วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
หน้าแรกการเมืองภาคประชาชนผบ.ตร. ออกคำสั่งแนวทางการดำเนินการตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ.2565 ซึ่งมีผลเมื่อ 25 ต.ค.66 ให้ตำรวจทั่วประเทศปฏิบัติตาม ให้เป็นไปตามระเบียบกฎหมายทุกขั้นตอน ย้ำคำสั่งปรับเป็นพินัยให้คำนึงถึงความเหมาะสม ระดับความรุนแรง ยืนยัน...

Related Posts

ผบ.ตร. ออกคำสั่งแนวทางการดำเนินการตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ.2565 ซึ่งมีผลเมื่อ 25 ต.ค.66 ให้ตำรวจทั่วประเทศปฏิบัติตาม ให้เป็นไปตามระเบียบกฎหมายทุกขั้นตอน ย้ำคำสั่งปรับเป็นพินัยให้คำนึงถึงความเหมาะสม ระดับความรุนแรง ยืนยัน ตร. มีความพร้อมในการปฏิบัติ มีคณะทำงานกำหนดแนวทางคดีปรับเป็นพินัยเพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์กฎหมาย

วันนี้( 27ต.ค.66 )พล.ต.ท.
อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า “ตามที่มี พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ.2565 โดยได้กำหนดให้เปลี่ยนความผิดอาญาที่มีโทษปรับสถานเดียว เป็นความผิดทางพินัย โดยความผิดทางพินัยไม่ถือเป็นโทษทางปกครองหรือทางอาญา โดยมีวิธีการขั้นตอนในการแสวงหาข้อเท็จจริง รวบรวมพยานหลักฐาน การแจ้งข้อกล่าวหาและแจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงข้อเท็จจริงหรือแก้ข้อกล่าวหา ภายในระยะเวลาไม่น้อยกว่า 30 วัน หากผู้ถูกกล่าวหาไม่ชี้แจงหรือแก้ข้อกล่าวหาภายในระยะเวลาดังกล่าว เจ้าหน้าที่ของรัฐจะมีคำสั่งปรับเป็นพินัยให้ผู้ถูกกล่าวหาชำระค่าปรับภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง และไม่ให้บันทึกการกระทำความผิดทางพินัยไว้ในบันทึกประวัติอาชญากรรมฯ โดยมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่ 25 ต.ค.66 เป็นต้นไปนั้น

พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. ได้สั่งตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษากฎหมาย และกำหนดแนวทางรองรับในการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ.2565 ซึ่งได้มีคำสั่ง ตร.ที่ 591/2566 ลงวันที่ 24 ต.ค.66 เรื่อง แนวทางการดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ.2565 โดยในส่วนของ ตร. มีกฎหมายที่รับผิดชอบโดยตรง 3 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 และ พ.ร.บ.ธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ.2558 ส่วนกฎหมายอื่นๆ ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจอาจจะเกี่ยวข้อง ซึ่งขณะนี้ (26 ต.ค.66) รัฐมนตรีผู้รักษาการตามกระทรวงต่าง ๆ ได้ออกประกาศกำหนดให้ ตร. เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ จำนวน 4 ฉบับแล้ว ได้แก่ พ.ร.บ.กำหนดค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนตร์บนทางหลวงและสะพาน พ.ศ. 2497, พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ. 2535, พ.ร.บ.เพิ่มอำนาจตำรวจในการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดทางน้ำ พ.ศ. 2496, พ.ร.บ.สถานบริการ พ.ศ. 2509

โดยในส่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้กำหนดแนวทาง ดังนี้
1. กรณีเมื่อมีเหตุอันควรสงสัยหรือมีการกล่าวหาหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐพบเห็นว่าความผิดทางพินัยแล้วนั้น ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐาน แจ้งข้อกล่าวหา และต้องให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาได้ชี้แจงหรือแก้ข้อกล่าวหานั้น หากผู้ถูกกล่าวหาไม่ชี้แจงหรือแก้ข้อกล่าวหาภายในระยะเวลา เจ้าหน้าที่ของรัฐจะดำเนินการออกคำสั่งปรับเป็นพินัยแจ้งไปยังผู้ถูกกล่าวหา และหากผู้ถูกกล่าวหาไม่ชำระค่าปรับ ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐรวบรวมหลักฐาน ทำสำนวนส่งอัยการฟ้องต่อศาล ทั้งนี้ ผู้ถูกกล่าวหาสามารถชี้แจงหรือแก้ข้อกล่าวหาผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ได้
และในการกำหนดค่าปรับทางพินัย ให้คำนึงถึงความเหมาะสม ความร้ายแรงของผลกระทบที่เกิดขึ้นในสังคม และสถานภาพทางเศรษฐกิจ ความรู้ผิดชอบ อายุ หรือสิ่งอื่นทั้งปวงของผู้กระทำผิดด้วย ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
ในกรณีที่ตำรวจ พบการกระทำความผิดทางพินัยตามกฎหมายอื่นๆ ให้มีหน้าที่แจ้งให้หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบกฎหมายนั้นๆ เพื่อพิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป เว้นแต่เป็นความผิดทางพินัยที่ตำรวจเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ก็ให้ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการปรับเป็นพินัยต่อไป

2. แนวทางการออกใบสั่งจราจรและการดำเนินคดีปรับเป็นพินัย สำหรับ พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มีสาระสำคัญ กล่าวคือ เจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีอำนาจปรับเป็นพินัยตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 คือ เจ้าพนักงานจราจร ที่ดำรงตำแหน่งสารวัตรหรือตำแหน่งเทียบเท่าขึ้นไป นอกจากนี้ยังได้มีประกาศกำหนดให้ ตร. เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตาม พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ. 2535 เพิ่มเติมอีกด้วย – เจ้าหน้าที่ของรัฐ สามารถออกใบสั่งตามมาตรา 140 แห่ง พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 ได้ทั้ง 3 รูปแบบ (ใบสั่งเจ้าพนักงานจราจรสำหรับให้กับผู้ขับขี่ ติด ผูก หรือแสดงไว้ที่รถ/ใบสั่งสำหรับส่งทางไปรษณีย์/ใบสั่งอิเล็กทรอนิกส์) โดยแนบคำแจ้งสิทธิตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 ไปพร้อมใบสั่ง (สิทธิการขอผ่อนชำระ/สิทธิขอชำระค่าปรับต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนดหรือบริการสาธารณะ) – ช่องทางการชำระค่าปรับจราจร สามารถชำระได้ 3 ช่องทางตามเดิม (ทางอิเล็กทรอนิกส์/ไปรษณีย์/ที่สถานีตำรวจ) – ในกรณีที่พ้นระยะเวลาชำระค่าปรับตามหนังสือแจ้งการไม่ชำระค่าปรับ (หนังสือเตือน) หรือกรณีผู้ถูกกล่าวหาปฏิเสธ ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐสรุปข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย รวบรวมหลักฐาน ทำสำนวนส่งอัยการฟ้องต่อศาลต่อไป ทั้งนี้ ยืนยันว่า ตร. มีความพร้อมในการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ.2565 เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ในการเปลี่ยนความผิดอาญาที่มีโทษปรับสถานเดียว เป็นความผิดทางพินัย โดยความผิดทางพินัยไม่ถือเป็นโทษทางปกครองหรือทางอาญา ผู้ถูกกล่าวหา สามารถผ่อนชำระหรือขอชำระค่าปรับต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด หรือขอทำงานบริการสาธารณะได้ ทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่สังคมต่อไป

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts