“….ลูกบ้าน “แอชตันอโศก” สุดมึน! “บิ๊ก รฟม.” หักดิบนโยบายคมนาคมสั่งเพิกถอนใบอนุญาตผ่านทางเข้า-ออกโครงการ อ้างทำตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ทั้งที่ศาลไม่ได้สั่งเพิกถอน และ รฟม.ไม่ใช่คู่กรณี แถมคมนาคมเพิ่งตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหา เดินหน้าร้องศาลคุ้มครอง พร้อมร้องขอให้ศาลพิจารณาคดีใหม่ หลังพบพิรุธ รฟม.ปกปิดข้อมูลอื้อ ไม่เข้าใจว่าเหตุใด รฟม.ถึงลุกขึ้นมาสั่งเพิกถอนใบอนุญาตผ่านทางดังกล่าว แต่ก็สะท้อนให้เห็นว่า รฟม.ไม่มีความจริงใจในการแก้ไขปัญหา ล่าสุดลูกบ้านโครงการแอชตันจึงได้รวมตัวกันร้องไปยังศาลปกครองเพื่อขอคุ้มครองผ่านทางชั่วคราว…”
*สุดมึน! บิ๊ก รฟม.”หักดิบ”นโยบายคมนาคม*
*ร่อนหนังสือเพิกถอนทางเข้า-ออก “แอชตันอโศก” ทั้งที่คมนาคมสั่งให้แก้ปัญหา*
จากกรณีที่ลูกบ้านในโครงการคอนโดหหรู “แอชตัน อโศก” เข้าร้องเรียนต่อกระทรวงคมนาคมเพื่อขอให้แก้ไขปัญหาที่ดินผ่านทางเข้า-ออกโครงการ หลังจากศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้ กทม.เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างโครงการ ด้วยศาลเห็นว่าที่ดินที่ รฟม.อนุญาตให้เป็นทางผ่านเข้า-ออกถูกนำไปยื่นขอใบอนุญาตก่อสร้างอันเป็นการนำเอาที่ดินไปใช้ผิดวัตถุประสงค์เวนคืน โดยกระทรวงคมนาคมได้ตั้งคณะทำงานที่มี นายสรพงศ์ ไพทูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน และมีผู้ว่าการ รฟม.ร่วมเป็นกรรมการเพื่อเร่งแก้ไขปัญหาทางผ่านเข้าออกโครงการดังกล่าว
*รฟม.มุบมิบสั่งเพิกถอนทางเข้า-ออก
ล่าสุดมีรายงานว่า นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม.ได้มีหนังสือลงวันที่ 22 ต.ค.66 ไปยังบริษัท อนันดาดีเวลวอปเมนท์ ทู จำกัด เจ้าของโครงการเพื่อแจ้งว่า รฟม.ได้เพิกถอนใบอนุญาตใช้ประโยชน์ในที่ดิน รฟม.เพื่อเป็นทางผ่านเข้า-ออกโครงการแล้ว โดยอ้างว่า เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดที่พิพากษาว่า การนำที่ดินที่ได้จากการเวนคืนไปให้บริษัทอนันดาฯ ใช้เป็นทางเข้า-ออก เพื่อก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่พิเศษผิดวัตถุประสงค์การเวนคืน และไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของ รฟม.จึงมีความจำเป็นต้องเพิกถอนใบอนุญาตผ่านทางดังกล่าว
การสั่งเพิกถอนใบอนุญาตผ่านทางของ รฟม.ข้างต้น สร้างความประหลาดใจให้แก่ลูกบ้านโครงการแอชตันฯไปตามๆ กัน เพราะในคำพิพากษาของศาลไม่มีคำสั่งให้ รฟม.เพิกถอนทางผ่านเข้าออกโครงการแต่อย่างใด อีกทั้งก่อนหน้านี้ กระทรวงคมนาคมเพิ่งแต่งตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาทางผ่านเข้า-ออกโครงการนี้ โดยมีผู้ว่า รฟม.ร่วมเป็นคณะทำงานอยู่ด้วย แต่ยังไม่ทันที่คณะทำงานจะจัดประชุมร่วมเพื่อหาทางออก ฝ่ายบริหารรฟม.กลับมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตผ่านทางดังกล่าวอันเป็นการสร้างปัญหาใหม่ขึ้นมาอีก
“ไม่เข้าใจว่าเหตุใด รฟม.ถึงลุกขึ้นมาสั่งเพิกถอนใบอนุญาตผ่านทางดังกล่าว แต่ก็สะท้อนให้เห็นว่า รฟม.ไม่มีความจริงใจในการแก้ไขปัญหา ล่าสุดลูกบ้านโครงการแอชตันจึงได้รวมตัวกันร้องไปยังศาลปกครองเพื่อขอคุ้มครองผ่านทางชั่วคราว พร้อมเตรียมยื่นเรื่องให้กระทรวงคมนาคมลงมาแก้ไขปัญหานี้โดยเร็ว รวมทั้งให้พิจารณาพฤติกรรมของฝ่ายบริหาร รฟม.ที่หักดิบดำเนินการขัดแย้งนโยบาย รมช.คมนาคมชัดเจน”
*ปาดหน้า กทม.ทั้งที่ศาลยกคำร้อง
แหล่งข่าวในกระทรวงคมนาคม ที่รับทราบกรณีดังกล่าว เปิดเผยว่า แม้ศาลปกครองสูงสุดจะมีคำสั่งให้ กทม.เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างที่ออกให้แก่โครงการแอชตันอโศก ตามคำร้องของสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน แต่ก็เป็นเรื่องของ กทม.กับบริษัทที่ต้องไปดำเนินการแก้ไข แต่ในส่วนของใบอนุญาตผ่านทางเข้า-ออกโครงการที่ รฟม.ออกให้แก่บริษัทนั้น ศาลไม่ได้มีคำสั่งใดๆ ต่อกรณีนี้
ตรงกันข้ามในคำพิพากษาชองศาลปกครองยังระบุชัดเจนว่า การอนุญาตให้ใช้ที่ดินของ รฟม.เป็นทางผ่านโครงการ มีลักษณะเป็น “สัญญาต่างตอบแทน” ศาลจึงให้ยกคำร้องในส่วนนี้ เพราะผู้ฟ้องคดีไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียหรือเป็นผู้สียหาย จึงหาใช่เป็นคำสั่งทางปกครองที่ผู้ว่าการ รฟม.จะมีอำนาจหรือมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตโดยพละการได้
ขนาด กทม.ที่เป็นคู่ความโดยตรง ยังต้องพิจารณาดำเนินการออกคำสั่งเพิกถอนใบนุญาตอย่างรอบคอบและเปิดโอกาสให้โครงการยื่นขอใบอนุญาตใหม่ให้ถูกต้อง โดยยืนยันว่า คำสั่งของศาลนั้นไม่ได้ผูกพันให้ กทม. หรือบริษัทรื้อถอนหรือทุบทิ้งโครงการแต่อย่างใด แค่ต้องไปดำเนินการเรื่องของที่ดินที่เป็นทางผ่านเข้าออกให้ถูกต้องเท่านั้น
แต่ในส่วนของ รฟม.ที่ไม่ได้เป็นคู่ความโดยตรง กลับลุกขึ้นมาเพิกถอนใบอนุญาตที่ว่านี้ ทั้ง ๆ ที่ศาลไม่ได้มีคำสั่งใด ๆ ต่อเรื่องนี้ อีกทั้งกรณีปัญหาเรื่องที่ดินผ่านทางเข้า-ออกนั้น ยังคงมีคดีความที่เกี่ยวเนื่องคาราคาซังอยู่ในชั้นพิจารณาของศาลอีกหลายคดี การที่ผู้ว่ารฟม.มีหนังสือเพิกถอนใบอนุญาตผ่านทางจึงสุ่มเสี่ยงเป็นการดำเนินการที่ก่อนให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงต่อทุกฝ่าย
*ส่อใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ
“การที่ผู้ว่าการ รฟม.(นายภคพงศ์) มีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตทางผ่านเข้า-ออกโครงการดังกล่าว จึงสุ่มเสี่ยงเป็นการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบที่ก่อให้เกิดความเสียหายทั้งต่อบริษัทอนันดา และลูกบ้านในโครงการ รวมทั้งต่อ รฟม.เอง เป็นการกระทำที่เข้าข่ายตาม ม.11 พ.ร.บ.ความผิดของพนักงานภายในองค์การ หรือหน่วยงานรัฐ พ.ศ.2502 ซึ่งทั้งบริษัทเอกชน รวมทั้งลูกบ้านสามารถที่จะฟ้องร้องเอาผิดทางอาญาต่อผู้ออกคำสั่งที่มิชอบในครั้งนี้ได้
ล่าสุดลูกบ้านโครงการแอชตันฯ ได้รวมตัวกันส่งทนายความเข้ายื่นคำร้องต่อศาลปกครองเพื่อขอคุ้มครองชั่วคราวการปิดตายทางเข้า-ออกดังกล่าวแล้ว พร้อมเตรียมยื่นเรื่องให้กระทรวงคมนาคมหน่วยงานต้นสังกัดพิจารณาพฤติการณ์ของฝ่ายบริหาร รฟม.ข้างต้น เพราะเป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นว่า รฟม.ไม่มีความจริงใจในการแก้ไขปัญหานี้ตั้งแต่ต้น และแทนที่จะร่วมแสวงหาทางออก ทางแก้ไขปัญหาตามนโยบายกระทรวง กลับสร้างปัญหาใหม่ขึ้นมาอีก
*ร้องศาลพิจารณาคดีใหม่
ในส่วนของความคืบหน้าคดี “แอชตันอโศก” นั้น แหล่งข่าวกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ ลูกบ้านโครงการและกรรมการนิติบุคคลโครงการ ได้มอบหมายให้สำนักงานทนายความยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลางเพื่อขอให้พิจารณาคดีใหม่ โดยลูกบ้านจะขอเข้าเป็นผู้ร้องสอดในคดีนี้ด้วย เพราะเป็นผู้ได้รับความเสียหายจากคำพิพากษาโดยตรง แต่ที่ผ่านมากลับไม่เคยได้รับรู้ว่า มีปัญหาในเรื่องที่ดินผ่านทางผ่านเข้า-ออก ทั้งยังไม่สามารถร้องขอเข้าเป็นผู้ร้องสอดในคดีได้ เพราะกฎหมายไม่เปิดช่องให้ทำได้ในชั้นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด แม้จะมีข้อเท็จจริงใหม่ที่จะแสดงต่อศาลก็ตาม ลูกบ้านจึงต้องรอให้ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาแล้ว จึงร้องขอให้ศาลพิจารณาคดีใหม่
นอกจากนี้ จากการพิจารณาคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดยังพบว่า คำให้การของฝ่ายบริหารของ รฟม. ชุดปัจจุบันว่า รฟม. ได้ให้การในลักษณะที่ไม่ปกป้ององค์กร มีการปกปิดข้อมูลบางประการไม่ได้นำเสนอต่อศาลโดยไม่ทราบเจตนา จนทำให้คำให้การขาดความสมบูรณ์ จนสร้างความเสียหายต่อองค์กร และต่อรูปคดี เช่น ไม่นำเสนอการใช้ประโยชน์ในที่ดินว่าเป็นไปตามกฎหมายของ รฟม. ในการอนุมัติผ่านทางเข้าออก ซึ่งเป็นการดำเนินการปกติของ รฟม.อยู่แล้วเพื่อชี้แจงต่อศาลชั้นต้น จนทำให้ศาลมีคำพากษา”ผิดหลง”
*ลากระดับบิ๊กองค์กรต่างๆ ติดร่างแหอื้อ
ทั้งนี้ แหล่งข่าวเปิดเผยว่า ประเด็นการออกใบอนุญาตใช้ที่ดินรฟม.ผ่านทางเข้า-ออกที่เป็นปัญหานี้ รฟม.ได้ดำเนินไปตามกฎหมายจัดตั้งองค์การ รฟม.แล้ว และเป็นการดำเนินการตามแนวทางปฏิบัติ และระเบียบที่รฟม.ดำเนินการมาโดยตลอด ทั้งยังมีแนวทางที่คณะกรรมการกฤษฎีกาวางไลน์เอาไว้ด้วยอีก ซึ่งข้อเท็จจริงข้างต้นเหล่านี้ลูกบ้านโครงการแอชตันฯ จะขอให้ศาลได้เปิดโอกาสให้ฝ่ายบริหารรฟม.ที่รู้เรื่องนี้ได้เข้าให้การโดยตรงอีกด้วย
โดยหากพิจารณารายชื่อบอร์ด รฟม.ชุดที่ถูกกล่าวหาล้วนแล้วแต่เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในแต่ละด้าน อาทิ นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และอดีตผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร , นายปรเมธี วิมลศิริ ประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย และอดีตเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) , นายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ซึ่งเป็นหน่วยงานเจ้าของกฎหมายโดยตรง , นายพงศ์ภาณุ เศวตรุณ อดีตปลัดกระทรวงการท่องเที่ยว และ นายวินัย ดำรงค์มงคลกุล รองอัยการสูงสุดในเวลานั้น “กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเหล่านี้ล้วนเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย และผังเมืองที่คงไม่พลาดกับเรื่องอนุมัติผ่านทางเข้า-ออกแค่นี้แน่ เพราะก่อนดำเนินการได้มีการหารือในบอร์ด รฟม.ในประเด็นเหล่านี้ไปหมดสิ้นแล้ว”
#สืบจากข่าว รายงาน