วันเสาร์, ธันวาคม 7, 2024

Related Posts

วัชระ “กัด” ไม่ปล่อย

“…แม้ว่า นายวัชระ เพชรทอง จะทำหนังสือติดตามทวงถามไปยัง ป.ป.ช. หลายรอบ และ ป.ป.ช.เองก็ยันยันว่ามีหนังสือเห็นชอบตามคำพิพากษาของศาลไปยังกระทรวงการคลังเรียบร้อยแล้วก็ตาม แต่ทุกอย่างก็ยังคงเงียบเป็นเป่าสาก ; ยิ่งมีกระแส “เสี่ยแป้ง นาโหนด” ดึงความสนใจของสังคม ทำให้แทบไม่มีใครสนใจเรื่องของ นายทักษิณ ชินวัตร ; วลีคำพูดที่ว่า คนรวยทำอะไรก็ไม่ผิด ตะรางมีไว้ขังคนจน คนไม่มีอำนาจ ความไม่เท่าเทียม ความเหลื่อมล้ำ กำลังถูกนำมาพูดถึง ถกเถียงกันอีกครั้ง…”

ย้อนไปเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2566 นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เมื่อวานนี้ ได้ส่งหนังสือถึงพลตำรวจเอก วัชรพล ประสานราชกิจ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และ นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการ ป.ป.ช. เพื่อติดตามทวงถามกรณีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีหมายเลขดำที่ อม. 3/2551 คดีหมายเลขแดงที่ อม. 4/2551 คดีระหว่างคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐโดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ โจทก์ กับ พันตำรวจโท ทักษิณ หรือ นายทักษิณ ชินวัตร จำเลย มูลค่าความเสียหายจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืม (เงินกู้ยืมจำนวน 4,000 ล้านบาท) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) ที่ให้กู้แก่รัฐบาลพม่า ตอนหนึ่งของคำพิพากษา ระบุว่า

“กรณีจึงเป็นเรื่องที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งเข้าเป็นคู่ความแทนโจทก์ชอบที่จะต้องแจ้งให้กระทรวงการคลังดำเนินการให้จำเลยนั้นชดใช้ความเสียหายนั้นเอง ไม่มีบทกฎหมายใดให้อำนาจโจทก์มีคำขอให้จำเลยคืนหรือใช้ค่าเสียหายให้แก่กระทรวงการคลังเข้ามาในคดีนี้ได้ จึงต้องยกคำขอโจทก์ในส่วนนี้” แต่ไม่ปรากฏข่าวต่อสาธารณะว่า ป.ป.ช.ได้ดำเนินการคืบหน้าอย่างไร

โดยวันนั้น นายวัชระ กล่าวกับผู้สื่้อข่าวว่า “ผมจึงอาศัยอำนาจตาม พรบ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ถาม ป.ป.ช.ว่าบัดนี้ระยะเวลาล่วงเลยมาแล้ว 4 ปี 5 เดือน

  1. สำนักงาน ป.ป.ช. แจ้งกระทรวงการคลังให้ปฏิบัติตามคำพิพากษาแล้วหรือไม่ อย่างไร
  2. หากสำนักงาน ป.ป.ช. ยังไม่ได้แจ้งกระทรวงการคลังให้ปฏิบัติตามคำพิพากษาจะเร่งดำเนินการเมื่อไหร่ อย่างไร และขอให้ส่งสำเนาเอกสารผลการดำเนินงานของ ปปช. ให้ทราบด้วย

ถ้าไม่มีคำตอบ ผมจะมาทวงหนี้ให้ประเทศทุกๆ เดือน จนกว่าจะปฏิบัติตามคำพิพากษา

“ผมไม่ขัดข้องที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จะแต่งตั้งนายทักษิณเป็นประธานที่ปรึกษาของรัฐบาล เพราะมีความรู้ความสามารถจริง มีความเชี่ยวชาญในกิจการต่างประเทศเป็นอย่างมาก ควรที่จะมาพัฒนาประเทศร่วมกันแต่นายทักษิณต้องคืนเงินที่เอาไปให้กับประเทศของท่านบ้าง เพราะคนยากจนเพิ่มมากขึ้นทุกวัน” นายวัชระ กล่าว

ต่อมาวันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ป.ป.ช. โดย นายพัฒนพงศ์ จันทร์เพ็ชรพูล ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.ภาค ๙ รักษาการในตำแหน่งผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ปฏิบัติราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีหนังสือด่วนที่สุด ยืนยันต่อ นายวัชระ เพชรทอง ว่า สำนักงาน ป.ป.ช. (โจทก์) ได้มีหนังสือแจ้งให้กระทรวงการคลังดำเนินการเพื่อให้ พันตำรวจโท หรือ นายทักษิณ ชินวัตร (จำเลย) ชดให้ค่าเสียหายตามคำพิพากษา ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีหมายเลขดำที่ อม.๓/๒๕๕๑ คดีหมายเลขแดงที่ อม.๔/๒๕๕๑ ไปแล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ย้อนไปเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2562 ป.ป.ช. ก็ได้มีการส่งหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ ปช ๑๑๒๙/๑๓๕๕ ถึงปลัดกระทรวงการคลัง แจ้งว่า ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีหมายเลขดำที่ อม.๓/๒๕๕๑ คดีหมายเลขแดงที่ อม.๔/๒๕๕๑ ระหว่าง ป.ป.ช. (โจทก์) และ พันตำรวจโท หรือ นายทักษิณ ชินวัตร (จำเลย) ได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2562 ว่า จำเลยในฐานะเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ได้เข้ามีส่วนได้เสีย เพื่อประโยชน์สำหรับตนเอง หรือบริษัท ชิน แซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) อันเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์สำหรับตนเอง หรือผู้อื่นเนื่องด้วยกิจการนั้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๒ (เดิม) ให้จำคุก ๓ ปี ส่วนประเด็นว่าโจทก์มีสิทธิขอให้จำเลยคืนหรือใช้ค่าเสียหายให้แก่กระทรวงการคลังหรือไม่ เพียงใด นั้น ขณะยื่นฟ้อง เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๑ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๗๓/๑ วรรคหนึ่ง (เดิม) กำหนดวิธีเรียกค่าเสียหายไว้เป็นการเฉพาะแล้ว กรณีจึงเป็นเรื่องที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ซึ่งเข้าเป็นคู่ความแทนโจทก์ (คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.)) เห็นชอบที่จะต้องแจ้งให้กระทรวงการคลังดำเนินการให้จำเลยชดใช้ความเสียหายนั้น ไม่มีบทกฎหมายใดให้อำนาจโจทก์มีคำขอให้จำเลยคืนหรือใช้ค่าเสียหายแก่กระทรวงการคลังเข้ามาในคดีนี้ได้ จึงต้องยกคำขอส่วนนี้ ซึ่งบัดนี้คดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว

สำนักงาน ป.ป.ช. จึงขอเรียนว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้รับทราบคำพิพากษาดังกล่าวแล้ว และมีมติให้แจ้งผลคดีดังกล่าว ให้กระทรวงการคลังเพื่อพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ในฐานะเป็นหน่วยงานที่ได้รับความเสียหาย ที่ต้องจัดสรรเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีชดเชยความเสียหายที่เกิดจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมให้แก่ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย อันเนื่องมาจากการกระทำของจำเลยต่อไป…

ล่าสุด 29 พฤศจิกายน 2566 นายวัชระ เพชรทอง ยังกัดไม่ปล่อย ยื่นหนังสือทวงถามความคืบหน้าต่อ พลตำรวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. โดยระบุในหนังสือว่า

ขอทราบการติดตามผลการดำเนินงานของสำนักงาน ป.ป.ช. กรณีมีหนังสือแจ้งให้กระทรวงการคลังดำเนินการเพื่อให้ พันตำรวจโท หรือ นายทักษิณ ชินวัตร จำเลย ชดใช้ค่าเสียหายตามคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ขอเรียนสอบถาม สำนักงาน ป.ป.ช. ได้มีการติดตามผลการดำเนินงานของกระทรวงการคลังถึงขั้นตอนใด และได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาหรือไม่ เป็นจำนวนเงินเท่าไหร่ และขอสำเนาเอกสารประกอบ (ถ้ามี) ด้วย

ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา “เสี่ยแป้ง นาโหนด” หรือ นายเชาวลิต ทองด้วง ได้ออกมาทวงขอความยุติธรรมให้กับตนเอง แหกคุก อัดคลิปแฉกระบวนการยุติธรรมของไทย ทำให้สะเทือนถึงหลายหน่วยงาน กลบกระแสประเด็นที่ชาวไทยตั้งคำถามกับกรมราชทัณฑ์ และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่า นายทักษิณ ชินวัตร หรือ นช.ทักษิณ ปัจจุบันกลับเข้าไปอยู่ในเรือนจำหรือยังคงรักษาตัวอยู่ที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจกันแน่ ซึ่งก่อนหน้านั้น กรมราชทัณฑ์ และ สำนักงานตำรวจแหน่งชาติเองก็อ้ำอึ้งมาโดยตลอด ไม่มีคำตอบใดๆ ที่ชัดเจนให้สังคมไทย

ยิ่งมีกระแส “เสี่ยแป้ง นาโหนด” ดึงความสนใจของสังคม ทำให้แทบไม่มีใครสนใจเรื่องของ นายทักษิณ ชินวัตร แม้ว่า นายวัชระ เพชรทอง จะทำหนังสือติดตามทวงถามไปยัง ป.ป.ช. หลายรอบ และ ป.ป.ช.เองก็ยันยันว่ามีหนังสือเห็นชอบตามคำพิพากษาของศาลไปยังกระทรวงการคลังเรียบร้อยแล้ว อีกทั้งสื่อก็ประโคมข่าวกันอย่างอึกกระทึกครึกโครมก็ตาม แต่ทุกอย่างก็ยังคงเงียบเป็นเป่าสาก…

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

เสียงสะท้อน คำถามจากสังคม ถึง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ว่า ที่กระทรวงการคลังไม่มีการดำเนินการใดๆ แม้ว่าจะมีคำพิพากษาของศาลฯ ให้ นายทักษิณ ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่กระทรวงการคลังดังกล่าวแล้วก็ตาม เหตุใดทุกอย่างยังคงเงียบไม่เร่งดำเนินการใดๆ หรือเป็นเพราะ จำเลยคนนั้นชื่อ “ทักษิณ ชินวัตร”..?!?

ผู้มีอำนาจทั้งหลายอย่าคิดว่า เรื่องของ “เสี่ยแป้ง นาโหนด” กับเรื่องของ “นายทักษิณ ชินวัตร” เป็นคนละเรื่องกันนะครับ เพราะวลีคำพูดที่ว่า คนรวยทำอะไรก็ไม่ผิด ตะรางมีไว้ขังคนจน คนไม่มีอำนาจ ความไม่เท่าเทียม ความเหลื่อมล้ำ กำลังถูกนำมาพูดถึง ถกเถียงกันอีกครั้ง

เมื่อการบังคับใช้กฎหมายมีความไม่เท่าเทียม ศรัทธา ความหวัง เสียงสะท้อน จากประชาชนถึง “ยุติธรรมที่เหลื่อมล้ำ” มันจะดังกึกก้องขึ้นเรื่อยๆ…

การเลือกตั้งครั้งหน้า แม้พรรคของท่านทุ่มเท คิดค้นเทคนิคการหาเสียงดีสักเพียงใด เมื่อประชาชนไม่ศรัทธาการทำงานของพวกท่าน เขาไม่ลงคะแนนเสียงให้ ก็ทำใจไว้ด้วย…นะครับ…

#สืบจากข่าว รายงาน

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

spot_img

Latest Posts