วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
หน้าแรกต่างประเทศจีนครม.เห็นชอบความร่วมมืออาเซียน-จีน สร้างความมั่นคงด้านเกษตรและอาหาร

Related Posts

ครม.เห็นชอบความร่วมมืออาเซียน-จีน สร้างความมั่นคงด้านเกษตรและอาหาร

ครม.ไฟเขียวร่างแถลงการณ์ร่วมอาเซียน-จีนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเกษตร เพื่อกำหนดแนวทางความร่วมมือระหว่างอาเซียนและจีน ที่มีผลต่อความมั่นคงทางอาหาร

นางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (31 ตุลาคม 2566) มีมติเห็นชอบร่างแถลงการณ์ร่วมอาเซียน-จีนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเกษตร เพื่อกำหนดแนวทางความร่วมมือระหว่างอาเซียนและจีน ที่มีผลต่อความมั่นคงทางอาหาร โดยร่างแถลงการณ์ร่วมฯ ดังกล่าว อินโดนีเซีย ในฐานะประธานอาเซียน ปี 2566 เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม และเสนอร่างเอกสารร่างแถลงการณ์ร่วมฯ ให้ที่ประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน ครั้งที่ 26 ในวันที่ 6 กันยายน 2566 เพื่อให้ที่ประชุมรับรอง ซึ่งร่างแถลงการณ์ร่วมฯ ได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้ ครั้งที่ 45 เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2566 แล้ว โดยในส่วนของประเทศไทยได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า ไม่มีข้อขัดข้องต่อร่างแถลงการณ์ร่วมฯ และประเทศไทยจะให้การรับรองร่างแถลงการณ์ร่วมฯ ภายหลังได้รับความเห็นชอบจาก ครม. ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ โดยมีสาระสำคัญของเรื่อง คือ

1. อินโดนีเซียในฐานะประธานอาเซียนปี 2566 ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 43 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 4 – 7 กันยายน 2566 ณ กรุงจาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย โดยในระหว่างการประชุมดังกล่าว ได้มีการเสนอเอกสารร่างแถลงการณ์ร่วมฯ ให้ที่ประชุมสุดยอดอาเซียน – จีน ครั้งที่ 26 ในวันที่ 6 กันยายน 2566 เพื่อให้ที่ประชุมรับรอง

2. ร่างแถลงการณ์ร่วมฯ เป็นการกำหนดแนวทางความร่วมมือระหว่างอาเซียนและสาธารณรัฐประชาชนจีน ในเรื่องความร่วมมือด้านการเกษตร ให้ความสำคัญกับภาคการเกษตรที่มีผลต่อความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงทางสังคม การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และการอนุรักษ์ระบบนิเวศ เพื่อให้พร้อมรับมือกับความท้าทายในปัจจุบันและอนาคต เช่น การเติบโตของประชากร ข้อจำกัดด้านทรัพยากร การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังโควิด 19 เป็นต้น รวมถึงโอกาสที่จะเกิดขึ้นจากการมีผลใช้บังคับอย่างสมบูรณ์ของความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership : RECP) ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน – จีน (ASEAN – China Free Trade Agreement : ACFTA) 3.0 ที่กำลังดำเนินการยกระดับการเจรจาอยู่ และการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัล โดยประเทศสมาชิกตกลงที่จะใช้มาตรการเชิงปฏิบัติ ซึ่งมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

2.1 ปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพกลไกความร่วมมือทางการเกษตรระดับทวิภาคีและพหุภาคี สนับสนุนองค์กรสำรองข้าวฉุกเฉินของอาเซียนบวกสาม (ประเทศอาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้) และสำนักงานเลขานุการระบบข้อมูลสารสนเทศความมั่นคงทางอาหารในภูมิภาคอาเซียนให้มีบทบาทมากขึ้น

2.2 เพิ่มการสนับสนุนนวัตกรรมในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีการเกษตรและอุปกรณ์การเกษตรที่ทันสมัย การจัดเก็บและโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ การพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร

2.3 ส่งเสริมการเกษตรแบบยั่งยืน ฟื้นตัวเร็ว การเกษตรหมุนเวียน และการเกษตรคาร์บอนต่ำ ลดการใช้สารเคมีทางการเกษตร และการนำของเสียทางการเกษตรกลับมาใช้ซ้ำ

2.4 พัฒนาการเกษตรอัจฉริยะและหมู่บ้านดิจิทัล ส่งเสริมการประยุกต์ใช้อินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง การประมวลผลบนคราวด์ และเทคโนโลยีสารสนเทศยุคใหม่อื่นๆ ในการผลิตพืชผลทางการเกษตร การเลี้ยงสัตว์ และการประมง สนับสนุนความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยของอาเซียนและจีนในการพัฒนาขีดความสามารถด้านการวิจัย

2.5 ส่งเสริมความร่วมมือด้านห่วงโซ่อุปทานทางการเกษตร ใช้โอกาสอย่างเต็มที่จากการเจรจายกระดับความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และ ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน – จีน (ACFTA)

2.6 สนับสนุนการพัฒนาธุรกิจของผู้ประกอบการธุรกิจการเกษตรและสหกรณ์ขนาดย่อย ขนาดเล็ก และขนาดกลาง

3. ร่างแถลงการณ์ร่วมฯ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพกลไกความร่วมมือทางการเกษตรระดับทวิภาคีและพหุภาคี ส่งเสริมระบบอาหารและการเกษตรที่ยั่งยืน ส่งเสริมความร่วมมือด้านห่วงโซ่อุปทานทางการเกษตร และเพิ่มการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียในความร่วมมือด้านการเกษตรระดับภูมิภาค เพื่อเพิ่มความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงทางสังคม การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และการอนุรักษ์ระบบนิเวศ เพื่อสนับสนุนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุมอาเซียน – จีน และการดำเนินการตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030

4. กต. (กรมอาเซียน) แจ้งว่า ไม่มีข้อขัดข้องต่อสารัตถะและถ้อยคำของร่างแถลงการณ์ร่วมฯ หาก กษ. ในฐานะส่วนราชการเจ้าของเรื่องและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาแล้วเห็นว่ามีความเหมาะสม สอดคล้องกับนโยบายและผลประโยชน์ของประเทศไทยสามารถปฏิบัติได้ภายใต้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ระเบียบและข้อบังคับที่มีอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งสอดคล้องกับพันธกรณีของไทยภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนได้จัดสรรงบประมาณเพื่อการนี้ไว้แล้ว ทั้งนี้ ร่างแถลงการณ์ร่วมฯ ไม่มีถ้อยคำหรือบริบทใดที่มุ่งจะก่อให้เกิดพันธกรณีภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ ประกอบกับไม่มีการลงนามในร่างเอกสารดังกล่าว ดังนั้น ร่างแถลงการณ์ร่วมฯ จึงไม่เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศและไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 

ภายหลังจากที่ ครม. พิจารณาเห็นชอบเอกสารร่างแถลงการณ์ร่วมฯ แล้ว กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) จะมีหนังสือแจ้งการรับรองดังกล่าวอย่างเป็นทางการให้กับสำนักเลขาธิการอาเซียนต่อไป

ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) จะมีหนังสือแจ้งการรับรองดังกล่าวอย่างเป็นทางการให้กับสำนักเลขาธิการอาเซียนต่อไป

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts