลกระทบต่อสถานะของดอลลาร์สหรัฐในฐานะที่เป็นสกุลเงินการค้าโลกและส่งผลต่ออิทธิพลของสหรัฐได้ ด้วยเหตุนี้สหรัฐจึงหันมาใส่ใจเรื่องนี้อย่างจริงจัง ด้วยการพัฒนา “ดิจิทัลดอลลาร์”
เท่ากับว่าการแข่งขันทางการเงินยุคใหม่ “ดิจิทัลหยวน” กับ “ดิจิทัลดอลลาร์” ตั้งต้นในจุดสตาร์ทพร้อมกัน ผิดกับในอดีตขณะที่ดอลลาร์เป็นเงินที่ได้รับความนิยมทั่วโลก แต่เงินหยวนกลับเป็นที่รู้จักในวงแคบ กระนั้นก็ตาม ในปี 2022 รายงานของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ระบุว่า สัดส่วนของดอลลาร์ในทุนสำรองระหว่างประเทศของโลกลดลงมาแตะระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 3 ทศวรรษ ที่ 58% ในไตรมาส 4 ของปี 2022 สวนทางกับสถานะของหยวนในตลาดโลกกำลังเติบโตขึ้น จากข้อมูลของธนาคารเพื่อการชำระบัญชีระหว่างประเทศ (BIS) ที่ระบุว่า สัดส่วนของของหยวนในการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านตลาดอย่างไม่เป็นทางการเพิ่มขึ้นจากระดับเกือบ 0% เมื่อ 15 ปีก่อน เป็น 7% ในปี 2023 หลายประเทศเริ่มปลีกหนีดอลลาร์จากการทำธุรกรรมข้ามพรมแดน โดยเฉพาะประเทศที่ต้องค้าขายกับจีนที่หันมาใช้เงินสกุลท้องถิ่นและหยวนแทน
ลองนึกภาพดูว่า เมื่อ “ดิจิทัลหยวน” แพร่หลาย ยอดการใช้เงินสกุลหยวนจะเพิ่มขึ้นอีกกี่เท่า โดยเฉพาะการค้าขายบนเส้นทางสายไหม หรือ หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง