“…คำแถลงการณ์ของ “แม็คโคร” ที่ระบุว่า ในปัจจุบันห้างได้ยกเลิกคำสั่งซื้อเนื้อหมู จากบริษัทดังกล่าวไปแล้ว รับตั้งแต่กลางปี 65 หลังจากตรวจสอบพบว่าเป็นเนื้อด้อยคุณภาพ รวมทั้งยกเลิกคำสั่งซื้อตับหมูในเวลาต่อมานั้น เป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่า ห้าง “แมคโคร” ได้มีการทำสัญญาสั่งซื้อเนื้อหมูและตับหมูจากกลุ่มขบวนการค้าหมูเถื่อนนี้มาก่อนหน้าอย่างชัดเจนในตัว ที่สำคัญห้างคงต้องตอบสังคมให้กระจ่างว่า คำสั่งซื้อเนื้อหมู และตับหมูจากบริษัทนำเข้าข้างต้นนั้น มีการดำเนินการไปมากน้อยเพียงใด และหากดำเนินการในช่วงปี 2564-2565 ดังที่ปรากฏในข่าว ก็ยิ่งต้องแจงสังคมให้กระจ่างว่า รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ได้อนุมัติให้บริษัทเอกชนนำเข้าสุกรชำแหละจากต่างประเทศเมื่อไหร่? มีมติคณะรัฐมนตรีรองรับหรือไม่อย่างไร และสัญญาสั่งซื้อก่อนหน้าที่แมคโครกระทำกับบริษัทดังกล่าว (หรือกับรายอื่น ๆ) นั้น มีมากน้อยเพียงใด…”
กรณีการปราบปรามการนำเข้า “หมูเถื่อน” จากต่างประเทศที่ทะลักเข้ามาถล่มตลาดหมูชำแหละในเมืองไทยจนย่อยยับ เกษตรกรกรู้เลี้ยงหมูต้องล้มหายตายจากกันเป็นเบือ ไม่สามารถต้านทานหมูเถื่อนจากต่างประเทศได้ ซ้ำเติมอุตสาหกรรมหมูในประเทศที่เพิ่งเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจ และวิกฤติไวรัสโรคระบาดในหมูครั้งใหญ่มาหมาดๆ
โดยนายกฯ ได้เรียกอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) อธิบดีกรมปศุสัตย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาประชุมเพื่อติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหานี้ หลังจากที่เคยเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปตั้งแต่ 2 เดือนก่อนมาแล้ว พร้อมแสดงความไม่พอใจต่อการแก้ปัญหาและปราบปรามหมูเถื่อนที่เป็นไปด้วยความล่าช้า
คล้อยหลังนายกฯฟิวส์ขาดไม่ทันข้ามวัน ก็มีการแฉโพยเบื้องหลังขบวนการนำเข้าหมูเถื่อนที่ว่านี้ ไปโผล่ที่ห้างค้าปลีก ค้าส่งยักษ์ ของ “เจ้าสัว” จนทำเอาฝ่ายสื่อสารองค์กรของ “แมคโคร” บริษัทซีพี แอ็กตร้า จำกัด(มหาชน) ได้ออกแถลงการณ์ ยืนยันว่าห้างฯไม่ได้ซื้อเนื้อหมูจากบริษัทนำเข้าอื้อฉาวที่กำลังเป็นข่าวมาตั้งแต่กลางปี 2565 แล้ว เนื่องจากตรวจพบสินค้าไม่ได้คุณภาพ เป็นเหตุให้บริษัทได้ยุติการสั่งซื้อสินค้าจากบริษัทดังกล่าว
เป็นถ้อยแถลงของบริษัทที่กำลังกลายเป็นประเด็นสุดฮอต เป็น “ทอล์ก ออฟเดอะทาวน์” อยู่เวลานี้ เพราะเท่ากับยอมรับว่า ที่ผ่านมาห้าง “แมคโคร” มีการทำสัญญาสั่งซื้อเนื้อหมู และตับหมูจากบริษัทนำเข้าอื้อฉาวที่ว่านี้มาก่อน ก่อนจะพบว่าเป็นผลิตภัณฑ์เนื้อด้อยคุณภาพ เสี่ยงเกิดโรคระบาดจนต้องยุติคำสั่งซื้อไป
*ย้อนรอยหมูแพง ก่อนหมูเถื่อนทะลัก
ในช่วงปี 2564-65 ที่ราคาหมูชำแหละในท้องตลาดถึงกิโลละ 200-250 บาท และมีแนวโน้มจะทะยานไปถึง กก.ละ 300 บาทด้วยซ้ำ ห้วงเวลานั้นเกษตรกรฟาร์มหมูรายย่อยทั่วประเทศได้รวมตัวกันเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งเข้ามาแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในเรื่องของต้นทุนการเลี้ยงที่สูงลิบลิ่ว พร้อมทั้งระบุเบื้องหลังการปั่นราคาหมูในท้องตลาด นอกจากเกิดการระบาดของโรคระบาดอหิวาต์สุกร ASF แล้ว ยังเกิดจากฟาร์มหมูรายใหญ่ของกลุ่มทุนธุรกิจ มีความพยายามจะ “กินรวบ” ตลาดนี้ครบวงจร
ในช่วงนั้น นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.ก้าวไกล ได้หยิบยกกรณีหมูแพงเป็นประวัติการณ์นี้ขึ้นอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ ตามมาตรา 152 เมื่อวันที่ 17 ก พ.65 ว่า รัฐบาลชุดนี้มีการทุจริตคอรัปชั่น ด้วยการปกปิดข้อมูลการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) จนทำให้เกิดสถานการณ์ “ของแพง ค่าแรงถูก”
โดยราคา เนื้อหมูแพงที่สุดในประวัติศาสตร์ เริ่มต้นจากเดือน ต.ค.2564 หมูเนื้อแดงจากกิโลกรัมละ 125 บาท ขยับทุกเดือน จนถึง ม.ค.2565 เพิ่มเป็นกิโลกรัมละ 190-220 บาท หมูสามชั้น 260-300 บาท สวนทางกับดัชนีราคาเนื้อหมูของโลก ราคาหมูเพิ่มขึ้นต่อเนื่องกระทั่งมาถึงวันที่ 11 ม.ค.65 ซึ่งเป็นวันที่ประเทศไทยยอมรับว่า มีโรคระบาด ASF ในไทยและมีการตรวจสอบเนื้อหมูในห้องเย็นต่าง ๆ ราคาจึงเริ่มปรับลดลงซึ่งหากไม่มีการตรวจสอบและเปิดเผยอาจทำให้ราคาเนื้อหมูทะลุกิโลกรัมละ 300 บาท
ที่สำคัญตั้งแต่กลางเดือน ม.ค.2565 ที่มีการตรวจพบหมูในห้องเย็นแล้ว 1,366 แห่ง มีหมูเก็บอยู่ 24.6 ล้านกิโลกรัม เป็นอย่างน้อย “ความเสียหายย่อยยับที่เกิดขึ้นในฟาร์มขนาดเล็ก ทุนใหญ่กลับไม่กระทบกระเทือนอะไร มีหมูขายไม่อั้น กำไรมหาศาล ส่งออกทะลุเป้า ตอนนี้ทุกคนต้องวิ่งหาหมูจากทุนใหญ่ เพราะไม่มีหมูรายย่อยขายแล้ว กินรวบกันเบ็ดเสร็จ”
ข้อมูลที่อดีต ส.ส.ก้าวไกลตีแผ่ออกมาในครั้งนั้น สะท้อนให้เห็นว่า ขณะที่สถานการณ์ราคาเนื้อหมูในท้องตลาดสูงลิ่วเป็นประวัติการณ์ กลุ่มพ่อค้าหัวใสได้มีการนำเข้าหมูชำแหละจากต่างประเทศเข้ามากักตุนห้องเย็น ฟันกำรี้กำไรกันอย่างเป็นล่ำเป็นสันแล้ว โดยมีกลุ่มทุนธุรกิจเจ้าของห้างค้าปลีก ค้าส่งยักษ์สั่งซื้อเนื้อหมูจากขบวนการนำเข้าหมูเถื่อนเหล่านี้ไปจำหน่ายยังห้างค้าปลีกค้าส่งของตนด้วย
แม้ “แมคโคร” จะอ้างว่าในช่วงที่ห้างสั่งซื้อเนื้อหมูและตับหมูจากบริษัทนำเข้าอื้อฉาวรายดังกล่าวมาจำหน่าย บริษัทผู้นำเข้าได้สำแดงเอกสารที่ยืนยันว่า ผู้ขายมีเอกสารประกอบการนำเข้าถูกต้องทั้งหมด เป็นเนื้อหมูที่ได้มาตรฐานต่างๆ ตามที่กำหนด
แต่ก็อดสงสัยไม่ได้ว่า ใบรับรองมาตรฐานที่ว่า เชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหน เป็นเอกสารใบรับรองที่ผู้นำเข้านำมาแสดงเอง หรือเป็นใบรับรองที่ออกโดยกรมปศุสัตว์หรือไม่? หาไม่แล้ว บริษัทจะยุติคำสั่งซื้อจากบริษัทดังกล่าวทั้งหมดในภายหลังทำไม?
ที่สำคัญแถลงการณ์ของ “แมคโคร” ดังกล่าว ยังก่อให้เกิดคำถามในวงกว้างตามมาทันทีว่า รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทรโอชา ได้เคย “ไฟเขียว” อนุมัติให้มีการนำเข้าสุกรชำแหละ หรือเนื้อหมูจากต่างประเทศเมื่อใดกันหรือ คณะรัฐมนตรี(ครม.) กระทรวงเกษตรและกระทรวงพาณิชย์ ได้นำเสนอมาตรการนำเข้าหมูเป็น หรือซากหมูชำแหล่ะจากต่างประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาหมูขาดแคลนและมีราคาแพงเมื่อใดกันหรือ?
เพราะในมาตรการแก้ไขปัญหาหมูราคาแพงของรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นั้น คณะรัฐมนตรี(ครม.) ไม่เคยไฟเขียวให้มีการนำเข้าหมูชำแหละ หรือซากหมูจากต่างประเทศเพื่อเข้ามาแก้ไขปัญหาราคาหมูแพงและขาดแคลนในประเทศแต่อย่างใด และหากมีการอนุมัตินำเข้ามาจริง กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) จะสั่งเช็คบิลและตามไปขุดคุ้ยข้อมูลการนำเข้าในอดีตของกลุ่มพ่อค้าหัวใสเหล่านี้หรือ?
*จากหมูเถื่อน…..สู่ห้างค้าส่งขนาดใหญ่?
หากทุกฝ่ายจะย้อนไปพิจารณามาตรการแก้ไขปัญหาหมูแพงของรัฐบาล “พลเอกประยุทธ์ จันทรโอชา” ตามมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 6 ม.ค.2565 ที่มีการพิจารณาในเรื่องดังกล่าว ดังที่ นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แถลงต่อสื่อมวลชนที่ทำเนียบรัฐบาลนั้น ระบุว่าที่ประชุม ครม.ได้เห็นชอบมาตรการแก้ไขปัญหาหมูแพง 3 ระยะ ประกอบด้วย
1.มาตรการเร่งด่วน ได้แก่ การห้ามส่งออกหมูมีชีวิตเป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 6 ม.ค. 65 ถึง วันที่ 5 เม.ย. 65 เพื่อเพิ่มปริมาณเนื้อหมูภายในประเทศ และกระทรวงพาณิชย์จะพิจารณาตามสถานการณ์ว่าควรให้มีการต่ออายุหรือไม่ โดยจะมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ตัวเลขเบื้องต้นในปี 2564 มีการเลี้ยงหมูป้อนเข้าสู่ตลาด ประมาณ 19 ล้านตัว บริโภคในประเทศ 18 ล้านตัว ส่งออกไปต่างประเทศประมาณ 1 ล้านตัว
การช่วยเหลือด้านราคาอาหารสัตว์ โดยเฉพาะส่วนที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ เช่น การงดเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมหรือภาษี การจัดสินเชื่อพิเศษของ ธ.ก.ส. เพื่อให้เกษตรกรที่สามารถปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขได้กลับมาเลี้ยงใหม่ในพื้นที่ความเสี่ยงต่อโรคระบาดต่ำ การตรึงราคาจำหน่ายที่เหมาะสมและสอดคล้องกับต้นทุนที่เกิดขึ้น
การเร่งสำรวจภาพรวมสถานการณ์การผลิตสุกร เพื่อกำหนดพื้นที่เป้าหมายและมาตรการที่เหมาะสม พร้อมเพิ่มกำลังการผลิตแม่สุกรทดแทน โดยให้เกษตรกรใช้สุกรขุนตัวเมียมาใช้ทำพันธุ์ชั่วคราว เร่งรัดเจรจาฟาร์มรายใหญ่ในการกระจายพันธุ์และลูกสุกรขุนให้กับรายย่อยและเล็กที่ต้องการกลับเข้ามาสู่ระบบใหม่ กำหนดโซนเลี้ยงและออกมาตรการบังคับใช้อย่างเหมาะสมเพื่อควบคุมโรค และเร่งรัดการวิจัยพัฒนาวัคซีนป้องกันโรค
2. มาตรการระยะสั้น ได้แก่ การส่งเสริมการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ การขยายกำลังผลิตแม่สุกร สนับสนุนศูนย์วิจัยและบำรุงสัตว์ ในสังกัดกรมปศุสัตว์และเครือข่ายคู่ขนานกับฟาร์มเกษตรกรและภาคเอกชน เร่งเดินหน้าการศึกษาวิจัยยาและสารกระตุ้นภูมิคุ้มกันเพื่อลดความสูญเสียจากโรคระบาด
3. มาตรการระยะยาว กระทรวงเกษตรฯ จะผลักดันการยกระดับมาตรฐานฟาร์มของเกษตรกรเพื่อป้องกันโรคระบาด ส่งเสริมให้ปรับปรุงเป็นฟาร์มที่มีระบบการป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม (GFM) มีค่าใช้จ่ายต่ำกว่ามาตรฐานฟาร์ม GAP ซึ่งจะเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรกลับมาเลี้ยงสุกรใหม่และเพิ่มปริมาณการผลิตหมูให้เพียงพอต่อความต้องการบริโภค ทั้งยังจะมีการสนับสนุนการเลี้ยงโดยจะมีสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กู้ยืมจาก ธ.ก.ส. ในโครงการสานฝันสร้างอาชีพ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กรมปศุสัตว์ เร่งขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยเพื่อช่วยเหลือให้เข้าถึงแหล่งสินเชื่อได้ง่ายและสะดวกรวดเร็ว รวมทั้งการรวมกลุ่ม สนับสนุน และหาตลาดในราคาที่เกษตรกรอยู่ได้อย่างดี
เพื่อพิจารณาถึงมาตรการแก้ไขปัญหาหมูแพงและขาดแคลนตามมติ ครม.ข้างต้น จึงก่อให้เกิดคำถามตามมาทันทีว่า การที่แมคโครอ้างว่า ทำสัญญาสั่งซื้อเนื้อหมูและผลิตภัณฑ์ตับหมูจากบริษัทเอกชนผู้นำเข้า โดยมีเอกสารการนำเข้ามายืนยันถูกต้องครบถ้วนสมบูรณ์ตรวจสอบได้นั้น
เอกสารเหล่ายนี้ถูกต้องถามกฎหมายได้อย่างไร ใครเป็นผู้อนุมัติอย่างนั้นหรือ?
ในเมื่อกระทรวงเกษตรและคณะรัฐมนตรียังไม่เคยอนุมัติให้มีการนำเข้าหมูชำแหละหรือซากหมูจากต่างประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาหมูราคาแพง แล้วห้างแมคโครดอดไปทำสัญญาจัดซื้อจากบริษัทผู้นำเข้าเหล่านี้ได้อย่างไร แถมยังอ้างด้วยว่า บริษัทมีการกำหนดนโยบายการจัดซื้อสินค้าที่ได้คุณภาพมาตรฐาน “ถูกต้องตามกฎหมาย” และตรวจสอบย้อนกลับได้ ให้กับผู้ผลิตและคู่ค้าทุกรายยึดถือปฏิบัติ
“ใบสั่งซื้อที่ปรากฏตามข่าวนั้น เป็นการ สั่งซื้อในอดีต และผู้ขายมีเอกสารประกอบการนำเข้าที่ถูกต้องทั้งหมด ณ ขณะที่บริษัทฯ ทำการสั่งซื้อสินค้าดังกล่าว ซึ่งแม็คโครได้ตอกย้ำและตรวจสอบกับคู่ค้าทุกราย เพื่อรักษาไว้ซึ่งความอยู่รอดของเกษตรกรไทยจาก ปัญหาหมูเถื่อนที่ทำลายเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก”
ที่สำคัญห้างคงต้องตอบสังคมให้กระจ่างว่า คำสั่งซื้อเนื้อหมู และตับหมูจากบริษัทนำเข้าข้างต้นนั้น มีการดำเนินการไปมากน้อยเพียงใด และหากดำเนินการในช่วงปี 2564-2565 ดังที่ปรากฏในข่าว ก็ยิ่งต้องแจงสังคมให้กระจ่างว่า รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ได้อนุมัติให้บริษัทเอกชนนำเข้าสุกรชำแหละจากต่างประเทศเมื่อไหร่? มีมติคณะรัฐมนตรีรองรับหรือไม่อย่างไร และสัญญาสั่งซื้อก่อนหน้าที่แมคโครกระทำกับบริษัทดังกล่าว (หรือกับรายอื่น ๆ )นั้น มีมากน้อยเพียงใด
*ใบเสร็จมัดคอตนเอง?
คำแถลงการณ์ของ “แม็คโคร” ที่ระบุว่า ในปัจจุบันห้างได้ยกเลิกคำสั่งซื้อเนื้อหมู จากบริษัทดังกล่าวไปแล้วรับตั้งแต่กลางปี 65 หลังจากตรวจสอบพบว่าเป็นเนื้อด้อยคุณภาพ รวมทั้งยกเลิกคำสั่งซื้อตับหมูในเวลาต่อมานั้น
เป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่า ห้าง “แมคโคร” ได้มีการทำสัญญาสั่งซื้อเนื้อหมูและตับหมูจากกลุ่มขบวนการค้าหมูเถื่อนนี้มาก่อนหน้าอย่างชัดเจนในตัว
และบริษัทจะชี้แจงต่อสังคมอย่างไรในเมื่อมีหลักฐานที่ชี้ชัดว่า หมูเถื่อนที่ทะลักเข้ามาถล่มตลาดหมูในประเทศห้วงเวลาที่ผ่านมานั้นคือ เนื้อหมู-ซากหมูที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคระบาดที่ต่างประเทศสั่ง “ทำลาย” ทิ้ง แต่กลับมีการลักลอบนำเข้ามาขายถล่มราคาในประเทศไทย !
เอกสารใบรับรองคุณภาพที่บริษัทนำมาสำแดงต่อทางห้างในการทำสัญญาส่งเนื้อหมูและตับหมูเข้าห้างที่อ้างว่าเป็นหมูคุณภาพเพียงแค่นี้จะ”การันตี”ความปลอดภัยต่อผู้บริโภคได้หรือ ?
เป็นเอกสารที่เชื่อถือได้แน่หรือ หาไม่เช่นนั้นแล้ว ห้างจะยุติคำสั่งซื้อเนื้อหมู และตับหมูทั้งหมดในภายหลังตามมาหรือ?
ทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดขึ้นเหล่านี้ จนนำมาสู่การ “ล่มสลาย” ของอุตสาหกรรมหมูในประเทศปัจจุบันนั้น คณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ Pig Board ว่าอย่างไร กรมปศุสัตว์ จะว่าอย่างไร เมื่อบริษัทออกแถลงการณ์สารภาพมาถึงขนาดนี้
จะปล่อยเลยตามเลย เพียงเพราะแถลงการณ์ “กระดาษแผ่นเดียว” ของบริษัทหรือไม่ สังคมคงต้องการคำตอบ???