นครฉงชิ่งเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมความร่วมมือทางกฎหมายจีน-อาเซียน ครั้งที่ 5 มุ่งกระชับความร่วมมือทางกฎหมายภายใต้ข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง
การประชุมความร่วมมือทางกฎหมายจีน-อาเซียน (China-ASEAN Legal Cooperation Forum) ครั้งที่ 5 ภายใต้หัวข้อ “พัฒนาประชาคมจีน-อาเซียนให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้นผ่านความร่วมมือทางกฎหมาย” ได้จัดขึ้นที่นครฉงชิ่งทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา
ในการประชุมปีนี้มุ่งเน้นไปที่แนวปฏิบัติที่เปลี่ยนแปลงไปและความจำเป็นเร่งด่วนในการกระชับความร่วมมือทางกฎหมายระหว่างจีนกับอาเซียน การส่งเสริมการเจรจาอย่างครอบคลุมและการประกาศมาตรการส่งเสริมกรอบกฎหมายระดับภูมิภาค การบ่มเพาะผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายในด้านภูมิภาคศึกษา และการขยายความร่วมมือด้านบริการทางกฎหมายภายใต้ขอบเขตของข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (BRI)
สำหรับวาระการประชุมประกอบด้วยพิธีเปิด การกล่าวปาฐกถาพิเศษ การประชุมย่อยหลายหัวข้อ และพิธีปิด โดยมีแขกผู้ทรงเกียรติเกือบ 200 คนเข้าร่วมงาน ทั้งตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐ ฝ่ายนิติบัญญัติและตุลาการ นักวิชาการ ภาคธุรกิจ และแวดวงกฎหมาย ซึ่งรวมถึงทนายความ อนุญาโตตุลาการ และผู้ประกอบวิชาชีพทางกฎหมายทั้งจากจีนและอาเซียน
ในระหว่างพิธีเปิดงาน ได้มีการเปิดตัวพันธมิตรบริการทางกฎหมายในระเบียงเชื่อมทางบกและทางทะเลระหว่างประเทศสายใหม่ (New International Land-Sea Corridor Legal Service Alliance) ซึ่งรวมบริษัทและสถาบันทางกฎหมายราว 70 แห่งเข้าด้วยกัน โดยมีสมาชิกที่โดดเด่นคือ บริษัท คิง แอนด์ วู้ด มอลลีสันส์ (King & Wood Mallesons) คณะกรรมการอนุญาโตตุลาการนครฉงชิ่ง และคณะกรรมการอนุญาโตตุลาการเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศของจีนสาขาตะวันตกเฉียงใต้
พันธมิตรดังกล่าวยังได้รับการสนับสนุนจากสถาบันในอาเซียนเกือบ 30 แห่ง ซึ่งรวมถึงหอการค้าลาว-จีน และศูนย์อนุญาโตตุลาการการค้าระหว่างประเทศเวียดนาม-จีน โดยมีเป้าหมายร่วมกันในการสนับสนุนความก้าวหน้าด้านกฎหมายอย่างครอบคลุม ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมในระเบียงการค้าเชื่อมทางบกและทางทะเลระหว่างประเทศสายใหม่ (ILSTC)
นายลู่ เค่อหัว (Lu Kehua) สมาชิกคณะกรรมการถาวรของคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำเทศบาลนครฉงชิ่ง และเลขาธิการคณะกรรมการกิจการการเมืองและกฎหมายประจำเทศบาลนครฉงชิ่ง กล่าวว่า “พันธมิตรบริการทางกฎหมายมุ่งมั่นที่จะยกระดับการให้บริการทางกฎหมายระหว่างประเทศ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่โดดเด่นด้วยการยึดตลาดเป็นศูนย์กลาง ความชอบธรรมทางกฎหมาย และความเปิดกว้างในระดับสากล”
นายเกดสะหนา พมมะจัน (Ketsana Phommachan) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงยุติธรรม สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เน้นย้ำถึงความก้าวหน้าและชัยชนะด้านการพัฒนาภายใต้ข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง โดยเขายืนยันว่าความมุ่งมั่นอันแน่วแน่ต่อหลักนิติธรรมเป็นรากฐานสำคัญในการเสริมสร้างความร่วมมือและความไว้วางใจซึ่งกันและกันระหว่างประเทศต่าง ๆ
นอกจากนี้ เขายังยกย่องศูนย์วิจัยกฎหมายจีน-อาเซียน (China-ASEAN Legal Research Center) ที่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการเจรจาทางกฎหมายและการพัฒนาความเชี่ยวชาญทางกฎหมาย พร้อมกับตั้งตารอดูการมีส่วนร่วมสนับสนุนการวิจัยและแนวปฏิบัติในด้านนิติบัญญัติ ตุลาการ และการบังคับใช้กฎหมายต่อไป