วันพุธ, พฤศจิกายน 27, 2024
หน้าแรกอาชญากรรมตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) ทลายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ปลอมสารพัดเว็บตุ๋นเหยื่อโอนเงิน พบเงินหมุนเวียนกว่า 7,000 ล้านบาท

Related Posts

ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) ทลายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ปลอมสารพัดเว็บตุ๋นเหยื่อโอนเงิน พบเงินหมุนเวียนกว่า 7,000 ล้านบาท

กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดย กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก., พล.ต.ต.วิวัฒน์ ชัยสังฆะ, พล.ต.ต.ไพบูลย์ น้อยหุ่น รอง ผบช.ก., พล.ต.ต.อธิป พงษ์ศิวาภัย ผบก.ปอท.,
พ.ต.อ.พรศักดิ์ เลารุจิราลัย รอง ผบก.ปอท., พ.ต.อ.เนติ วงษ์กุหลาบ ผกก.2 บก.ปอท., พ.ต.ท.นิธิ ตรีสุวรรณ และ พ.ต.ท.ธนะ ว่องทรง รอง ผกก.2 บก.ปอท.

เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุม นำโดย พ.ต.ต.ชัยเวง พาด้วง, พ.ต.ต.จักรพงษ์ รุ่งจำกัด,
ว่าที่ พ.ต.ต. วชิรเชษฐ์ อัครธีระพงศ์, ว่าที่ พ.ต.ต.กมลภพ หาญเวช สว.กก.2 บก.ปอท., ว่าที่ พ.ต.ต.ศุภเดช
ธนชัยศิริ สว.(สอบสวน) กก.2 บก.ปอท. พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.2 บก.ปอท.

ได้ร่วมกันจับกุมตัวผู้ต้องหา 5 ราย ดังนี้

  1. นายฉาง อายุ 35 ปี (สัญชาติจีน) บุคคลตามหมายจับ ศาลอาญาที่ 4061/2566 ลงวันที่ 13 พ.ย.66
  2. น.ส.ฤดีฯ อายุ29 ปี บุคคลตามหมายจับ ศาลอาญาที่ 4058/2566 ลงวันที่ 13 พ.ย.66
  3. นายเอกณัฏฐ์ฯ อายุ 43 ปี บุคคลตามหมายจับ ศาลอาญาที่ 4063/2566 ลงวันที่ 13 พ.ย.66
    4.นายเอกชัยฯ อายุ 40 ปี บุคคลตามหมายจับ ศาลอาญาที่ 4062/2566 ลงวันที่ 13 พ.ย.66
    5. นายวันดีฯ อายุ 26 ปี (สัญชาติกัมพูชา) บุคคลตามหมายจับ ศาลอาญาที่ 4064/2566 ลงวันที่
    13 พ.ย. 66

ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน “ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน, ร่วมกันโดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน, มีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ, สมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำผิดฐานฟอกเงินและได้มีการกระทำความผิดฐานฟอกเงินเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน และร่วมกันฟอกเงิน”

พร้อมทั้งตรวจยึดของกลางและทรัพย์สิน
1.คอมพิวเตอร์ 7 เครื่อง
2.โทรศัพท์ 10 เครื่อง

  1. บัญชีธนาคาร 46 เล่ม
  2. รถยนต์หรู 7 คัน
  3. รถจักรยานยนต์ 2 คัน
  4. โฉนดที่ดิน 2 ฉบับ
  5. บัตร ATM 17 ใบ
  6. เงินสด 8,688,590 บาท
  7. ของมีค่าอื่นๆ อีก 79 รายการ
    รวมมูลค่าของกลางและทรัพย์สินที่ตรวจยึดได้ กว่า 83 ล้านบาท

พฤติการณ์ สืบเนื่องจาก เมื่อประมาณเดือน มิ.ย.66 กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ได้ตรวจสอบพบเว็บไซต์แจ้งความออนไลน์ปลอม โดยมีการเลียนแบบเว็บไซต์ แอบอ้างชื่อและใช้ตราสัญญาลักษณ์ของกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง รวมทั้งหน่วยงานภายใต้สังกัดกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง อีกทั้งยังพบว่า กลุ่มมิจฉาชีพได้ใช้วิธียิงแอดโฆษณาผ่านเว็บไซต์สืบค้นข้อมูล (Google Ads) ซึ่งเมื่อมีประชาชนค้นหาคำว่า “แจ้งความออนไลน์” เว็บไซต์ปลอมที่คนร้ายสร้างขึ้นจะแสดงขึ้นมาเป็นลำดับแรกๆ
เมื่อผู้เสียหายหลงเชื่อ ทำการเพิ่มเพื่อนผ่านแอปพลิเคชันไลน์ที่มีการระบุไว้ในภายเว็บไซต์ เพื่อให้ปรึกษาเกี่ยวกับเรื่องที่จะแจ้งความ กลุ่มคนร้ายจะสวมรอยเป็นแอดมิน พูดคุยสอบถามข้อมูลเบื้องต้น ก่อนจะทำทีให้ผู้เสียหายติดต่อพูดคุยกับบุคคลซึ่งอ้างว่าเป็นทนายความผ่านแอปพลิเคชันไลน์ โดยจะให้คำปรึกษา ชี้แนะ พร้อมทั้งให้ผู้เสียหายส่งหลักฐานเรื่องที่ต้องการแจ้งความไปให้
จากนั้นคนร้ายที่อ้างเป็นทนายความจะส่งเรื่องต่อไปยังฝ่าย IT (information technology) โดยฝ่าย IT จะอ้างตนต่อว่าเป็นเจ้าหน้าที่ และแจ้งกับผู้เสียหายว่าเงินที่ผู้เสียหายถูกโกงหรือถูกหลอกไป ได้ถูกนำไปฟอกในเว็บการพนันนออนไลน์ต่างประเทศ มิหนำซ้ำยังมีการทำแผนผังเส้นทางการเงินส่งให้ผู้เสียหาย พร้อมแจ้งว่า สามารถนำเงินดังกล่าวมาคืนกับผู้เสียหายได้ โดยใช้วิธีการแฮก (Hack) เว็บการพนันดังกล่าว เมื่อผู้เสียหายหลงเชื่อ คนร้ายจะให้ผู้เสียหายทำการสมัครสมาชิกและโอนเงินไปที่เว็บพนันดังกล่าว จากนั้นคนร้ายจะให้ผู้เสียหายเล่นการพนันตามที่คนร้ายบอก อ้างว่าเพื่อจะได้ทำการแฮกระบบ เอาเงินคืนให้แก่ผู้เสียหาย
หลังจากคนร้ายอ้างว่าได้ทำการแฮกระบบเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะปรากฎยอดเงินในบัญชีเว็บไซต์การพนันของผู้เสียหายเพิ่มขึ้น โดยคนร้ายจะแจ้งให้ผู้เสียหายโอนเงินเข้าไปเพิ่ม เพื่อที่จะได้แฮกเงินคืนให้ได้มากกว่าเดิม แต่ท้ายที่สุดเมื่อผู้เสียหายจะถอนเงินออกมา ก็ไม่สามารถถอนได้ จากนั้นคนร้ายจะบล็อกช่องทางการติดต่อของผู้เสียหายทันที ทั้งนี้พบว่าภายในระยะเวลา 15 วัน มีผู้เสียหายหลงเชื่อโอนเงินให้กลุ่มคนร้ายมากกว่า 1,000 ราย มูลค่าความเสียหายกว่า 8 ล้านบาท
จากการสืบสวนพบว่า เว็บไซต์ปลอมดังกล่าวมีการใช้ IP-Address ที่เป็นของผู้ให้บริการของประเทศกัมพูชา และมีการเช่าบริการเซิร์ฟเวอร์ (Server) ภายในประเทศไทย เจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนกลาง โดย บก.ปอท. จึงได้ทำการตรวจค้นบริษัทที่ให้บริการเช่า เซิร์ฟเวอร์ (Server) ดังกล่าว
ผลการตรวจค้นพบฐานข้อมูลเว็บไซต์ที่ใช้และเคยใช้ในการฉ้อโกงออนไลน์ ในลักษณะชักชวนให้ลงทุนและซื้อสินค้าจำนวนมาก รวมทั้งเว็บไซต์ที่ทำปลอมกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง อีก 3 เว็บไซต์ โดยผู้ดูแลระบบใช้ IP-Address ที่เป็นของผู้ให้บริการของประเทศกัมพูชา เข้ามาแก้ไขข้อมูลต่างๆ ซึ่งจากการตรวจสอบเบื้องต้นพบมีการปลอมเว็บไซต์ทั้งหน่วยงานรัฐ, หน่วยงานเอกชน, องค์กรต่างๆที่ไม่มีอยู่จริง รวมถึงเว็บไซต์หลอกลงทุนต่างๆ รวมกว่า 133 เว็บไซต์ เช่น ตำรวจสอบสวนสวนกลาง, DSI, ตำรวจไซเบอร์
(บช.สอท.) จากการตรวจสอบปัจจุบันพบเปิดใช้งานอยู่จำนวน 98 เว็บไซต์ (แบ่งเป็นเว็บพนันออนไลน์ 16 เว็บไซต์, หลอกสั่งซื้อสินค้า 9 เว็บไซต์, เว็บเงินกู้ 6 เว็บไซต์, เว็บลงทุนคริปโต 6 เว็บไซต์, เว็บสายการบินปลอม 3 เว็บไซต์, ติดตั้งแอปหลอกลวง 3 เว็บไซต์, เว็บหลอกสมัครงาน 1 เว็บไซต์) ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ดำเนินการปิดไปแล้วจำนวน 10 เว็บไซต์
จากการสืบสวนเส้นทางการเงินยังพบว่า กลุ่มคนร้ายจะใช้บัญชีม้าในการรับโอนเงินจากผู้เสียหาย แล้วถ่ายเทเงินไปยังบัญชีม้าแถวต่างๆ จากนั้นจะนำเงินที่ได้ไปซื้อเหรียญสกุลเงินดิจิทัล (คริปโตเคอร์เรนซี) ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ แล้วถ่ายเทไปยังกระเป๋าเงินดิจิทัลต่างๆ เพื่อเลี่ยงการถูกจับกุม ก่อนจะทำการส่งต่อไปยังกระเป๋าที่เป็นของกลุ่มคนร้ายที่เป็นระดับสั่งการหรือนายทุนต่อไป
โดยตั้งแต่เดือน มิ.ย.66 จนถึงปัจจุบัน บัญชีม้าและกระเป๋าเงินดิจิทัลต่างๆ ในกลุ่มของคนร้ายมียอดเงินหมุนเวียนมากกว่า 7,000 ล้านบาท เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้รวบรวมพยานหลักฐานเพื่อขอศาลออกหมายจับคนร้ายในขบวนการ แบ่งเป็น กลุ่มพนักงาน, กลุ่มโปรแกรมเมอร์, กลุ่มฟอกเงิน และกลุ่มระดับสั่งการหรือนายทุน จำนวน 12 ราย ประกอบด้วยคนไทย 8 ราย, คนกัมพูชา 1 ราย และคนจีน 3 ราย หนึ่งในนั้นคือ นาย หง เว่ย เหลียง (สัญชาติจีน) ผู้ต้องหารายสำคัญ ที่เชื่อได้ว่าอยู่ในระดับนายทุนและเป็นเจ้าของเว็บไซต์ปลอมดังกล่าว หลังเจ้าหน้าที่ตำรวจสืบทราบว่าในช่วงระยะเวลา 4 เดือน ที่ผ่านมา นายหง เว่ย เหลียง รับโอนเงินเข้ามายังบัญชีตัวเอง คิดเป็นเงินไทยประมาณ 175 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีการออกหมายเรียกผู้ต้องหากลุ่มบัญชีม้าอีก 5 รายมารับทราบข้อกล่าวหา
กระทั่งวันที่ 14-15 พ.ย.66 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.2 บก.ปอท. พร้อมด้วย กก.สสน.บก.ปอท., บก.ป., บก.ปอศ., บก.ปคบ. จึงเปิดปฏิบัติการทลายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ปลอมเว็บตำรวจสอบสวนกลาง(CIB) ร่วมกันตรวจค้น 9 เป้าหมาย ในพื้นที่ กรุงเทพมหานคร, นนทบรี, สมุทรสาคร, เชียงราย, สุราษฎร์ธานี และสระแก้ว สามารถจับกุมผู้ต้องหาได้จำนวน 5 ราย ในจำนวนนี้ มี 4 รายที่ทำหน้าที่ในการฟอกเงิน ได้แก่ นายฉาง (สัญชาติจีน) และน.ส.ฤดีฯ ซึ่งเป็นคู่รักกัน, นายเอกณัฏฐ์ฯ ที่ทำการฟอกเงินผ่านบัญชีคริปโตฯ ของนายเอกชัยฯ และอีก 1 ราย คือ นายวันดีฯ (สัญชาติกัมพูชา) ทำหน้าที่เป็น ผู้ทำปลอม เลียนแบบ เว็บไซต์ของกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) พร้อมทั้งดูแลระบบ และยิงแอดโฆษณา ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่ามีการทำปลอมและเลียนแบบเว็บไซต์หน่วยงานราชการอีกกว่า 10 แห่ง ซึ่งในการเข้าตรวจค้นจับกุมครั้งนี้ ได้ตรวจยึดของกลางและทรัพย์สิน อาทิเช่น คอมพิวเตอร์, โทรศัพท์มือถือ, เงินสด, รถยนต์หรู, กระเป๋าแบรนด์เนม, และเครื่องประดับต่างๆ รวมมูลค่าประมาณ 50 ล้านบาท
นอกจากนี้ การจับกุมดังกล่าว เจ้าหน้าที่ตำรวจยังพบว่า นายเอกณัฏฐ์ฯ หนึ่งในผู้ต้องหา อยู่ในขบวนการฟอกเงินอีกด้วย จึงได้รวบรวมพยานหลักฐานไว้เพื่อดำเนินคดีกับ นายเอกณัฏฐ์ฯ เพิ่มเติม พร้อมทั้งขยายผลตรวจยึดทรัพย์สินของนายเอกณัฏฐ์ฯ อาทิเช่น คอมพิวเตอร์, เงินสด, โฉนดที่ดิน, Hardware Wallet, รถยนต์และรถจักรยานยนต์หรู และกระเป๋าแบรนด์เนม มูลค่ามากกว่า 30 ล้านบาทเพิ่มเติมอีกด้วย
เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงควบคุมตัวผู้ต้องหาทั้ง 5 ราย พร้อมของกลางทั้งหมด นำส่งพนักงานสอบสวน กก.2 บก.ปอท. ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป ขณะที่ผู้ต้องหารายอื่นๆ รวมถึง นายหง เว่ย เหลียง นายทุนและเจ้าของเว็บไซต์ปลอม (ซึ่งอยู่ระหว่างหลบหนีอยู่ต่างประเทศ) เจ้าหน้าที่ตำรวจจะเร่งติดตามตัวมาดำเนินคดีโดยเร็วที่สุด

สอบถามคำให้การผู้ต้องหาเบื้องต้น ให้การรับสารภาพ ขณะที่บางรายให้การภาคเสธ โดยนายเอกณัฏฐ์ฯ ให้การยอมรับว่า ตนได้ใช้กระเป๋าเงินดิจิทัลของนายเอกชัยฯ ในการรับโอนเหรียญคริปโตจริง แต่อ้างว่าเป็นเหรียญที่ลูกค้าโอนมาจ่ายในการเล่นพนันออนไลน์ ส่วน นายฉาง (สัญชาติจีน) ยอมรับว่า ตนได้ใช้กระเป๋าเงินดิจิทัลของ น.ส.ฤดีฯ แฟนสาว ในการรับเหรียญคริปโตฯจริง แต่เป็นการซื้อเหรียญจากคนจีนที่อยู่ในประเทศกัมพูชา เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ตำรวจยังไม่ปักใจเชื่อคำให้การของผู้ต้องหาแต่อย่างใด

ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) แจ้งเตือนประชาสัมพันธ์ไปยังพี่น้องประชาชน โปรดใช้ความระมัดระวังในการใช้บริการต่างๆ ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ หากต้องการแจ้งความออนไลน์ สามารถแจ้งความร้องทุกข์ได้ที่ https://thaipoliceonline.com และจะต้องมีการลงทะเบียน ยืนยันตัวตนผ่านหมายเลขโทรศัพท์ หรืออีเมลก่อนกรอกรายละเอียด และจะได้รับเลขรับแจ้งความออนไลน์ หรือ Case ID สำหรับใช้ติดตามความคืบหน้าทางคดี และไม่มีการให้เพิ่มเพื่อน หรือแอดไลน์ติดต่อกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ แต่อย่างใด

ทั้งนี้หากประชาชนถูกมิจฉาชีพหลอกลวงให้โอนเงิน หรือได้รับความเสียหาย สามารถติดต่อได้ที่ศูนย์ AOC สายด่วน 1441 ที่มีกว่า 100 คู่สาย คอยให้คำปรึกษาและแก้ปัญหาภัยออนไลน์แบบ One Stop Service และสามารถอายัดบัญชีได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ช่องทางการติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ว่าที่ พ.ต.ต.วชิรเชษฐ์ อัครธีระพงศ์ สว.กก.2 บก.ปอท. โทรศัพท์ 085-440-8455

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts